เห็ดหลินจือตราจีอี ลักไก่โฆษณาเป็นยาบำรุงกาม
โดยทั่วไปการโฆษณาผลิตภัณฑ์ทางด้านสุขภาพ กฎหมายจะมีความเข้มงวด ผลิตภัณฑ์ประเภทอาหาร อาหารเสริม จะห้ามโฆษณาสรรพคุณในทางยา เช่น รักษาโรคนั้นโรคนี้ได้ ซึ่งการโฆษณารักษาโรคนี้ แม้แต่ผลิตภัณฑ์ยาเอง ก็ยังมีความละเอียดอ่อน จะเที่ยวโฆษณามั่ว ๆ ไม่ได้ เอกสารทุกอย่างต้องได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก่อน
คุณบันลือ มาร้องเรียนที่ศูนย์ฯ ว่า ได้ซื้อยาแคปซูลเห็ดหลินจือสูตร 2 ตรา จีอี มารับประทาน "แต่พอผมอ่านคู่มือการรับประทานแล้วมันเกิดความรู้สึกไม่ค่อยดี มันทำให้ผมไม่แน่ใจว่าจะกินดีไหม จะอันตรายหรือเปล่า"
"แล้วคู่มือมีรายละเอียดยังไงบ้าง"
"ลองดูนะครับว่า น่าเชื่อถือหรือเปล่า... หลินจือ เป็นภาษาจีนโบราณมีความหมายว่าวิญญาณหรือสมุนไพรเพื่อจิตวิญญาณ โรค หัวใจ วิธีรับประทาน 2-6 ชุด/วัน อาการเจ็บหน้าอกส่วนบนด้านซ้าย เจ็บแขนข้างซ้ายส่วนบน มักจะเกิดขึ้นเมื่อเครียดหรือเนื่องจากออกกำลังกายมากเกินไป ปฏิกิริยา เห็ดหลินจือจะมีผลอย่างสูงในการบำบัดอาการตีบตันในการไหลเวียนของโลหิต กระตุ้นอัตราการเต้นของหัวใจให้ดีขึ้น ปวดหน้าอก หน้าจะแดงก่ำประมาณ 2-4 วัน แขนส่วนบนข้างซ้ายจะหมดความรู้สึก โรคมะเร็ง เนื้องอก วิธีรับประทาน 5-7 ชุด/วัน สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งให้เพิ่มอย่างน้อยอีก 4 ชุดทุกสัปดาห์ โรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ วิธีรับประทาน 4-6 ชุดต่อวัน เช้า 2 ชุดและกลางคืน 2 ชุด อาการอารมณ์ทางเพศมีบ้างบางครั้งหรือไม่มีเลยจนลืมอารมณ์ทางเพศไปเลย เครียดคิดมากจนไม่เกิดอารมณ์ทางเพศแม้ว่าร่างกายจะมีความต้องการ สำเร็จเร็วกว่าปกติ... เห็นไหมครับแล้วยังมีอีกหลายต่อหลายโรค ผมเลยไม่มั่นใจเท่าไหร่"
หลังจากส่งเอกสารทั้งหมดที่คุณบันลือส่งมาให้ไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เบื้องต้น อย.ได้ตอบว่า เมื่อดำเนินการตรวจสอบแล้ว พบว่า ฉลากยาของยาแคปซูลเห็ดหลินจือ นั้นถูกต้องตามที่ขึ้นทะเบียนไว้ ซึ่งสรรพคุณที่อนุญาตคือ บำรุงร่างกาย สำหรับเอกสารแนวในการรับประทานและเอกสารอ้างอิงสรรพคุณอื่นของยา ไม่ได้เป็นเอกสารที่รับขึ้นทะเบียนไว้
ต่อมาทาง อย.ได้แจ้งเพิ่มเติมว่า หลังจากตรวจสอบและดำเนินการในเรื่องการโฆษณายาแล้ว
"จัดเป็นเอกสารโฆษณาขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แสดงสรรพคุณยาอันเป็นเท็จหรือเกินจริง ทำให้เข้าใจว่าเป็นยาบำรุงกาม และแสดงสรรพคุณยาว่าสามารถบำบัด บรรเทา รักษาหรือป้องกันโรคที่เกี่ยวกับสมอง หัวใจ ถือเป็นความผิดตามกฎหมาย โดยขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ดำเนินการสั่งระงับโฆษณาไปยังผู้รับอนุญาตฯ บริษัท กาโน เอ็กเซล เอ็นเตอร์ไพรส์ (ประเทศไทย) จำกัด แล้ว”
