เผย ใช้เฮนน่าเสี่ยงอันตรายจากสาร p-phenylenediamine (PPD) ซึ่งเป็นสารเคมีที่พบการแพ้ได้บ่อย เช่นเกิดเป็นผื่นแดง ผื่นสัมผัส คัน ผิวแห้งแตก แนะหากพบเฮนน่าที่มีสีเข้ม ดำ อ้างว่าสีติดผิวได้นาน 1-3 สัปดาห์สันนิษฐานได้ว่าอาจมีส่วนผสมของ PPD อย่าใช้เด็ดขาด ทั้งนี้ อย. อนุญาตให้ใช้สาร PPD ได้เฉพาะในผลิตภัณฑ์ย้อมผมเท่านั้น หากนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์อื่น มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท
ภญ.วีรวรรณ แตงแก้ว รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า กรณีของวัยรุ่นที่นิยมตกแต่งสีผิวด้วยลวดลายต่าง ๆ เพื่อความสวยงาม โดยใช้เฮนน่า (Henna) ซึ่งเป็นพืชชนิดหนึ่งที่ให้สีน้ำตาล ส้ม ซึ่งใช้ได้ทั้งแต่งผิว หรือย้อมผม แต่ขณะนี้พบว่ามีการลักลอบเติม p-phenylenediamine (PPD) ลงในเฮนน่า เพื่อให้มีสีเข้มขึ้น และสีติดทนนาน โดยเรียกกันว่า Black Henna หรือ Blue Henna ซึ่งสารดังกล่าวจัดเป็นสารเคมีที่มีความเสี่ยงสูง อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนดให้ใช้สาร PPD ได้เฉพาะในผลิตภัณฑ์ย้อมผมเท่านั้น ซึ่งอัตราส่วนสูงสุดที่อนุญาตให้ใช้ คือ 6% นอกจากนี้ ที่ฉลากของผลิตภัณฑ์จะต้องแสดงคำเตือนตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด ซึ่งเน้นว่า สารนี้มีฤทธิ์ระคายเคืองผิวหนัง และก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ ต้องทดสอบอาการแพ้ก่อนใช้ และที่สำคัญ คือ ห้ามนำไปย้อมขนคิ้วหรือขนตาเด็ดขาด เพราะหากเข้าตาอาจเป็นอันตรายถึงขั้นตาบอดได้
รองเลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีความห่วงใยประชาชนเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากนำผลิตภัณฑ์ที่ผสม PPD มาสัมผัสผิวหนัง อาจก่อให้เกิดการแพ้ได้ และยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ผู้ที่แพ้สารนี้จะมีโอกาสแพ้สารอื่นๆ ที่มีโครงสร้างในทำนองเดียวกันอีกด้วย เช่น สีย้อมผม สีย้อมผ้า สารป้องกันแสงแดด รวมทั้งยาบางชนิด จึงขอให้สังเกตว่าสีตกแต่งผิวกาย เช่น เฮนน่า นั้น จะต้องมีสีตามธรรมชาติ คือสีน้ำตาลอมส้ม หากพบว่าเฮนน่านั้นมีสีเข้มกว่าปกติ ออกเฉดสีดำ และอ้างว่าสีติดทนนาน ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจผสม PPD อย่าซื้อ อย่าใช้ อันตรายรองเลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายเตือนประชาชนโดยเฉพาะวัยรุ่นว่า การแต่งแต้มผิวกายด้วยสีสันต่างๆเป็นเรื่องของแฟชั่น ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ระบุให้ใช้กับผิวหนัง อย่านำผลิตภัณฑ์ที่ฉลากระบุให้ใช้กับเส้นผมมาใช้กับผิวกาย เพราะอาจเกิดอันตราย โดยเฉพาะแบล็คเฮนน่า หรือบลูเฮนน่า ควรหลีกเลี่ยงเพราะพบว่ามีสาร PPD ผสมอยู่ด้วย เสี่ยงต่อการแพ้
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)