ไซน์เดลี/เดอะแฮรัลด์/เอพี - นักวิจัยเดนมาร์กเผยผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต้านอนุมูลอิสระไม่ช่วยให้สุขภาพดีและมีอายุยืนอย่างที่เข้าใจ แถมบางชนิดยังอาจเพิ่มความเสี่ยงและเป็นอันตรายถึงชีวิต เตือนผู้บริโภคอย่างหลงเชื่อคำโฆษณาเกินจริง พร้อมเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการออกกฏควบคุมธุรกิจอาหารเสริมอย่างเข้มงวด
คณะนักวิจัยในประเทศเดนมาร์กเผยรายงานการศึกษาผลของการบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) ในวารสารห้องสมุดโคชเรน (The Cochrane Library) ขององค์กรความร่วมมือโคชเรน (The Cochrane Collaboration) หน่วยงานที่ดำเนินการประเมินผลวิจัยด้านการแพทย์ โดยระบุว่าอาหารเสริมจำพวกวิตามินต่างๆ ที่มีการกล่าวอ้างว่ามีฤทธิ์ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ แท้จริงแล้วไม่ได้ช่วยยืดอายุของผู้บริโภคให้ยืนยาวได้จริง ซ้ำร้ายกลับเพิ่มความเสี่ยงต่อชีวิตมากขึ้นอีกด้วย
คริสเตียน กลัด (Christian Gluud) แพทย์จากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน (Copenhagen University Hospital) ประเทศเดนมาร์ก หนึ่งในผู้วิจัยเผยว่า จากการวิเคราะห์ผลการศึกษา 68 กรณี ในประชากร 232,606 คน พบว่าการบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารประเภทต้านอนุมูลอิสระ ทั้งวิตามินเอ, อี และซี ไม่ได้ส่งผลดีต่อสุขภาพหรือช่วยให้อายุยืนยาวกว่าปกติเลยแม้แต่น้อย
ที่แย่ไปกว่านั้นในงานวิจัย 47 กรณี ที่ศึกษาในประชากรจำนวน 180,938 คน ซึ่งบริโภควิตามินเสริมทั้งในปริมาณปกติหรือมากเกินขนาดในแต่ละวัน และกลุ่มตัวอย่างที่บริโภควิตามินจำลอง พบว่าผู้ที่บริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าวมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากขึ้น
ความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 4% สำหรับผู้ที่บริโภควิตามินอี, 7% ในผู้ที่บริโภคเบตาแคโรทีน (beta carotene) และ 16% ในผู้ที่บริโภควิตามินเอ อย่างไรก็ตามคณะผู้วิจัยไม่ทราบสาเหตุการเสียชีวิตที่แน่ชัด
กลัดเผยว่าจุดประสงค์ในการบริโภควิตามินเสริมส่วนใหญ่ก็เพื่อป้องกันโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ด้วยเบตาแคโรทีน, วิตามินเอ และวิตามินอี ซึ่งอาหารเสริมต้านอนุมูลอิสระทั้ง 3 ชนิดนี้ อาจเพิ่มความเสี่ยงถึงแก่ชีวิตของผู้บริโภคได้
แม้ว่าในงานวิจัยจะมิได้เปิดเผยถึงสาเหตุที่ทำให้ผู้บริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแล้วเสียชีวิต แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่าอาจเสียชีวิตด้วยสาเหตุเดียวกันกับที่เกิดในคนทั่วๆ ไป เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือโรคมะเร็ง ทั้งที่งานวิจัยก่อนหน้านี้ระบุว่าสารต้านอนุมูลอิสระช่วยป้องกันโรคหัวใจและโรคมะเร็งได้ โดยป้องกันไม่ให้เซลล์ได้รับอันตรายจากอนุมูลอิสระของออกซิเจน
นอกจากนี้ นักวิจัยยังพบว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเบตาแคโรทีนยังเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งปอดในผู้ที่สูบบุหรี่อีกด้วย
ทว่า ณ ปัจจุบันนี้นักวิจัยเริ่มตระหนักกันแล้วว่าสารต้านอนุมูลอิสระที่ทำงานได้ดีและสามารถป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพจะต้องเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ร่างกายได้รับจากการกินอาหารตามปกติ ไม่ใช่ได้จากการกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ดังนั้นผู้ที่กินอาหารที่มีประโยชน์และมีวิตามินสูงก็จะมีสุขภาพแข็งแรงมากกว่าได้อย่างง่ายๆ
ทั้งนี้ การศึกษาวิเคราะห์ผลการวิจัยข้างต้นนั้น เป็นรายงานที่ได้จากการศึกษาในประชากรวัยผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีและที่ป่วยเป็นโรคบางชนิดที่ไม่รุนแรง แต่ไม่ได้ศึกษาในเด็ก, หญิงมีครรภ์, ผู้ที่ป่วยเป็นโรคร้ายแรงหรือเฉียบพลัน เช่น มะเร็ง และการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในผู้ที่ขาดสารอาหาร โดยคณะผู้ศึกษาและประเมินผลงานวิจัยดังกล่าวต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการออกกฏระเบียบที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพสำหรับควบคุมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
อย่างไรก็ดี เจฟฟรีย์ บลัมเบิร์ก (Jeffrey Blumberg) ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ และผู้อำนวยการหน่วยปฏิบัติการวิจัยด้านสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants Research Laboratory) กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (United States Department of Agriculture: USDA) เห็นว่ารายงานการประเมินผลการวิจัยดังกล่าวนั้นยังไม่มีน้ำหนักมากเพียงพอที่จะนำมาอ้างอิงเพื่อใช้เป็นแนวทางวางนโยบาย หลักปฏิบัติ หรือออกกฏข้อบังคับทางด้านสาธารณสุขได้แต่อย่างใด
อีกทั้งยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดในทางชีววิทยาที่บ่งชี้ว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเหล่านั้นเป็นอันตรายต่อร่างกายอย่างร้ายแรง ขณะที่นักวิจัยบางคนก็เห็นด้วยกับรายงานดังกล่าวที่ว่าการกินวิตามินเสริมอาจไม่ให้ประโยชน์ต่อร่างกายอย่างที่คิด แต่ไม่เห็นด้วยที่ว่าวิตามินเสริมเหล่านั้นอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต.
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)