สถาบันวิจัยโภชนาการ มหิดล เล็งแก้ปัญหานมโรงเรียน หลังศึกษาพบขั้นตอนการขนส่งขาดการจัดการ และไม่มีหน่วยงานควบคุมดูแล เบื้องต้นทำคู่มือสร้างความเข้าใจ แจกจ่ายให้ผู้ประกอบการและสายส่งนม 500 เล่ม หารือกระทรวงศึกษาฯ เตรียมทำคู่มือเก็บรักษานมแจกจ่ายโรงเรียนทั่วประเทศ
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดปฐมนิเทศและบรรยายพิเศษวิชาความปลอดภัยด้านอาหาร เมื่อวันที 20 มี.ค.52 ที่อาคาร สวทช. (โยธี) โดยมีนักวิจัยจากสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหาร และการจัดการความปลอดภัยของนมโรงเรียน ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ เข้าร่วมฟังพร้อมกับสื่อมวลชน และผู้สนใจอีกจำนวนมาก
ผศ.ดร.อาณดี นิติธรรมยง รองผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาและกิจกรรมพิเศษ สถาบันวิจัยโภชนาการ กล่าวทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ว่า สถานการณ์ด้านความปลอดภัยด้านอาหารในประเทศไทยตอนนี้ ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก เพราะมีหลายหน่วยงานที่เข้ามากดูแลในเรื่องนี้โดยตรงทั้งในด้านเฝ้าระวังและการตรวจสอบ แต่ก็ยังพบว่ามีปัญหาเรื่องอาหารเป็นพิษหรือไม่ปลอดภัยเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ และมีบางครั้งที่เป็นเหตุรุนแรง เช่น กรณีหน่อไม้ปีบ เป็นต้น
ฉะนั้นในการจัดการเรื่องความปลอดภัยด้านอาหาร จำเป็นจะต้องมีระบบการจัดการด้านความปลอดภัยของอาหารที่มีประสิทธิภาพในทุกระดับของอุตสาหกรรม โรงงานผลิตต้องได้มาตรฐาน เช่น จีเอ็มพี (GMP) เอชเอซีซีพี (HACCP) หรือไอเอสโอ 22000:2005 (ISO 22000:2005) รวมถึงผู้ให้บริการด้านอาหาร ทั้งภัตตาคารและร้านอาหารต่างๆ ต้องมีสุขลักษณะและสุขาภิบาลอาหารที่ดี
"การให้ความรู้ต่อผู้ผลิตและผู้บริโภคเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะบางครั้งความไม่ปลอดภัยของอาหารเกิดขึ้นจากความไม่รู้ และบางทีผู้บริโภคกลายเป็นคนผลักดันให้ผู้ประกอบการผลิตอาหารที่ไม่มีความปลอดภัย เช่น น้ำตาลมะพร้าวที่มีสารฟอกขาว ซึ่งผู้บริโภคมักชอบเลือกซื้อที่สีค่อนข้างขาว ทำให้ผู้ผลิตต้องหาวิธีทำให้สีน้ำตาลมะพร้าวขาวขึ้นโดยใช้สารฟอกขาว ซึ่งหากใช้ปริมาณมากเกินไปอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้" ผศ.ดร.อาณดี กล่าว
ทั้งนี้ หากอาหารที่ผลิตไม่มีความปลอดภัย จะก่อให้เกิดผลกระทบในหลายด้าน ตั้งแต่ผู้บริโภคที่ต้องเจ็บป่วย เสียเงินค่ารักษาพยาบาล ผู้ประกอบการเกิดความเสียหายจากการเรียกคืนสินค้า สูญเสียความน่าเชื่อถือ และอาจถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ อีกทั้งหน่วยงานภาครัฐก็จะต้องเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการพิสูจน์หาสาเหตุและวางแนวทางแก้ไข ซึ่งต้องสูญค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก
ด้าน ผศ.ดร.เวณิกา เบ็ญจพงษ์ นักวิจัยฝ่ายพิษวิทยาทางอาหาร สถาบันวิจัยโภชนาการ กล่าวถึงกรณีของปัญหานมโรงเรียนที่ตรวจพบว่าไม่ได้มาตรฐานและทำให้เด็กนักเรียนที่บริโภคเข้าไปเกิดเป็นจำนวนมาก โดยบอกว่าจากการศึกษากระบวนการผลิตนมโรงเรียน ตั้งแต่ฟาร์มโคนมจนถึงเด็กๆ ที่ดื่มนมโรงเรียน พบว่าปัญหาการปนเปื้อนของจุลินทรีย์หรือสารตกค้างในนมโรงเรียน สามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ในฟาร์มไปจนถึงโรงเรียน
กระบวนการต่างๆ มีหลักเกณฑ์การควบคุมดูแลมาตรฐานโดยกรมปศุสัตว์และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยกเว้นขั้นตอนการขนส่งนมจากโรงงานไปโรงเรียน ที่ไม่มีระเบียบปฏิบัติอย่างเหมาะสมและการควบคุมดูแลอย่างชัดเจน ทำให้นมโรงเรียนแบบพาสเจอร์ไรซ์ ซึ่งควรเก็บรักษาอยู่ในอุณหภูมิต่ำกว่า 8 องศาเซลเซียส ตลอดเวลา ได้รับความเย็นไม่เพียงพอ และเป็นเหตุให้นมบูดได้ง่าย
จากการศึกษาวิจัย นักวิจัยแนะนำว่าในขั้นตอนการขนส่งนมโรงเรียน ผู้ประกอบการ สายส่งนม และโรงเรียน ควรมีข้อตกลงร่วมกันแบบบูรณาการ โดยจะต้องมีการตรวจสอบและสุ่มตรวจวัดอุณหภูมินมที่ออกจากโรงงาน เมื่อไปถึงโรงเรียน และก่อนที่เด็กนักเรียนจะบริโภค ในระหว่างการขนส่งและการเก็บรักษาที่โรงเรียน นมจะต้องได้รับความเย็นที่อุณหภูมิต่ำกว่า 8 องศาเซลเซียส อยู่ในถังบรรจุที่ปิดสนิท ซึ่งหากใช้น้ำแข็งเป็นแหล่งความเย็น นักวิจัยระบุว่าควรแช่นมในถังด้วยน้ำแข็ง 3 ชั้น ที่มีความหนาเพียงพอ
ทั้งนี้ ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาวิจัย นักวิจัยได้จัดทำเป็นคู่มือการสร้างความเข้าใจการขนส่งและเก็บรักษานมโรงเรียน เบื้องต้นจัดพิมพ์แล้ว 500 เล่ม โดยแจกจ่ายให้กับ อย. ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และสายส่งนม และขณะนี้กำลังปรึกษากับกระทรวงศึกษาธิการในการใช้เป็นต้นแบบ เพื่อจัดทำเป็นคู่มือการเก็บรักษานมโรงเรียน และแจกจ่ายให้กับโรงเรียนทั่วประเทศต่อไป.
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)