กรณีแพทย์ที่โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ รักษาอาการป่วยของนางดอกรัก เพ็ชรประเสริฐ ที่เกิดจากการแพ้ยาชนิดที่อาการรุนแรง ที่ภาษาแพทย์เรียกว่า กลุ่มอาการสตีเวนจอห์นสัน แล้วผลสุดท้าย นางดอกรัก เพ็ชรประเสริฐ ต้องตาบอดนั้น ต่อมาได้เกิดปฏิกิริยาในหมู่แพทย์กลุ่มหนึ่ง พยายามกดดันให้กระทรวงสาธารณสุขอุทธรณ์คดีนี้
ผู้ที่ไม่ได้อ่านรายละเอียดในคำพิพากษาคดีนี้ ที่มีความรู้ทางแพทย์อยู่บ้างอาจสงสัยว่า เหตุใดจำเลยจะต้องรับผิด เพราะกลุ่มอาการแพ้ยาดังกล่าวเป็นลักษณะกลุ่มอาการที่ได้เกิดขึ้นโดยเร็วและรุนแรง ซึ่งไม่มีใครสามารถจะป้องกันได้ เหตุใดจำเลยจะต้องรับผิดชอบ
ผู้เขียนได้ศึกษาคำพิพากษาในคดีนี้โดยตลอดแล้วเห็นว่า ควรนำคดีนี้มาวิเคราะห์เพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจได้อย่างถูกต้องตรงประเด็น ดังนี้
1.โจทก์ฟ้องสำนักงานสาธารณสุขซึ่งเป็นนิติบุคคลต้นสังกัดของโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ ที่เกิดเหตุ ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 เพราะกฎหมายฉบับนี้ห้ามผู้เสียหายฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้กระทำละเมิดโดยตรง (คือแพทย์ของโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์) แต่ให้ฟ้องหน่วยงานเป็นจำเลยแทน (มาตรา 5) ซึ่งต่างกับการรับผิดของกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะตัวการตามมาตรา 427 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กรณีการรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ร่วมรับผิด(Vicarious liability) ความรับผิดโดยตรงต้องอยู่ที่แพทย์ผู้กระทำละเมิด
ดังนั้น การที่โจทก์หรือผู้เสียหายจะพิสูจน์ให้จำเลย(ซึ่งได้แก่หน่วยงานของรัฐหรือกระทรวงสาธารณสุขในคดีนี้)รับผิดนั้น จะมีภาระน้อยกว่าการพิสูจน์ว่าแพทย์คนใดคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้กระทำละเมิด
แม้กระนั้นในคดีนี้ โจทก์ก็ยังพิสูจน์ว่าการเจ็บป่วยของโจทก์เกิดจากการแพ้ยาที่มีอาการรุนแรง เรียกชื่อตามภาษาแพทย์ว่า สตีเวนจอห์นสันซินโดรม ภายหลังได้รับการฉีดยาจากแพทย์ที่คลินิก เมื่อเกิดอาการแพ้ขึ้นจึงไปรักษาที่โรงพยาบาลในสังกัดของจำเลย คือโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ แต่แพทย์ของโรงพยาบาลในสังกัดของจำเลยไม่ได้วินิจฉัยว่าเป็นอาการแพ้ยาที่มีชื่อดังกล่าว และไม่ได้รับตัวจำเลยไว้รักษาในโรงพยาบาลในทันที จนกระทั่งหลายชั่วโมงต่อมาอาการของโจทก์รุนแรงขึ้น ต้องกลับไปรักษาที่โรงพยาบาลในสังกัดของจำเลยอีกในตอนดึก แพทย์ต้องรีบรับตัวจำเลยไว้รักษา โดยวินิจฉัยว่า น่าสงสัยว่าจะเป็นโรคแพ้ยาชนิดสตีเวนจอห์นสันซินโดรม แม้กระนั้นก็มิได้ยาที่จะรักษาโรคนี้ได้ดี คือยาประเภทสเตียรอยด์ รอจนวันรุ่งขึ้นแจ้งให้ยาดังกล่าว จำเลยอยู่โรงพยาบาลตั้งแต่ 27 ตุลาคม 2542 ออกจากโรงพยาบาลเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2542 ผลทำให้ตาผู้ป่วยบอด
ศาลวินิจฉัยว่า อาการแพ้ยาชนิดนี้ที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยมีอาการรุนแรงอาจทำให้ตายหรือตาบอดได้ ตามความเห็นของพยานโจทก์ซึ่งเป็นแพทย์ 2 คน และโจทก์ไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที แพทย์ผู้ร่วมรักษาให้การรักษาโจทก์โดยความประมาทอยู่บ้าง เป็นเหตุให้ตาทั้ง 2 ข้างของโจทก์บอด จำเลยจึงต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
2.การที่ศาลวินิจฉัยว่า แพทย์ผู้ร่วมรักษา ให้การรักษาโจทก์โดยความประมาทอยู่บ้างนั้นหมายความว่า ศาลพิจารณาโดยรวมๆ ว่า แพทย์ที่ร่วมรักษาโจทก์นั้นอาจมีความประมาทเลินเล่ออยู่บ้าง คนละเล็กคนละน้อย แต่ไม่อาจชี้ชัดลงไปได้ว่าใครประมาทอย่างไร
ซึ่งถ้าโจทก์ฟ้องแพทย์ผู้ร่วมรักษาเป็นจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตามมาตรา 420 (ซึ่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ห้ามมิให้ฟ้อง) โจทก์ต้องพิสูจน์ให้ชัดว่า จำเลยคนไหนประมาทอย่างไร ถ้าเป็นลักษณะเช่นนั้น ศาลก็คงไม่อาจชี้ชัดได้ว่าแพทย์คนไหนต้องรับผิดในแต่ละส่วนอย่างไร ซึ่งอาจต้องยกฟ้อง
แต่เมื่อจำเลยเป็นส่วนราชการโดยตรง ศาลจึงมีวินิจฉัยคลุมไปว่า แพทย์ที่ร่วมรักษาโจทก์นั้น รวมๆ กันแล้วถือว่ามีความประมาทอยู่บ้าง(คนละเล็กละน้อย) ซึ่งทำให้จำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นผู้รับผิดเสียเอง และไม่สามารถไปฟ้องไล่เบี้ยในส่วนที่ชดใช้ให้โจทก์ไปแก่แพทย์ผู้รักษาได้ เพราะกฎหมายบัญญัติให้ฟ้องไล่เบี้ยได้เฉพาะกรณีจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น(มาตรา 8 วรรคแรก)
Relate topics
- เครือข่ายผู้หญิงร้องทบทวนฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูก-รมช.สธ.ยันจำเป็น
- นัก กม.อินเดีย ยัน ซีแอล ทำให้ยาถูกลง อย่าหลงเชื่อ บ.ยาข้ามชาติ
- กรณีศึกษา อย.เตือนยาคีไตรโซนผิดมาตรฐาน-อันตราย สั่งเก็บทุกสถานพยาบาล
- กรณีศึกษา อย.เผยพบแบคทีเรียปนเปื้อน “น้ำยาบ้วนปากออรัล-บี” เตือน ปชช.ระงับใช้
- กรณีศึกษา สลด!! ว่าที่ "นิสิตเภสัช" ม.มหาสารคาม กินยาลดความอ้วนดับ น้องสาวเผยกลัวใส่ชุดไม่สวย