หลายคนซื้อน้ำส้มพร้อมดื่มไว้ติดตู้เย็น เชื่อว่าเมื่อดื่มแล้วจะได้วิตามินซีบำรุงสุขภาพ แต่ไม่เคยรู้ว่าจริงๆ น้ำส้มพร้อมดื่มไม่ว่าจะยี่ห้อดีแค่ไหน ก็แทบไม่เหลือคุณค่าทางอาหาร ยกเว้น 'น้ำตาล' ที่มีจำนวนมากถึง 5 ช้อนชาต่อ 1 แก้ว ควรดื่มน้ำสัมคั้นสดๆ ดีกว่า
น้ำผลไม้ในความคิดคนส่วนใหญ่ คือเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เพราะรู้ว่าผลไม้มีคุณค่าทางอาหารสูง โดยเฉพาะน้ำส้มคั้น ซึ่งเป็นที่นิยมมากขนาดนางเอกหนังไทยต้องสั่งมาดื่มทุกครั้ง จนถูกขนานนามว่า 'น้ำนางเอก'ความจริงแล้ว น้ำส้มหากคั้นแบบสดๆ แล้วดื่มทันทีจะคุณค่าทางโภชนาการอย่างมาก แต่หากคั้นทิ้งไว้แม้เวลาจะผ่านไปไม่นาน วิตามินและเกลือแร่ในน้ำส้มจะเสื่อมสลายไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น เพื่อการคงคุณภาพของน้ำส้มให้นานขึ้นและสะดวกสำหรับการขนส่ง จึงมีการผลิตน้ำส้มพร้อมดื่ม (น้ำส้มบรรจุในภาชนะปิดสนิท) ออกมาจำหน่าย เพื่อเป็นทางเลือกของผู้บริโภค
เราจะเห็นได้ว่าตามชั้นวางขายเครื่องดื่มตามห้างสรรพสินค้า มีน้ำส้มพร้อมดื่มหลากหลายยยี่ห้อ ทั้งที่เป็นแบบน้ำส้มแท้ 100% น้ำส้มผสม ซึ่งมีน้ำส้มผสมตั้งแต่ 25 % ขึ้นไป และน้ำสมผสม แบบเป็นหัวเชื้อประมาณ 10 - 15% แล้วทำการแต่งสี กลิ่น และรสสังเคราะห์ เพื่อทำให้คล้ายน้ำส้มจริงๆ ซึ่งตามกฎหมายจะต้องเรียนกว่า 'น้ำรสส้ม'
เนื่องจากน้ำส้มเป็นสินค้าสุดฮิต! เราจึงไม่พลาดที่จะหยิบมาทดสอบ โดยการเก็บตัวอย่างน้ำส้มและน้ำรสส้ม 22 ยี่ห้อ เพื่อนำมาทดสอบหาปริมาณ'น้ำตาล' และ 'วิตามินซี' ซึ่งคนส่วนใหญ่เชื่อเอาเองว่า ส้มเป็นผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เมื่อเป็นน้ำส้มจึงต้องมีวิตามินสูงตามไปด้วย ซึ่งเป็นความเชื่อที่ 'เกือบถูก' แต่ไม่ถูก
ผลการทดสอบน้ำส้มและน้ำรสส้มพร้อมดื่ม 22 ยี่ห้อ
น้ำส้มและน้ำรสส้ม 3 อันดับแรก ที่มีปริมาณน้ำตาลสูง ได้แก่
1.น้ำรสส้ม ยี่ห้อ 'ฟรุ้ตฟิตเตอร์ฟัน' ซึ่งมีน้ำตาล 15 ช้อนชาต่อขวด 330 มล. 2.น้ำส้ม 'มาลี จู๊ซมิกซ์' มีน้ำตาล 13 ช้อนชาต่อขวด 350 มล. 3.น้ำส้ม '30% ทิปโก้ คูลฟิต' มีน้ำตาล 11 ช้อนช้าครึ่งต่อขวด 300 มล.น้ำส้ม 100 % ที่ไม่ได้เติมน้ำตาลจะมีน้ำตาลประมาณ 5.5 ช้อนชาต่อ 200 มล. (1 แก้ว) ขณะที่น้ำส้มผสมจะมีน้ำตาลโดยเฉลี่ย 6 ช้อนชา
เมื่อทดสอบหา 'วิตามินซี' พบว่าน้ำส้มส่วนใหญ่ไม่มีวิตามินซี หรือเหลือวิตามินซีน้อยมาก นอกจากนี้ บางยี่ห้อที่อ้างว่าได้เพิ่มวิตามินซี ก็ไม่พบว่ามีการเพิ่มดังกล่าว เช่น น้ำส้ม 25% ฟิวเจอร์ และน้ำรสส้ม 20 % โออิชิ เซกิ
น้ำส้มที่พบว่ามีวิตามินซีมากกว่า 20 มก./100 มล. ได้แก่ น้ำรสส้ม 'แบร์รี่ ซันเบลสท์' มีวิตามินซี 24 มก., น้ำส้ม 40% ยูเอฟซี มีวิตามินซี 23 มก. และน้ำรสส้ม อะมิโนโอเค มีวิตามินซี 20 มก.
