ขนมกองโตที่วางไว้กลางห้องประชุมทำเอาน้องๆหนูอยู่ไม่นิ่ง ต้องคอยเดินไปวนเวียนอยู่ใกล้ๆ เด็กบางคนยืนมองตาเป็นมัน น้ำหลายไหล ขนมกองโตที่ว่าประกอบด้วยขนมหลากหลายชนิด ซึ่งคนที่มีลูกหลานอยู่ในวัยประถมอาจพบเห็นอยู่ตามหน้าโรงเรียนทั่วไป ทั้งขนมเยลลี่ขนาดเล็กขนาดใหญ่ ขนมแป้งทอดกรอบ มันฝรั่งทอด ปลาเส้น น้ำอัดลมหลากชนิด ลูกกวาด ลูกอมหลากสี บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปฯลฯ ซึ่งเป็นขนมที่พบเห็นเป็นปรกติตามร้านค้าหน้าโรงเรียนต่างๆ รวมถึงที่หน้าศูนย์เด็กเล็กวัดบางดาน ซึ่งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลพะวง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา จึงเป็นที่มาของการจัดกิจกรรมร่วมกันของเทศบาลตำบลพะวง คณะครูศูนย์เด็กเล็กและผู้ปกครอง โดยหัวหอกคนสำคัญคือครูเจี๊ยบ คุณครูนักกิจกรรม ผู้ที่เห็นว่าพฤติกรรมการบริโภคของเด็กๆเป็นเรื่องที่มีความสำคัญส่งผลต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของเด็กๆในระยะยาว
แม้เริ่มต้นครูเจี๊ยบอาจมองประเด็นปัญหาจากพฤติกรรมการบริโภคจากลูกตัวเอง การบริโภคขนมขยะที่ไม่มีคุณค่าอาหารใดๆ ดูจะเป็นยาพิษซะมากกว่า แต่หลายครั้งที่ทนการอ้อนวอนร่ำร้องที่จะกินขนมและน้ำอัดลมของลูกไม่ได้จำต้องให้ลูกกิน ครูเจี๊ยบรู้ดีว่าสิ่งที่ลูกกินเข้าไปจะต้องส่งผลร้ายต่อลูกไม่มากก็น้อย หลายครั้งที่พบว่าลูกและเด็กๆในศูนย์เด็กเล็กปวดท้องหลังจากที่กินขนมถุงหรือน้ำอัดลมเข้าไป
ด้วยเหตุนี้ครูเจี๊ยบจึงเริ่มชวนครูด้วยกันพูดคุยปรึกษาว่าจะจัดการกับปัญหาเหล่านี้อย่างไรดี เพราะพบว่ามีเด็กที่ฟันผุจนหมดทั้งปาก ไม่มีฟันในการบดเคี้ยวอาหารซึ่งส่งผลต่อภาวะโภชนาการของเด็ก ส่งผลถึงการออกเสียงพูดของเด็กที่อาจจะผิดเพี้ยนไป เด็กอ้วนกว่าเกณฑ์เริ่มมีมากขึ้นๆ จากแรกๆที่ดูน่ารักน่าชังจนชักจะน่ากลัว เพราะเริ่มมีข่าวเด็กๆเป็นโรคความดัน เบาหวาน และที่ตกใจกว่านั้นคือมีเด็กในศูนย์เด็กเล็ก 2 คนซึ่งเป็นพี่น้องกัน อายุ 4 ขวบกับ 5 ขวบ เป็นโรคไต เด็กซึ่งเป็นเด็กก่อนวัยเรียน ขอย้ำว่าเด็กก่อนวัยเรียน อายุ 2-5 ขวบ เท่านั้นเอง
เมื่อทนเห็นสภาพปัญหาดังกล่าวไม่ไหวอีกต่อไป ประกอบกับมีความร่วมมือจากหลายส่วน ทั้งจากครูในศูนย์ฯ เทศบาล พ่อค้าแม่ค้าหน้าศูนย์ ตัวของเด็กเอง เริ่มจากการห้ามขายขนมที่ไม่มีประโยชน์ในศูนย์ ห้ามเด็กๆเอาขนมถุงเข้ามากินในโรงเรียนห้ามเด็กนำเงินมาโรงเรียน ถ้าเด็กคนไหนเอามาจะถูกริบโดยคุณครู แล้วให้กลุ่มแม่บ้านทำขนมให้เด็กกินแทน
เมื่อจัดการสิ่งแวดล้อมในศูนย์ฯเรียบร้อยแล้ว ก็เหลือสิ่งแวดล้อมหน้าศูนย์ฯ กับที่บ้าน ซึ่งเป็นภารกิจที่สาหัสสากรรเอาการ ครูเจี๊ยบจึงเริ่มจากการค่อยๆพูดคุยแนะนำแม่ค้าหน้าโรงเรียน เรื่องคุณค่าและความปลอดภัยของอาหารสำหรับเด็ก คุยวันละนิดวันละหน่อย เริ่มจากการเลิกขายน้ำอัดลมเปลี่ยนมาขายน้ำผลไม้แทน ขายผลไม้ตามฤดูกาลแทนขนมถุง