เป็นอันทราบนะคะว่า สรรพคุณที่ทางอย.อนุญาตให้ปรากฏบนฉลากคือ บำรุงร่างกาย เท่านั้น ส่วนที่โฆษณาสารพัดรักษานั้น เป็นการโฆษณาที่ผิดกฎหมาย เราสามารถนำข้อมูลนี้ไปใช้เพื่อการตัดสินใจเวลาที่จะซื้อยาสมุนไพรหรืออาหารเสริมทั้งหลายว่า อย่าเชื่อโฆษณาที่เกินจริง
เขียนโดย ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค Wednesday, 16 May 2007
ข้อมูลจาก วารสารฉลาดซื้อ ฉบับที่ 60
http://www.consumerthai.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=114&Itemid=38
การจัดการปัญหา (เห็ดหลินจือตราจีอี ลักไก่โฆษณาเป็นยาบำรุงกาม)
ปัญหาที่เกิดขึ้นถือเป็นปัญหาการโฆษณาและปัญหาผู้ประกอบการ ยาแคปซูลเห็ดหลินจือสูตร 2ตราจีอี ซึ่งเป็นอาหารเสริม มีการโฆษณาเกินจริงและมีความไม่ชัดเจนในรายละเอียดที่ปรากฏบนฉลากยา ผู้ประกอบการขาดจริยธรรมและขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องกฎหมาย ทำให้มีการละเมิด เนื่องจากการโฆษณาผลิตภัณฑ์ทางด้านสุขภาพ กฎหมายจะมีความเข้มงวด นอกจากนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจมีสาเหตุอีกอย่างหนึ่งมาจากการขาดระบบการตรวจสอบที่ดี ทำให้มีการโฆษณาสรรพคุณที่ไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
ผู้บริโภคเกิดความไม่มั่นใจในผลิตภัณฑ์ชนิดนี้จึงได้ร้องเรียนตามสิทธิของผู้บริโภค เป็นสิ่งที่พึงกระทำ เรื่องนี้ได้ส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อตรวจสอบและดำเนินการในเรื่องการโฆษณา พบว่าฉลากยาถูกต้องตามที่ขึ้นทะเบียนไว้แต่สรรพคุณที่อนุญาตคือบำรุงร่างกาย ส่วนสรรพคุณอื่นของยาทำให้เข้าใจว่าเป็นยาบำรุงกาม สามารถบำบัด บรรเทา รักษาหรือป้องกันโรคที่เกี่ยวกับสมอง หัวใจ ไม่ได้รับขึ้นทะเบียนไว้ เป็นสิ่งที่เกินจริง ถือเป็นการโฆษณาที่ผิดกฎหมาย มีการดำเนินการสั่งระงับโฆษณาไปยังผู้รับอนุญาต
ดังนั้นการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพไม่ควรเชื่อโฆษณาที่เกินจริง สิทธิของผู้บริโภคเป็นสิ่งสำคัญ ทุกฝ่ายไม่ควรละเมิด และที่สำคัญผู้บริโภคต้องมีความเชื่อมั่นและทำหน้าที่ผู้บริโภคที่ดีด้วย
Relate topics
- กรณีศึกษา อย.เตือนยาคีไตรโซนผิดมาตรฐาน-อันตราย สั่งเก็บทุกสถานพยาบาล
- กรณีศึกษา อย.เผยพบแบคทีเรียปนเปื้อน “น้ำยาบ้วนปากออรัล-บี” เตือน ปชช.ระงับใช้
- กรณีศึกษา สลด!! ว่าที่ "นิสิตเภสัช" ม.มหาสารคาม กินยาลดความอ้วนดับ น้องสาวเผยกลัวใส่ชุดไม่สวย
- กรณีศึกษา สั่งถอนยา "บีเวลล์" แก้เซ็กซ์เสื่อมอาจมีผลข้างเคียงถึงตาย!
- กรณีศึกษา ธนาคารมีสิทธิคิดค่าธรรมเนียมอย่างอื่นนอกเหนือจากดอกเบี้ยหรือไม่