คำแนะนำ
1.น้ำส้มพร้อมดื่มไม่ควรเป็นเครื่องดื่มทางเลือกเพื่อสุขภาพ สำหรับผู้ที่รักสุขภาพ เพราะมีปริมาณน้ำตาลสูง
2.เมื่ออยากดื่มน้ำส้ม ควรเลือกซื้อขวดขนาดเล็ก หรือแบ่งดื่มทีละน้อย เพื่อป้องกันไม่ให้ได้รับน้ำตาลมากไป
3.น้ำรสส้ม ที่ผลิตโดยค่ายน้ำอัดลม เช่น 'สแปลช' หรือ 'ทรอปิคานา ทวิสเตอร์' ถือเป็นเครื่องดื่มที่มีความหวานไม่ต่างจาก 'น้ำอัดลม' โดย 'สแปลช' มีน้ำตาล 6 ช้อนชาต่อกล่อง และ 'ทรอปิคานา ทวิสเตอร์' มีน้ำตาล 12 ช้อนชาต่อขวด
4.ความแตกต่างระหว่างน้ำผลไม้กับผลไม้ คือ 'เส้นใยอาหาร' เมื่อเป็นน้ำผลไม้ เส้นใยจะหายไปทำให้ร่างกายดูดซึมน้ำตาลได้เร็วขึ้น
5.อย่าเข้าใจผิดว่า น้ำส้มหรือน้ำรสส้มพร้อมดื่ม จะมีวิตามินซีสูง แม้ว่าจะอ้างว่าได้เติมวิตามินซีลงไปด้วยเทคโนโลยีล่าสุดก็ตาม
6.น้ำส้มที่ผสมวิตามินซีไม่ควรผสมกับวัตถุกันเสีย 'กรดเบนโซอิก' เพราะอาจทำให้เกิดสารพิษที่ส่งผลเสียต่อร่างกาย
แนะนำผัก-ผลไม้ 'วิตามินซี' สูง
ผัก-ผลไม้ (100 กรัม) ปริมาณวิตามินซี (มิลลิกรัม)
ฝรั่ง 230
มะละกอ 60
ผักโขม 76.5
ดอกกระหล่ำ 49
น้ำผลไม้คั้นสด (100 มิลลิลิตร) ปริมาณวิตามินซี (มิลลิกรัม)
น้ำฝรั่ง 155.7
น้ำส้มเขียวหวาน 51.4
น้ำมะม่วง 51.9
น้ำสัปปะรด 49.05
น้ำแตงโม 30
ที่มา นิตยสาร 'ฉลาดซื้อ' ฉบับที่ 89 โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เขียนโดย ทัศนีย์ แน่นอุดร (สนับสนุนข้อมูลโดยสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล) (ติดต่อ 'ฉลาดซื้อ' ได้ที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 211/2 ซ.งามวงศ์วาน 31 ถ.งามวงศ์วาน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000 โทรศัพท์ 0-2952-5060-2 โทรสาร 0-2580-9337)
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)