ผลวิจัยเผยโรงพยาบาล 14 แห่งทั่วประเทศ จ่ายยา 5 กลุ่ม ยาแก้ปวด-ยาลดความดัน-ยากระเพาะ-ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด-ยาลดระดับไขมันในเลือด ใช้ยาเกิน 139 .49 ล้านบาท หากทั่วประเทศใช้ยาเกินสูญเงิน 487.19 ล้านบาท เสนอให้ประชาชนร่วมจ่ายไม่ใช่ไห้ยาฟรี
มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.) จัดการสัมมนาวิชาการ เรื่อง “ระบบประกันสุขภาพภายใต้สถานการณ์งบประมาณหดตัว” โดย ผศ.ดร.ภญ.ภูรี อนันตโชติ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะกรรมการมูลนิธิวพย. กล่าวว่า ได้ทำการศึกษาวิจัย เรื่อง “การใช้ยาเกินของคนไทย” ซึ่งการใช้ยาเกิน หมายถึงผู้ป่วยได้รับยาสะสมเกินกว่า 365 เม็ดต่อปี โดยทำการศึกษาในโรงพยาบาลจำนวน 14 แห่ง แบ่งเป็น โรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย 3 แห่ง โรงพยาบาลศูนย์ 5 แห่ง และโรงพยาบาลทั่วไป 6 แห่ง พบว่ายา 5 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มยาแก้ปวด 2.ยาลดระดับความดัน 3.ยาสำหรับโรคกระเพาะอาหารและลำไส้ 4.กลุ่มยาลดระดับน้ำตาลในเลือด 5.กลุ่มยาลดระดับไขมันในเลือด มีการจ่ายยาเกินเป็นมูลค่า 139.49 ล้านบาท หรือประมาณการณ์การจ่ายยาเกินในสถานพยาบาลทั่วประเทศมีมูลค่า 487.17 ล้านบาท
ผศ.ดร.ภญ.ภูรี กล่าวต่อว่า 1.กลุ่มยาแก้ปวด แก้อักเสบ มีมูลค่าการใช้ยาเกิน 56.96 ล้านบาท คิดเป็น 10.64% ของมูลค่ายาชนิดนี้ที่โรงพยาบาลจ่ายไปในปีงบประมาณ 2549 แต่หากประมาณการในโรงพยาบาลทั่วประเทศ ใช้ยาเกินประมาณ 78.59 ล้านบาท 2.กลุ่มยาลดระดับความดัน มีมูลค่าการใช้ยาเกิน 39.38 ล้านบาท หรือ 9.70% ประมาณการทั่วประเทศ 187.92 ล้านบาท 3.ยาสำหรับโรคกระเพาะอาหารและลำไส้ มูลค่าการใช้ยาเกิน 17.57 ล้านบาท คิดเป็น 13.59% ประมาณการทั่วประเทศ 61.09 ล้านบาท 4.กลุ่มยาลดระดับน้ำตาลในเลือด มูลค่าการใช้เกิน 17.32 ล้านบาท หรือ 10.92% ประมาณการทั่วประเทศ 101.04 ล้านบาท และ5.กลุ่มยาลดระดับไขมันในเลือด มีมูลค่าการใช้ยาเกิน 8.26 ล้านบาท คิดเป็น 4.35% ประมาณการการใช้ยาชนิดนี้เกินทั่วประเทศ 58.53 ล้านบาท
“การใช้ยาเกินจะทำให้สิ้นเปลืองเงินโดยไม่มีความจำเป็น ซึ่งผู้ป่วยสามารถมีส่วนช่วยในการใช้ยาอย่างเหมาะสมได้ โดยก่อนไปพบแพทย์ในครั้งต่อไป ควรจดบันทึกว่ายาแต่ละชนิดที่ได้รับไปเมื่อครั้งก่อนนั้นเหลืออยู่จำนวนเท่าไหร่ จะทำให้แพทย์ทราบว่าผู้ป่วยมียาชนิดใดเหลืออยู่บ้าง จะได้ไม่ต้องสั่งเพิ่มโดยไม่จำเป็น ที่สำคัญ ผู้ป่วยต้องมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับยาที่ใช้ ว่าสามารถรักษาได้ผลและลดอาการข้างเคียงได้อย่างไรและหากมีปัญหาให้ปรึกษาแพทย์และเภสัชกร” ภญ.ผศ.ดร.ภูรี กล่าว
รศ.ดร.ภญ.เสาวคนธ์ รัตนวิจิตราศิลป์ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.) กล่าวว่า จากการศึกษาดูระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศต่างๆ 10 ประเทศได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ออสเตรเลีย ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฟินแลนด์ สหราชอาณาจักร แคนาดา สิงคโปร์ พบว่า ส่วนใหญ่ประชาชนจะร่วมสมทบเข้ากองทุนประกันสุขภาพในกรณีที่ไม่ป่วย และหากป่วยก็มีการร่วมจ่ายที่สถานพยาบาลทำให้การใช้ยาเกินความจำเป็นลดลง เพราะมีส่วนร่วมจ่าย ไม่ใช่ได้ยามาฟรี
รศ.ดร.ภญ.เสาวคนธ์ กล่าวต่อว่า การร่วมจ่ายในระดับกองทุน อาจเป็นรูปแบบการซื้อเบี้ยประกันเพิ่มเติม และรัฐบาลรับผิดชอบในส่วนเกิน เมื่อไปโรงพยาบาลก็ต้องร่วมจ่ายที่โรงพยาบาลด้วย โดยมี 5 แนวทาง คือ 1.การร่วมจ่ายคงที่ต่อครั้ง 2.จ่ายเป็นเปอร์เซ็นต์ของค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด ต่อครั้ง 3.การร่วมจ่ายตามเปอร์เซ็นต์ตามประเภทของยาที่กำหนด 4.ผู้ป่วยจ่ายค่าบริการพิเศษ 5.ผู้ป่วยร่วมจ่ายเพียงส่วนแรก ส่วนที่เหลือรัฐบาลรับผิดชอบ ทั้งนี้ ผู้ที่มีรายได้น้อย ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ ควรให้มีบริการฟรีไม่ต้องมีส่วนร่วมจ่าย
รศ.ดร.ภญ.เสาวคนธ์ กล่าวว่า การที่ให้บริการฟรีโดยไม่มีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้นโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทำให้เป็นเรื่องยากที่จะให้เกิดการร่วมจ่ายเพื่อคุณภาพบริการ เพราะประชานิยมดำเนินการง่าย หากมีนโยบายร่วมจ่ายอาจทำให้ประชาชนอาจไม่พอใจทำให้นักการเมืองก็ลังเลที่จะดำเนินการ แต่ผลที่ได้ถือเป็นเรื่องที่ดีที่การบริหารงานมีแหล่งงบประมาณอื่นๆ อย่างไรก็ตาม คงต้องให้ความรู้เรื่องให้แก่สาธารณชนทราบเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)