เดือนพฤษภาคม นับว่าเป็นเดือนสำคัญกับชีวิตของคนไทย เริ่มตั้งแต่ วันแรงงานแห่งชาติ , วันฉัตรมงคล , วันวิสาขบูชา ,และวันพืชมงคล
แต่ขอย้อนไปวันที่ 30 เมษายน ของทุกปี ถือว่าเป็นวันคุ้มครองผู้บริโภค ที่หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ , องค์กรพัฒนาเอกชน ได้มีส่วนในการช่วยกันกระตุ้น รณรงค์ ส่งเสริม ให้ผู้บริโภคทุกท่านได้เล็งเห็นความสำคัญช่วยกันพิทักษ์สิทธิของตนเองในการบริโภคสินค้า การใช้บริการในด้านต่างๆ ตามสิทธิผู้บริโภคไทย
วันที่ 1 พฤษภาคม 2552 ที่ผ่านมาแม้จะเป็นวันแรงงานแห่งชาติ แต่สำหรับเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดสงขลา ประกอบด้วย จังหวัดสงขลา , สถาบันวิจัยระบบสุขภาพภาคใต้ , สำนักงานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำจังหวัดสงขลา , สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา , สำนักงานหลักประกันสุขภาพ เขต 12 สงขลา , เทศบาลตำบลปริก อบต. ท่าข้าม ,อบต. ควนรู , เครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุข , กลุ่มเกษตรวิถีธรรมวิถีไท , สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา สำนักงานพานิชย์จังหวัดสงขลา , และสำนักงานขนส่งจังหวัดสงขลา ได้ร่วมกันจัดงาน "วันคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดสงขลา ภายใต้แนวคิด " วันพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค"
แนวคิดดังกล่าวสอดคล้องกับภารกิจ บทบาทหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานที่ต้องการจะช่วยกันทำให้ผู้บริโภคทุกท่านได้รับความคุ้มครอง โดยนำเสนอผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งในรูปแบบนิทรรศการให้ความรู้ การสาธิต เริ่มจาก เครือข่ายเกษตรวิถีธรรมวิถีไท นำโดย อาจารย์ภานุ พิทักษ์เผ่า ที่ได้ยกแปลงเกษตรตัวอย่าง นำมาสาธิตให้เห็นว่าผู้บริโภคทุกคนสามารถพึ่งตนเองได้ และการันตีได้ว่ามีตัวตนของเครือข่ายเกษตรกร ที่สามารถผลิตอาหารที่ปลอดภัยให้กับผู้บริโภคได้จริง
ต่อจากเรื่องเกษตร ผู้บริโภคที่เข้าร่วมงานให้ความสนใจเป็นพิเศษคงเป็นเต็น ของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลาและสำนักงานพานิชย์จังหวัดสงขลา ที่นำสินค้ารับรองมาตรฐานอุตสาหกรรมมาจำหน่ายให้กับผู้บริโภค ได้ซื้อหาในราคาถูกแต่มีคุณภาพและได้เรียนรู้ถึงกระบวนการซื้อสินค้าว่าจะต้องพิจารณาอะไรบ้าง
เต็นถัดมา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา ได้นำเสนอร้านก๋วยเตี๋ยวที่สะอาดปลอดภัยไร้สารพิษ ซึ่งมีผู้ประกอบการได้มาปรุง ให้ชิมกัน พร้อมทั้งการจัดนิทรรศการให้ความรู้ และยกหม้อก๋วยเตี๋ยวมาตรฐานมาให้เห็นกันชัดๆ
“ การพิทักษ์สิทธิ เป็นหัวใจสำคัญของการคุ้มครองผู้บริโภค” สถาบันวิจัยระบบสุขภาพ ภาคใต้ , สปสช. เขต 12 สงขลา , จึงได้นำเสนอนิทรรศการให้ความรู้และรับเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภค เพื่อเปิดช่องทางให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงกลไกการรับเรื่องร้องเรียน นอกจากนี้ยังมีหน่วยงาน เช่น ศูนย์ดำรงธรรม , สำนักงานอัยการ ,ขนส่งจังหวัด มาร่วมรับเรื่องร้องเรียนภายในงาน
นอกจากนี้ยังมีภาคีเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเทศบาลตำบลปริก ที่นำกลุ่มอาชีพตำพริกแกงมาออกร้าน , เครือข่าย อย. น้อย สาธิตตรวจเครื่องสำอาง , อบต. ควนรู ที่นำเสนอการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภค , เครือข่าย อสม. เสนอการทำขนมที่ใช้หีบห่อจากวัสดุธรรมชาติ , อบต. ท่าข้าม นำเสนอนิทรรศการการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคในพื้นที่พร้อมทั้งมันทอดหลากหลายรสชาด ซึ่งเป็นโอทอปของตำบลมาเป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภคที่นิยมกินขนมกรุบกรอบ, เทศบาลนครหาดใหญ่ก็นำนิทรรศการเรื่องน้ำมันทอดซ้ำมาให้ความรู้กับผู้บริโภคที่ชอบกินของทอดๆ ได้มีความรู้และรู้เท่าทันในการปรับวิถีชีวิตการกิน
นอกจากนิทรรศการที่ให้ผู้บริโภคได้รับความรู้อย่างเต็มอิ่ม ณ ห้องประชุมศาลาประชาคมอำเภอเมืองสงขลา ได้เปิดงานวันคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดสงขลาอย่างเป็นทางการ โดย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา และท่านได้อ่านสารจากสำนักนายกรัฐมนตรีเนื่องในวันคุ้มครองผู้บริโภคไทย ( เอกสารประกอบ) หลังจากนั้นได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่างจังหวัดสงขลา,นายแพทย์สาธารณสุข,ผู้ประกอบการร้านก๋วยเตี๋ยว / ผู้ผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยว ได้มีแนวทางร่วมกันที่จะทำให้ผู้บริโภคได้รับความปลอดภัยทุกครั้งที่บริโภคก๋วยเตี๋ยว และมอบป้าย “ก๋วยเตี๋ยวอนามัย” เป็นการการันตีให้กับผู้บริโภคได้สบายใจกันเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีการเสวนาวิชาการเรื่อง “บทบาท กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 บนเส้นทางการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคไทย” วิทยากร โดย คุณคณะพงค์ เพชรแก้ว เจ้าพนักงานคดีผู้บริโภคประจำศาลแขวงสงขลา , คุณสมชาย ละอองพันธ์ ผู้ประสานงานวิชาการศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสงขลา คุณสุภาภรณ์ ศิลาทอง และคุณกำพล ปานกำเหนิด ผู้เสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิผู้บริโภค ดำเนินรายการโดยคุณบัญชร วิเชียรศรี และคุณอรุณรัตน์ แสงละออ
จากการเสวนา พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่มีความเข้าใจในเรื่องสิทธิของผู้บริโภค จึงมีกฎหมายออกมาให้การคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งในปัจจุบันได้มีกฎหมาย พระราชบัญญัติ วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 และพระราชบัญญัติความรับผิดเนื่องจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งกฎหมายทั้งสองฉบับช่วยทำให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงกระบวนพิจารณาคดีผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว และยุติธรรม แต่กระนั้นพบว่าคดีส่วนใหญ่ผู้บริโภคจะถูกฟ้องร้องจากผู้ประกอบการ มากกว่าที่ผู้บริโภคฟ้องร้อง
ซึ่งแนวทางในการแก้ปัญหาจะต้องทำให้ผู้บริโภค มีความเข้าใจในสิทธิของตนเอง หน่วยงานหรือองค์กร จะต้องให้ความสำคัญการดำเนินงานพิทักษ์สิทธิให้กับผู้บริโภค เช่น การเปิดช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนในรูปแบบต่างๆ เชื่อมการทำงานส่งต่อเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบ อันจะนำไปสู่การแก้ปัญหาให้กับผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
วรรณา สุวรรณชาตรี เรียบเรียง
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)