จิตแพทย์เตือนอย่าให้ลูกเล่มเกมตั้งแต่เล็ก บี้คลอด กม.คุมเด็กต่ำ 18 ปี เล่นไม่เกิน 3 ชม.

จิตแพทย์เตือน อย่าให้ลูกเล่นเกมตั้งแต่เล็ก

photo  , 330x199 pixel , 44,752 bytes.

จิตแพทย์เตือนอย่าให้ลูกเล่มเกมตั้งแต่เล็ก บี้คลอด กม.คุมเด็กต่ำ 18 ปี เล่นไม่เกิน 3 ชม.

      เครือข่ายเด็ก เยาวชน และครอบครัว 12 องค์กรเข้าร้อง “ธีระ” ขออย่าตัดเนื้อหา พ.ร.บ.ภาพยนตร์อนุญาตเด็กไม่เกิน 18 เล่นเกม เกิน 3 ชั่วโมง หวั่นเพิ่มตัวเลขเด็กติดเกม จิตแพทย์ห่วงจิตใจพ่อแม่เด็กโดดตึก ชี้เด็กอาจอาจมีปัญหาซึมเศร้าสะสม มีปัญหาสัมพัธภาพเรื้อรัง แนะพ่อแม่ควบคุมวินัยการเล่นเกม ไม่ควรให้ลูกเล่นเกมตั้งแต่เล็ก
      วันนี้ (22 พ.ค.) ตัวแทนเครือข่ายเด็ก เยาวชน และครอบครัว 12 องค์กร เข้ายื่นหนังสือต่อนายธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยมี นายสุริยะ ศึกษากิจ ผู้ช่วยรัฐมนตรีเป็นผู้แทนรับหนังสือ
      นางอัญญาอร พาณิชพึ่งรัช หัวหน้าเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ กล่าวว่า อยากเรียกร้องให้ วธ. ชี้แจงเรื่องการตัดเนื้อหาในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ.2551 เรื่องการอนุญาตไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เล่นเกมเกิน 3 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งทางเครือข่ายเกรงว่าจะมีผลต่อการติดเกมของเด็ก ซึ่งกรณีที่เด็กป.6 กระโดดตึกฆ่าตัวตาย หรือเด็กเลียนแบบพฤติกรรมในเกม GTA เมื่อเร็วๆ นี้ ก็เป็นผลพวงจากการติดเกมแทบทั้งสิ้น
      นางอัญญาอร กล่าวอีกว่า ความพยายามจะตัดเนื้อหาใน พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ ขัดกับผลการศึกษาของสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ที่พบว่า เด็กที่มีแนวโน้มสู่ภาวะติดเกมจะเล่นเกมเกินกว่า 3 ชั่วโมง ผลการศึกษาดังกล่าวแบ่งเด็กออกเป็น 3 ประเภท คือ 1.เด็กที่ชอบเล่นเกมจะมีชั่วโมงการใช้ 1-2 ชั่วโมงต่อวัน 2.เด็กที่คลั่งไคล้ เริ่มหมกมุ่น แต่ยังไม่เสียหน้าที่ จะเล่นเกมวันละ 2-3 ชั่วโมง และ 3.กลุ่มติดเกมและทำให้เสียหน้าที่ เช่น ไม่อ่านหนังสือ ไม่เรียน จะเล่นเกมนานเกิน 3 ชั่วโมงต่อวัน ดังนั้นหากปล่อยให้มีการตัดเนื้อหาในพ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯในประเด็นนี้ เท่ากับว่าสนับสนุนให้เด็กเล่นเกม และอาจจะทำให้ตัวเลขเด็กที่ติดเกมสูงขึ้น
      “เครือข่ายเด็ก เยาวชนและครอบครัวขอเรียกร้องให้ วธ.คงเนื้อหาเดิมที่ทางเครือข่ายเคยเสนอไว้ซึ่งคิดว่าน่าจะสามารถทำได้ในทางปฏิบัติหากประสานงานไปยังหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงไอซีที ทั้งนี้เพื่อช่วยกันลดจำนวนเด็กติดเกมได้ทางหนึ่ง” ตัวแทนเครือข่ายเด็กฯ กล่าว
