รสเปรี้ยวและกลิ่นหอมเฉพาะตัวของ “มะนาว” ช่วยเพิ่มรสชาติให้อาหารเอร็ดอร่อยยิ่งขึ้นนะคะ แต่ในช่วงฤดูร้อน ผลผลิตมะนาวออกสู่ตลาดน้อยลง ทำให้ราคามะนาวพุ่งขึ้นไปถึงผลละ 7-10 บาท พ่อค้าแม่ค้าจึงหันมาใช้ “น้ำมะนาวเทียม” กัน เนื่องจากมีราคาถูกและหาซื้อได้ง่าย ผู้บริโภคอย่างเราๆ คงจะหลีกเลี่ยงไม่พ้น วันนี้มารู้จักน้ำมะนาวเทียมกัน
น้ำมะนาวเทียมทำได้โดยนำผลมะนาวมาคั้นเอาแต่น้ำ กรองเนื้อและสิ่งสกปรกออกไป จากนั้นนำมาผสมกับน้ำและส่วนผสมอื่นๆ เช่น กรดซิตริก หรือที่ชาวบ้านเรียกกันง่ายๆ ว่า กรดมะนาว โดยอัตราส่วนนั้นก็แล้วแต่ผู้ผลิต ตัวอย่างเช่น น้ำมะนาว 30% ก็คือมีน้ำมะนาวแท้ 30% ผสมกับน้ำและส่วนผสมอื่นๆ อีก 70% และมีการแต่งสี แต่งกลิ่น ให้ใกล้เคียงน้ำมะนาวธรรมชาติ
ปัจจุบันมะนาวมีราคาสูงขึ้น ประกอบกับการนำมะนาวแท้มาเป็นส่วนผสม ทำให้เกิดความล่าช้าในการผลิต ยิ่งในช่วงที่ผลผลิตมีน้อยก็อาจจะป้อนตลาดไม่ทัน ผู้ผลิตจึงหันมาใช้กรดมะนาวล้วนๆ โดยไม่มีน้ำมะนาวแท้เจือปนอยู่เลย การผลิตน้ำมะนาวเทียมโดยใช้กรดมะนาวล้วนๆ จะต้องนำกรดมะนาวมาเจือจาง โดยให้มีค่าความเป็นกรด-ด่างใกล้เคียงกับน้ำมะนาวแท้
กรดซิตริกพบได้ทั่วไปในผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น มะนาว ส้ม สับปะรด ดังนั้นจึงได้รับการยอมรับว่าเป็นสารเคมีที่ปลอดภัย สามารถเติมลงในอาหารได้โดยไม่เป็นอันตราย นอกจากนี้กรดซิตริกยังสามารถย่อยสลายได้ง่ายอีกด้วย
การผลิตกรดซิตริกในระยะแรกใช้วิธีการสกัดจากผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวโดยตรง เช่น มะนาว ซึ่งมีกรดซิตริกประมาณร้อยละ 7-9 แต่ปัจจุบันนิยมผลิตด้วยวิธีการสังเคราะห์กรดซิตริกจากน้ำตาลกลูโคส โดยการหมักน้ำตาลกลูโคสด้วยจุลินทรีย์
กรดซิตริกนอกจากจะใช้ในการผลิตน้ำมะนาวเทียมแล้ว ยังนิยมใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มอีกด้วย มีการใช้กรดซิตริกเป็นสารให้กลิ่น รส ในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปและอาหารกึ่งสำเร็จรูปต่างๆ เช่น น้ำผลไม้ ลูกกวาด เจลลี เป็นต้น นอกจากนี้ยังใช้กรดซิตริกเป็นสารลดความฝาด ควบคุมความเป็นกรด-ด่าง ป้องกันการเน่าเสียของเครื่องดื่ม ป้องกันการตกผลึกของน้ำผึ้ง และป้องกันน้ำผลไม้ขุ่นได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ตรวจพบว่ามีผู้ผลิตบางรายผลิตน้ำมะนาวเทียมด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้องและไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ซึ่งอาจทำให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหาร ท้องเสีย ท้องร่วง เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินอาหารได้
ดังนั้นจึงควรเลือกซื้อน้ำมะนาวเทียมจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และเลือกซื้อที่มีฉลากอาหาร ในฉลากต้องแจ้งข้อมูลครบถ้วน ตั้งแต่ชื่อลักษณะผลิตภัณฑ์ ยี่ห้อ ชื่อผู้ผลิต ที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ของผู้ผลิต ปริมาตรสุทธิ ส่วนประกอบที่ใช้ในการผลิต วัตถุเจือปนในอาหาร เช่น สารกันเสีย และเจือสีธรรมชาติหรือสีสังเคราะห์ วันที่ผลิตและวันหมดอายุ และที่สำคัญก็คือต้องมีเครื่องหมาย อย. และเลขที่ อย. ซึ่งหมายถึงได้รับการรับรองคุณภาพจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อให้ได้น้ำมะนาวเทียมที่มีคุณภาพไว้บริโภคอย่างปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม ควรใช้น้ำมะนาวเทียมเมื่อจำเป็นเท่านั้น เพราะในเชิงโภชนาการและความปลอดภัยแล้วการใช้น้ำมะนาวแท้ หรือดัดแปลงใช้ผลไม้รสเปรี้ยวชนิดอื่นแทนมะนาว เช่น มะม่วงเปรี้ยว มะดัน ตะลิงปลิง มะขามอ่อน หรือมะขามเปียก จะได้คุณค่าทางโภชนาการและรสชาติที่ดีกว่าการใช้สารเคมีล้วนๆ อย่างน้ำมะนาวเทียม
สรรพคุณจากธรรมชาติ
มะนาว น้ำมะนาวมีวิตามินซีสูง ช่วยบรรเทาอาการเลือดออกตามไรฟัน แต่วิตามินซีก็สลายตัวได้ง่ายเมื่อถูกความร้อน จึงต้องระมัดระวังเวลาปรุงอาหาร นอกจากนี้ กรดที่มีอยู่ในน้ำมะนาวยังกระตุ้นให้มีการขับน้ำลายออกมา ทำให้ชุ่มคอ บรรเทาอาการไอ และช่วยขับเสมหะ
มะม่วง บรรเทาอาการไอ ละลายเสมหะ บรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน
มะดัน ขับเสมหะ ช่วยระบายท้อง
ตะลิงปลิง ช่วยให้เจริญอาหาร บรรเทาอาการไอ ละลายเสมหะ
มะขาม บรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ เป็นยาระบายอ่อนๆ
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)