พี่ไก่ แม่ค้าขายของหน้าศูนย์เด็กเล็กวัดบางดาน บอกในการสัมมนาร่วมกับผู้ปกครองของศูนย์เด็กเล็กว่าตอนแรกขายน้ำอัดลม ขายขนมถุงที่เด็กชอบกินเหมือนกับร้านอื่นๆ แต่พอครูเจี๊ยบมาคุยด้วยประกอบกับมีหลานชายที่ชอบกินน้ำอัดลมแล้วมีอาการปวดท้อง บางครั้งปวดจนต้องไปโรงพยาบาล นอกจากนี้ยังทราบข้อมูลว่าน้ำอัดลมทำลายกระดูกของเด็ก หลังจากนั้นจึงเลิกขายน้ำอัดลมเปลี่ยนมาขายน้ำผลไม้แทน แม้จะเป็นเพียงจ้าวเดี่ยวแต่ถือว่าเป็นการสร้างทางเลือกให้กับเด็กๆ ซึ่งก่อนหน้านี้ต้องบอกว่าเด็กแทบไม่มีทางเลือก ครูเจี๊ยบบอกว่าแม้จะเป็นแค่ร้านค้าไม่กี่ร้านที่ทำอย่างนี้ แต่อย่างน้อยเด็กๆก็จะลดปริมาณการกินน้ำอัดลมลงจากที่กินทุกวันเหลือแค่เสาร์อาทิตย์เท่านั้นเอง
ภารกิจที่ยิ่งใหญ่อีกอย่างที่ยากจะเปลี่ยนแปลง คือผู้ปกครองผู้ที่กุมชะตาชีวิตของบุตรหลานเอาไว้ จึงเป็นที่มาของการจัดกิจกรรมร่วมระหว่างคุณครู ผู้ปกครอง และเทศบาลตำบลพะวง ร่วมกันวิเคราะห์ฉลากขนมที่กองอยู่ในห้องสัมมนา เพื่อให้ผู้ปกครองตระหนักและให้ความสำคัญกับขนมที่เด็กๆกิน พร้อมทั้งประกวดหนูน้อยฟันสวยเพื่อหาคนที่สุขภาพฟันดีเป็นตัวอย่างให้กับเพื่อนร่วมโรงเรียน
กิจกรรมกลุ่มที่ทำให้ผู้ปกครองต้องมาล้อมวงกันวิเคราะห์ฉลากขนมสนุกสนานกันทั้งผู้ปกครองทั้งเด็กๆ ข้อมูลที่ออกมาค่อนข้างน่าตกใจ เพราะพบว่าขนมหลายชนิดที่ระบุว่าห้ามเด็กเล็กรับประทาน แม้จะมีคำเตือนอยู่ที่ก้นขวดแต่ก็ตัวเล็กมากจนผู้ปกครองบอกว่าต้องใช้แว่นขยายส่องดู ขนมส่วนใหญ่แทบจะไม่มีอะไรที่เป็นประโยชน์เพราะส่วนใหญ่จะประกอบด้วยแป้ง น้ำตาล น้ำมัน สารปรุงรส โซเดียมกลูตาเมต แทบทั้งสิ้น
การได้นั้งอ่านฉลากขนมจริงๆ จึงทำให้ผู้ปกครองหลายท่านตระหนักถึงความสำคัญและพิษภัยที่แฝงมากับขนมเหล่านี้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยดูมาก่อน หลายคนมีข้อเสนอแนะต่อขนมชนิดต่างๆที่น่าสนใจเช่น ถ้ารักตัวเองและคนรอบข้างควรหลีกห่างน้ำอัดลม ห้ามเด็กกินเกินวันละ 2 ถุง เด็กไม่ควรรับประทาน มีผงชูรสเด็กไม่ควรรับประทาน ผู้ปกครองส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการจัดกิจกรรมครั้งนี้ อยากให้จัดบ่อยๆ จะได้ข้อมูลความรู้และความสัมพันธ์ของครอบครัว
แม้ปัจจุบันผู้ปกครองหลายท่านจะแสดงความรักบุตรหลานด้วยการตามใจโดยเฉพาะเรื่องการกิน แต่สงสัยจะเป็นการรักลูกไม่ถูกทางซะมากกว่า เพราะถ้าไม่ได้ใส่ใจว่าสิ่งที่บุตรหลานรับประทานเข้าไปในแต่ละวันแล้วส่งผลทำให้บุตรหลานต้องเจ็บป่วยหรืออ้วนจนเสียบุคคลิกเสียความมั่นใจ ยังไม่สายที่ผู้ที่เกี่ยวข้องจะหันมาให้ความสำคัญร่วมกันแก้ไขปัญหา เพื่อหาทางออกร่วมกันเสียตั้งแต่วันนี้ อย่าให้ลูกหลานว่าเอาได้ว่าพ่อแม่รังแกฉัน
โดย จุฑา สังขชาติ โครงการบริโภคเพื่อชีวิต สงขลา
Relate topics
- รณรงค์เลิกใช้โฟม
- รายการสงขลามหาชน ตัวอย่างอาหารของแม่ ตอน " บทบาทของพ่อ " อาหารของแม่ สร้างความอบอุ่นของครอบครัวกับมื้ออร่อยที่แม่บรรจงปรุงเพื่อลูก
- ข่าวดีจะดัง ตอนที่ 265 โรงเรียนสุขภาพดี ของ อบต.ควนรู( http://youtu.be/KsuLA7Fguy8 )
- ข่าวดีจะดัง ตอนที่ 265 โรงเรียนสุขภาพดี ของ อบต.ควนรู(7 เม.ย 5…: http://youtu.be/KsuLA7Fguy8 )
- รายการอาหารของแม่ ตอน " อาหารคือภาคีและพื้นที่ " เปิดอร่อยด้วย ยำบัวบก สูตรสมุนไพรภูมิปัญญาถิ่น อบต.ท่าข้าม ของป้ายุพา ผลชนะ