      วันเดียวกัน นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีเด็กนักเรียนชาย ป.6 กระโดดตึกเสียชีวิต ว่า ขณะนี้พ่อแม่ของเด็กนักเรียนคนนี้น่าเห็นใจที่สุด ไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากให้เรื่องจบลงแบบนี้ ซึ่งเวลานี้ สื่อควรระมัดระวังการเสนอข่าวที่อาจจะกระทบกระเทือนจิตใจของพ่อแม่เด็กซึ่งกำลังเสียใจมาก ทั้งจากการเสียลูก และจากการรู้สึกผิดโดยจากการดุว่าลูกรุนแรงหรือห้ามไม่ให้เล่นเกม
      “การเล่นเกมมากตั้งแต่เด็กจะทำให้ติดเกมได้ง่าย พ่อแม่ควรเรียนรู้ถึงวิธีดูแลลูกที่ชอบเล่นเกมอย่างถูกต้อง สิ่งที่สังคมควรเรียนรู้จากกรณีนี้ คือ การที่เด็กให้ความสำคัญกับการเล่นเกมมาก แสดงว่าเด็กอาจจะติดเกมตั้งแต่อายุยังน้อยจึงทำให้เกิดความรู้สึกรุนแรงมาก นอกจากนี้เด็กอาจจะมีปัญหาเรื่องสัมพันธภาพกับพ่อแม่ที่ไม่ดีระดับหนึ่งอย่างเรื้อรังมาก่อน จนเกิดความรู้สึกซึมเศร้าสะสมจนเกิดความรู้สึกว่าไม่อยากอยู่ในโลกนี้ สำหรับสังคมไทยแล้วที่น่าเป็นห่วงมากขณะนี้คือพ่อแม่อนุญาตให้ลูกเล่นเกมตั้งแต่เล็กๆ มากขึ้น และไม่รู้วิธีป้องกันไม่ให้ติดหรือจัดการเมื่อลูกติดเกมแล้วไม่ได้” นพ.บัณฑิต กล่าว
      นพ.บัณฑิต กล่าวต่อว่า พ่อแม่โดยทั่วไปควรเรียนรู้ถึงวิธีดูแลลูกที่ชอบเล่นเกมอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะการฝึกวินัยและความรับผิดชอบตั้งแต่ลูกยังเล็ก การให้ลูกเล่นเกม พ่อแม่ควรพยายามให้ลูกเริ่มเล่นให้ช้าและค่อยเป็นค่อยไปให้มากที่สุด เพราะเกมทำให้ติดใจได้ง่ายมาก ทำให้เด็กไม่สนใจทำกิจกรรมสร้างสรรค์อื่นๆ จัดการสิ่งแวดล้อมให้ลูกเข้าถึงเกมได้ไม่ง่าย เช่น ไม่ซื้อเกมให้ลูกง่ายหรือบ่อยเกินไป ไม่ให้คอมพิวเตอร์ลูกเป็นของส่วนตัว ไม่วางคอมพิวเตอร์ในห้องลูก ซึ่งจะทำให้สามารถควบคุมการเล่นของลูกทำได้ง่ายกว่า ตลอดจนการไม่ให้เงินลูกมากเกินไปเพราะสามารถนำไปใช้เล่นเกมหรือใช้จ่ายเกี่ยวกับเกมได้มาก ต้องเจรจาต่อรองตั้งกติกาการเล่นเกมของลูกร่วมกันให้ชัดเจนว่าเล่นได้วันละกี่ชั่วโมง เวลาใดถึงเวลาใด ต้องทำหน้าที่ให้เสร็จก่อน นอกจากนี้ ควรใช้การพูดจาสื่อสารทางบวกกับลูกที่ชอบเล่นเกมซึ่งมักจะเริ่มหรือเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นแล้ว
      “เด็กเองควรทราบว่าไม่ควรสนใจเล่นเกมเพียงอย่างเดียว เพราะจะทำให้ติดได้ ควรหาความสุขและความสำเร็จจากกิจกรรมที่หลากหลาย และควรเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ เช่น การขอเล่นเกมอย่างสุภาพ ขอเล่นแบบพอประมาณพร้อมรักษาคำพูดที่ให้ไว้ อีกทั้งการมีพฤติกรรมทั่วๆ ไปที่ดี เช่น การเรียน หรือการช่วยงานบ้าน เพื่อให้พ่อแม่ไว้วางใจที่จะให้เล่นเกม ตลอดจนการปรึกษาผู้ใหญ่เพื่อแก้ไขปัญหาความคับข้องใจ เช่น ญาติผู้ใหญ่คนอื่นหรือครู เป็นต้น” นพ.บัณฑิต กล่าว
สืบค้นจาก  ASTVผู้จัดการออนไลน์ 22 พฤษภาคม 2552 16:10 น.

Relate topics

แสดงความคิดเห็น

กรุณาป้อน Username / Password ที่ท่านได้ลงทะเบียนไว้กับเว็บไซท์แห่งนี้ หรือ สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซท์
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง