อาหารเป็นปัจจัยพื้นฐานของมนุษย์ อาหารเป็นวิถีชีวิต เป็นวัฒนธรรม การเข้าถึงอาหารถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ความมั่นคงทางอาหาร คือสิทธิที่เราจะได้รับอาหารอย่างเพียงพอกับความจำเป็นในการดำรงชีวิต โดยอาหารนั้นควรมีคุณค่าทางโภชนาการ ต้องปลอดภัยจากสารพิษต่างๆ และคนสามารถเข้าถึงได้โดยเท่าเทียมกัน
ความมั่นคงทางอาหาร คือ การที่เราจะสามารถตัดสินใจในการจัดการและใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นให้เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่น และการที่เราจะมีความมั่นคงทางอาหารนั้น หมายความว่าหน่วยทางสังคมที่เล็กที่สุดของประเทศ หรือ ครัวเรือนเกษตรกรในชนบทจะต้องมีความสามารถในการผลิตอาหารให้กับครอบครัวได้อย่างพอเพียง ผลผลิตส่วนเกินที่เหลือจึงขาย และเมื่อกล่าวถึงกระบวนการผลิตอาหาร นั่นต้องหมายถึง กระบวนการผลิตอาหาร การแปรรูป การหีบห่อที่ปลอดภัย ปราศจากการปนเปื้อนสารเคมี และความมั่นคงทางอาหารในรูปแบบดังกล่าวจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อเกษตรกรมีทรัพยากรการผลิต และมีสิทธิในการปลูกพืชอาหารเพื่อเลี้ยงครอบครัว การมีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ย่อมทำให้เกิดความมุ่งมั่นที่จะทำนุบำรุงที่ดิน น้ำและรักษา ระบบนิเวศในไร่นาและป่าไม้ เพื่อให้พื้นที่นั้นสามารถนำมาใช้ผลิตอาหารและสร้างรายได้ให้ครอบครัวได้อย่างยั่งยืนตลอดไป
ความมั่นคงทางอาหารโดยภาพรวมแล้วหมายถึง
(1)การมีปริมาณอาหารเพียงพอสำหรับบริโภคทั้งภายในครอบครัว ชุมชน และชุมชนอื่นๆ
(2) คุณภาพอาหารปลอดภัย มีหลากหลายครบถ้วนตามหลักโภชนาการและสอดคล้องกับวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่น
(3) มีระบบการผลิตที่เกิ้อหนุน รักษาความสมดุลของระบบนิเวศวิทยา สร้างความหลากหลายทางชีวภาพและนำใช้เทคโนโลยี่ที่เหมาะสม
(4) มีระบบการจัดการผลผลิตที่สอดคล้องเหมาะสม เป็นธรรม มีการกระจายอาหารอย่างทั่วถึงทั้งในระดับครอบครัวและชุมชน
(5) มีความมั่นคงทางการผลิต ทั้งที่ดิน น้ำและทรัพยากรเพื่อการผลิต และสร้างความมั่นคงในอาชีพเกษตรกรผู้ผลิต
ในสังคมไทย อาหารคือวัฒนธรรม อาหารกับคนไทยเป็นของคู่กันมาช้านาน เราจะเห็นได้ว่า คนไทยสามารถพัฒนาอาหารที่มีความหลากหลาย ทั้งยังมีคุณค่าทางโภชนาการสูง อาหารไทยคืออาหารเพื่อสุขภาพ ความหลากหลายของอาหารไทย ส่งผลให้ประเทศไทยมีชื่อเสียงอย่างมากในด้านอาหาร อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศไทยมีความสามารถในการผลิตอาหารทั้งในด้านปริมาณและความหลากหลาย มิได้หมายความว่า ประเทศไทยมีความมั่นคงทางอาหาร หากว่าเราพิจารณาจากประเด็นอื่นๆ เช่น ความปลอดภัยของอาหารที่ผลิต, คุณค่าของอาหาร, ตลอดจนแง่มุมด้านสังคม และวัฒนธรรม ซี่งในปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก คนไทยหันมาบริโภคอาหารจากตะวันตก อาหารขยะที่ขาดคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้น ขณะที่ความหลากหลายของพืชพรรณกลับลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด อาหารถูกทำให้กลายเป็นสินค้า และการที่เราละเลยระบบเกษตรหรือวิถีการผลิตอาหารของตนเอง หรือผลิตอาหารโดยคำนึงถึงแต่ปริมาณ นั่นเท่ากับว่าเราขาดอธิปไตยในการผลิตและการกระจายอาหาร และจะนำไปสู่ความหายนะของชาติ และการที่แต่ละประเทศให้ความสำคัญแต่การผลิตเพื่อการค้าเท่ากับเป็นการนำอาหารมาผูกติดไว้กับค่าของเงิน และทำลายความเป็นวัฒนธรรมของชุมชน ในการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และแบ่งปันอาหาร
การทำเกษตรกรรมยั่งยืน เป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหาร
เกษตรกรรมยั่งยืนเป็นระบบเกษตรกรรมที่ให้ความสำคัญกับการจัดการทรัพยากร การผลิตแบบยั่งยืน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม กระบวนการผลิตประกอบด้วย การคืนความสมดุลให้กับธรรมชาติ สร้างความหลากหลายทางชีวภาพทั้งพืชและสัตว์ มีการปรับปรุงและฟื้นฟูดิน ยุติการใช้สารสังเคราะห์ ทั้งปุ๋ยเคมี สารกำจัดแมลงศัตรูพืชที่ทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นภัยต่อมนุษย์และสัตว์ เกษตรกรรมยั่งยืนเป็นกระบวนการผลิตที่เกษตรกรเป็นหลักในการพัฒนา ความรู้ในท้องถิ่นได้รับการพัฒนาและฟื้นฟู
เกษตรกรรมยั่งยืนในประเทศไทย ไม่ใช่เรื่องใหม่ ปัจจุบันมีเกษตรกรที่ทำเกษตรกรรมยั่งยืนอยู่ทั่วประเทศ และมีตัวอย่างมากมายที่แสดงให้เห็นว่าเกษตรกรรมยั่งยืนเป็นรูปแบบทางเลือกที่สอดคล้องเหมาะสมกับเกษตรกรรายย่อย และสร้างให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร เกษตรกรรมยั่งยืน มีหลายรูปแบบตามเงื่อนไขของระบบนิเวศน์เกษตรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เกษตรผสมผสาน, เกษตรอินทรีย์, เกษตรธรรมชาติ, วนเกษตร โดยในทุกรูปแบบปฏิเสธวิธีการผลิตที่มุ่งเน้นแต่เพียงการเพิ่มผลผลิตให้ได้สูงสุด เพื่อขายโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการใช้สารเคมีทางการเกษตร โดยภาพรวมเกษตรกรรมยั่งยืนมีความหมายรวมถึง การผลิตทางการเกษตรและวิถีการดำเนินชีวิตของเกษตรกรที่เอื้ออำนวยต่อการฟื้นฟู และดำรงรักษาไว้ซึ่งความสมดุลของระบบนิเวศและสภาพแวดล้อม โดยมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นธรรม ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและผู้บริโภค รวมทั้งพัฒนาทางสถาบันทางสังคมของชุมชนท้องถิ่น ทั้งนี้เพื่อความผาสุกและความอยู่รอดของมวลมนุษยชาติ
ผ่านมามีประสบการณ์จากพื้นที่ที่เกษตรกรหันมาทำเกษตรกรรมยั่งยืนรูปแบบต่างๆกัน และพิสูจน์ให้เห็นว่า เกษตรกรรมยั่งยืนทำให้ครอบครัวเกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความมั่นคงทางอาหาร สามารถพึ่งตนเองได้ทางเศรษฐกิจ การผลิต อันเป็นทางเลือกที่มั่นคงและนำสู่การสร้างสังคมและชุมชนที่ยั่งยืน ดังเช่น
“พ่อบุญเต็ม ชัยลา ทำเกษตรกรรมยั่งยืนมาไม่ต่ำกว่า 10 ปี ระบุว่า ถ้าระบบเกษตรกรรมมีความเหมาะสมสอดคล้อง ก็เป็นการเพิ่มศักยภาพในด้านความสามารถในการผลิตอาหารของครัวเรือน และเป็นผลสืบเนื่องไปยังรายได้ของครอบครัว ซึ่งสามารถหารายได้ ทั้งรายได้รายวัน รายเดือน จากการขายเห็ด ผัก ผลไม้ และตลอดจนรายได้ประจำปีจากการขายข้าว ที่ผ่านมา ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจทำให้ครอบครัวมีรายได้สุทธิเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นบาทต่อปี ยิ่งไปกว่านั้น ครอบครัวพ่อบุญต็ม ยังมีความมั่นคงทางอาหารจากการทำการผลิต ปลูกพืชและสัตว์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การมีข้าวกินตลอดปี การปลูกผักสวนครัว การเพาะเห็ด การปลูกไม้ยินต้น การเลี้ยงหมู ไก่ ปลา ที่สำคัญกิจกรรมต่างๆที่ทำในแปลงเป็นที่รองรับแรงงานในครอบครัว ทำให้ไม่ต้องออกไปหางานทำนอกบ้าน สมาชิกทุนคนในครอบครัวได้อยู่ร่วมกัน พ่อ แม่ ลูก หลาน การทำเกษตรกรรมยั่งยืนของครอบครัวพ่อบุญต็มจึงมีนัยยะทั้งในด้านความมั่นคงทางอาหาร รายได้ และความเป็นครอบครัวที่เป็นรากฐานที่สำคัญของคนไทยในชนบทและสังคมไทยโดยรวม”
“เกษตรกรบ้านอมลอง จ.เชียงใหม่ปลูกสตอเบอรี่เพื่อขาย ทำการผลิตโดยใช้สารเคมีอย่างเข้มข้น ต้นทุนการผลิตสูง แต่เมื่อปรับเปลี่ยนระบบมาทำเกษตรกรรมยั่งยืน ด้วยการปลูกข้าว ไม้ผล สตอเบอรี่ปลอดสารเคมี ผักปลอดสารเคมี ใช้พืชตระกูลถั่วในการปรับปรุงบำรุงดิน ใช้สมุนไพรปราบหอย ปู ผลที่ได้คือ มีข้าวพอกินตลอดทั้งปี มีผักกินและขาย เมื่อก่อนปลูกสตอเบอรี่เพื่อขาย แล้วก็ต้องซื้อผักกิน แต่ตอนนี้ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ผสมผสานหลายๆอย่าง ทำให้ครอบครัวมีความมั่นคงทางอาหาร มีรายได้ สะสมเงินได้มากขึ้น เพราะรายจ่ายน้อยลงทั้งต้นทุนการผลิต และรายจ่ายด้านอาหาร อีกทั้งยังสามารถรวมกลุ่มกันทำตลาดพืชผักปลอดสารเคมี เพื่อต่อตรงกับผู้บริโภคในเมือง”
การทำเกษตรกรรมยั่งยืนจึงอยู่บนฐานของการผลิตที่ยั่งยืน มีการนำใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นอย่างสอดคล้องเหมาะสม การทำการผลิตพืชและสัตว์แบบผสมผสานช่วยสร้างความหลากหลายให้เกิดขึ้นในไร่นา เพิ่มความหลากหลายทางอาหาร ขณะเดียวกัน การทำเกษตรกรรมยั่งยืนเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้แก่ที่ดิน อันเป็นการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้แก่ครอบครัวนอกเหนือจากรายได้ประจำที่ครอบครัวได้รับจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากแปลงเกษตร และที่สำคัญ การทำเกษตรกรรมยั่งยืนยังเป็นรูปแบบที่ทำให้เกษตรกรสามารถพึ่งตนเองได้ ทั้งทางด้านการผลิต อาหาร และ เศรษฐกิจ เพื่อนำไปสู่อธิปไตยทางอาหารและวิถีชีวิตของเกษตรกรไทยโดยรวม
Relate topics
- รณรงค์เลิกใช้โฟม
- รายการสงขลามหาชน ตัวอย่างอาหารของแม่ ตอน " บทบาทของพ่อ " อาหารของแม่ สร้างความอบอุ่นของครอบครัวกับมื้ออร่อยที่แม่บรรจงปรุงเพื่อลูก
- ข่าวดีจะดัง ตอนที่ 265 โรงเรียนสุขภาพดี ของ อบต.ควนรู( http://youtu.be/KsuLA7Fguy8 )
- ข่าวดีจะดัง ตอนที่ 265 โรงเรียนสุขภาพดี ของ อบต.ควนรู(7 เม.ย 5…: http://youtu.be/KsuLA7Fguy8 )
- รายการอาหารของแม่ ตอน " อาหารคือภาคีและพื้นที่ " เปิดอร่อยด้วย ยำบัวบก สูตรสมุนไพรภูมิปัญญาถิ่น อบต.ท่าข้าม ของป้ายุพา ผลชนะ