แม้วัยรุ่นจะนิยมใส่คอนแทกต์เลนส์ เพื่อความสวยงามของดวงตา หรือเพื่อความคล่องตัวในการดำเนินชีวิตประจำวัน แต่ที่น่าเป็นห่วง คือ ถ้าไม่ดูแลรักษาคอนแทกต์เลนส์ให้ดี อาจถึงกับตาบอดได้ จากสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่มองไม่เห็นอย่าง “อะแคนทะมีบา” ซึ่งเข้ามารุกรานและทำอันตรายต่อดวงตา
รู้จักอะแคนทะมีบา
อะแคนทะมีบา เป็นโปรตัวซัวแบบเซลล์เดียวที่อาศัยอยู่ในน้ำและดิน มีช่วงชีวิต 2 แบบ คือ
1. “ซีสต์” มีขนาด 10-25 ไมครอน เมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม มันจะฝังตัวอยู่นิ่งๆ
2. “โทรโฟซอยต์” เป็นช่วงที่เปลี่ยนรูปร่างจาก “ซีสต์” มีขนาดใหญ่ 15-45 ไมครอน สามารถเคลื่อนไหวและมีฤทธิ์ทำลายดวงตา
อย่างไรก็ตาม เชื้ออะแคนทะมีบา ทั้ง 2 แบบ สามารถทนทานอยู่ได้นานในสิ่งแวดล้อมทุกรูปแบบ เช่น หนาวจัด ร้อนจัด แห้งแล้ง ขาดอาหาร และในสระว่ายน้ำที่ใส่คลอรีน หรือแม้แต่บ่อน้ำร้อน
เกี่ยวข้องกับผู้ใส่คอนแทคเลนส์
ส่วนใหญ่ร้อยละ 70 ในผู้ที่ใส่คอนแทกต์เลนส์ พบว่า มีกระจกตาอักเสบ เนื่องจากติดเชื้ออะแคนทะมีบาก่อให้เกิดอาการ ดังนี้ ปวดตามาก สู้แสงไม่ได้ กระจกตาขุ่น ฝ้า เป็นแผลอักเสบที่กระจกตา ในบางรายดูคล้ายอักเสบเหมือนติดเชื้อไวรัสเริม
การรักษา
เนื่องจากเชื้ออะแคนทะมีบา เป็นสาเหตุสำคัญของอาการกระจกตาอักเสบ และยังส่งผลให้เกิดแผลที่ดวงตา ที่ร้ายไปกว่านั้น คือ มีความอดทนต่อยาที่ใช้รักษาทุกชนิด ทำให้ต้องหยอดยาเป็นเวลานาน และในบางรายอาจไม่ตอบสนองต่อยา เป็นผลให้เชื้ออาจลุกลามไปทั่วทั้งกระจกตา จนเกิดอาการอักเสบทั้งลูกตาได้
การรักษา ควรไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด โดยทั่วไปจะต้องหยอดตาด้วยยาฆ่าเชื้อนี้โดยเฉพาะ ซึ่งต้องผสมจากน้ำยาบางชนิดที่ไม่มีขายในท้องตลาด และต้องหยอดตาบ่อยๆ เป็นเวลานานหลายเดือน หรืออาจเป็นปี พร้อมเฝ้าติดตามดูอาการเป็นระยะๆ นานหลายปี เนื่องจากเชื้ออะแคนทะมีบาสามารถมีชีวิตอยู่ในรูปแบบของซีสต์ได้นานหลายสิบปี ถ้ามีอาการอักเสบมาก จักษุแพทย์จะทำการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาให้ แต่ก็สามารถกลับมามีเชื้อชนิดนี้ได้อีก จึงต้องเฝ้าติดตามดูอาการเป็นเวลานาน และในบางรายอาจมีอาการหนักถึงขั้นที่ต้องได้รับการผ่าตัดเอาลูกตาออกในที่สุด แม้ว่าจะผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาแล้วก็ตาม ก็อาจกลับมามีเชื้อชนิดนี้ได้อีกเมื่อร่างกายอ่อนแอ หรือมีเชื้อโรคที่เป็นอาหารชั้นดีของเชื้ออะแคนทะมีบา ก็จะทำให้ดวงตาอักเสบทันที
ทำอย่างไรไม่ติดเชื้อ
1.ล้างมือทำความสะอาดโดยการฟอกสบู่หลายๆ ครั้ง ก่อนหยิบจับคอนแทกต์เลนส์
2.น้ำยาทำความสะอาดล้างเลนส์ ควรใช้ให้หมดภายใน 1 เดือน ไม่เก่าเก็บเกิน 2 เดือนหลังจากเปิดใช้แล้ว
3.ขัดถูล้างเลนส์ทั้ง 2 ด้านเป็นเวลาพอสมควร ตลอดจนล้างขัดถูตลับแช่เลนส์ให้สะอาดทุกครั้งก่อนใส่น้ำยาแช่เลนส์ที่เปลี่ยนใหม่ทุกวัน เพราะโรคนี้มักพบในผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่มบ่อยกว่าชนิดแข็ง โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ล้างทำความสะอาดเลนส์ทุกวันหรือใส่นอน
4.ควรนำตลับแช่เลนส์อบไมโครเวฟทุก 2-3 สัปดาห์ และเปลี่ยนตลับใหม่ทุก 2-3 เดือน เนื่องจากเชื้อโรคนี้อยู่ทนทาน
เมื่อมีอาการหรือพฤติกรรมต่อไปนี้...อย่าใส่คอนแทกต์เลนส์
1.เปลือกตาอักเสบ
2.ตาแห้ง
3.เป็นโรคภูมิแพ้
4.ไม่มีเวลาดูแลล้างทำความสะอาดคอนแทคเลนส์
กระจกตาอักเสบรุนแรง
ฉะนั้น ก่อนตัดสินใจใส่คอนแทกต์เลนส์ ควรปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อตรวจประเมินหาความผิดปกติหรือความเสี่ยง ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด อย่าคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยที่ละเลยได้ และในกรณีที่คอนแทกต์เลนส์หล่นลงพื้นหรือตากอากาศจนแห้งแข็ง ไม่ควรนำมาใช้อีก แม้จะยังไม่หมดอายุการใช้งาน เนื่องจากเสี่ยงกับการติดเชื้อ
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)