ทั่วโลกตื่นเต้นผลวิจัยพบ “ขริบจู๋” ช่วยลดเสี่ยงติดเอดส์ 60% ทางช่องคลอด ทวารหนัก แถมแพร่เชื้อให้คู่รักน้อยกว่าชายที่ไม่ขริบ 2-3 เท่า ชี้ชาวมุสลิมติดเอดส์น้อยกว่าศาสนาอื่น ขณะที่ชายไทยขริบจู๋น้อย 10% เหตุเข้าใจผิดว่าทำให้เซ็กซ์เสื่อม
วันที่ 28 พฤษภาคม ที่อิมแพค เมืองทองธานี ในการประชุมสัมมนาระดับชาติเรื่องโรคเอดส์ ครั้งที่ 12 นพ.รัตน์ เชื้อชูวงศ์ นักวิจัยทางการแพทย์ศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐอเมริกา ด้านสาธารณสุข (ศรทส.) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้มีการศึกษาเรื่องการขริบหนังหุ้มปลายอวัยวะะเพศชายว่าสามารถลดการติดเชื้อเอชไอวีได้หรือไม่ ในประเทศแถบทวีปแอฟริกา เช่น แอฟริกาใต้ เคนยา อูกันดา เนื่องจากทวีปแอฟริกามีความชุกการเกิดโรคเอดส์สูง ร้อยละ 5-20 ส่วนไทยมีความชุกเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น โดยการศึกษาได้มีการแบ่งกลุ่มตัวอย่างชายออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ขริบหนังหุ้มอวัยวะเพศชาย และกลุ่มที่ไม่ขริบหนังหุ้มอวัยวะเพศชาย มีการให้ความรู้เกี่ยวเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ และการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธุ์ โดยติดตามผลของกลุ่มตัวอย่างนาน 42 เดือน ผลการศึกษาพบว่า การขริบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชายสามารถช่วยลดการติดเชื้อเอดส์จากชายสู่หญิงได้ โดยในประเทศแอฟริกาใต้ ทำการศึกษาจำนวน 3,274 คน สามารถป้องกันได้ ร้อยละ 61 รวมทั้งเมื่อเปรียบเทียบระหว่างชายที่ขริบ สามารถลดการติดเชื้อมากกว่าชายที่ไม่ได้ขริบ 2-3 เท่า
นพ.รัตน์ กล่าวว่า สาเหตุที่ลดการติดเชื้อเอชไอวีได้นั้น เพราะผิวด้านในของหนังหุ้มอวัยวะเพศชาย มีเซลล์รับเชื้อเอชไอวีในปริมาณมาก และเซลล์อยู่ในตำแหน่งที่ตื้นมากนอกจากนี้ยังสามารถฉีกขาด ถลอกทำให้ติดเชื้อได้ง่าย การขริบจึงเป็นการลดบริเวณผิวด้านในของหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศทำให้ลดพื้นที่รับเชื้อเอชไอวีลงได้ และบริเวณปลายอวัยวะเพศชายที่ไม่มีหนังหุ้มแล้ว จะมีการสร้างสารโปรตีน (keratin) หนาขึ้น ทำให้เชื้อเอชไอวีแทรกตัวได้ยากขึ้นโอกาสการเกิดแผลหลังมีเพศสัมพันธุ์ลดลง
นพ.รัตน์ กล่าวต่อว่า ผลการศึกษาทางระบาดวิทยายังพบว่าผู้เติดเชื้อที่ขริบ และมีปริมาณเชื้อไวรัสเอชไอวีในกระแสเลือดน้อยกว่า 5 หมื่นก๊อบปี้/มิลลิลิตร จะไม่แพร่เชื้อไปสู่คู่นอนได้ ขณะที่คนที่ไม่ขริบจะแพร่เชื้อไปสู่คู่นอนได้ 10 คน/100 คน/ปี และผลการศึกษาเบื้องต้น มีแนวโน้มว่า การขริบจะช่วยลดการติดเชื้อเอชไอวีได้ทั้งการมีเพศสัมพันธุ์ทางช่องคลอด และทางทวารหนัก แต่ยังต้องทำการศึกษาต่อไป
“ส่วนในประเทศไทยยังไม่มีการทำวิจัยศึกษาเรื่องนี้ จึงไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าชายไทยที่ผ่านการขริบจะลดความเสี่ยงการติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่ เพราะการวิจัยที่ผ่านมาอยู่ในทวีปแอฟริกา ซึ่งประชากรมีความต่างทั้งด้านสรีระ ชนิดของเชื้อไวรัส และศาสนา อย่างไรก็ตาม การที่ชาวมุสลิมมีอัตราการติดเชื้อต่ำกว่าประเทศที่นับถือศาสนาอื่น ไม่สามารถอธิบายได้ว่าอัตราการติดเชื้อต่ำกว่าศาสนาอื่นเพราะการขริบ 100% เพราะมีปัจจัยความแตกต่างทางสังคม วัฒนธรรม ลักษณะการดำเนินชีวิต และหลักสาสนา ดังนั้นจึงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม” นพ.รัตน์ กล่าว
นพ.อนุพงศ์ ชิตวรากร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเวชกรรมป้องกัน กรมควบคุมโรค สธ.กล่าวว่า การขริบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย คือ การตัดหนังบริเวณด้านหน้าขององคชาติออกเพื่อให้สามารถรูดออกเพื่อทำความสะอาดบริเวณส่วนปลายได้ ซึ่งผิวหนังบริเวณนี้จะมีต่อมสร้างสารที่เรียกว่า smegma หรือขี้เปียก มีลักษณะเป็นขุยขาวๆ หากไม่เปิดหนังหุ้มปลายล้างออกได้ จะทำให้สารดังกล่าวคั่ง ก่อให้เกิดกลิ่น การติดเชื้อ ที่สำคัญเกิดมะเร็งที่องคชาติได้ นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ช่วยลดความเสี่ยงโรคอื่นๆ เช่น โรคเริม ซิฟิลิส แผลริมอ่อน เป็นต้น และในเด็กทารกยังช่วยลดโอกาสติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะด้วย
นพ.อนุพงศ์ กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย จำเป็นต้องมีการศึกษาต่อยอด โดยเฉพาะเรื่อง ความคุ้มค่า การยอมรับของคนไทย ความพร้อมสถานพยาบาล และภาระค่าใช้จ่ายการผ่าตัดขริบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชายอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันมีคนไทยขริบเพียง 10% เท่านั้น เพราะเข้าใจผิดว่าจะให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ทั้งนี้ การขริบเพื่อป้องกันโรค ถือเป็นทางเลือกหนึ่งในการเสริมการดูแลสุขภาพ แต่การป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีที่ดีที่สุด คือ การใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธุ์ และลดพฤติกรรมเสี่ยงโดยการซื่อสัตย์ต่อคู่รักครอบครัว
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)