เตือนภัยยาอันตราย! ยาโลหิตจาง-ยากระดูกผุที่ไม่มีเลขทะเบียนยา
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
อย.เตือนประชาชนอย่าซื้อยารักษาโรคโลหิตจาง Eprex 4000 และยาลดภาวะกระดูกผุ Miacalcic Nasal 200 ที่ไม่มีเลขทะเบียนตำรับยา และไม่มีเอกสารกำกับยาเป็นภาษาไทย เพราะเป็นยาลักลอบนำเข้า ยึดของกลางส่งกรมวิทยาศาสตร์ฯ ตรวจคุณภาพ เตือนอาจได้รับอันตรายไม่หาย แถมโรครุนแรงหนัก
นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า อย.ได้รับแจ้งจากบริษัท แจนเซ่น-ซีแลก จำกัด ว่ามีการลักลอบขายยา Eprex ในร้านขายยา ซึ่งยาดังกล่าวเป็นยาชีววัตถุที่ใช้สำหรับผู้ป่วยโลหิตจางในการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดแดง เนื่องจากบริษัทฯ ได้ยกเลิกการขายยาดังกล่าวตั้งแต่เดือนตุลาคม 2549 อย.จึงได้ดำเนินการตรวจสอบ ร้านขายยาต่างๆ พบว่า ร้านขายยาบางร้านมีการลักลอบจำหน่ายยา Eprex 4000 Batch No.6JSSA00 Mfd.10/2006 Exp.04/2008 นพ.นิพนธ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังพบยา Miacalcic Nasal 200 Lot No.H5031 Mfd.03/2007 Exp.02/2010 ซึ่งเป็นยาลดภาวะกระดูกผุหลังหมดประจำเดือน และยาทั้ง 2 ชนิดไม่มีเอกสารกำกับยาฉบับภาษาไทย ที่สำคัญฉลากไม่แสดงเลขทะเบียนตำรับยาของประเทศไทย โดยยา Eprex 4000 ไม่มีข้อความว่า “ยาควบคุมพิเศษ” และยา Miacalcic Nasal 200 ไม่มีข้อความว่า “ยาอันตราย” ทั้งนี้ อย.ได้ประสานบริษัท แจนเซ่น-ซีแลก จำกัด และบริษัท โนวาติส จำกัด โดยทั้ง 2 บริษัทยืนยันว่าไม่ใช่ยาที่บริษัทผลิตหรือนำเข้า อย.จึงได้ยึดยาทั้งหมดและส่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจวิเคราะห์คุณภาพมาตรฐาน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินคดีทางกฎหมาย รองเลขาฯ อย.กล่าวเพิ่มเติมว่า ยารักษาโรคโลหิตจาง Eprex 4000 และยาลดภาวะกระดูกผุ Miacalcic Nasal 200 เป็นยาที่จะต้องเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส หากไม่มีการควบคุม-อุณหภูมิ จะทำให้ยาผิดมาตรฐานและส่งผลทำให้การรักษาไม่ได้ผลและอาจเกิดอันตรายจากการใช้ยาได้ โดยเฉพาะยา Eprex 4000 หากเก็บในอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสมทำให้ยาเสื่อมคุณภาพและส่งผลให้ร่างกายของผู้ป่วยที่ได้รับยาดังกล่าวมีการสร้างแอนติบอดี้ เพื่อต่อต้านการสร้างเม็ดเลือดแดง ทำให้เม็ดเลือดแดงแตก จนเป็นสาเหตุของการเกิดโรค Pure Red Cell Aplasia (PRCA) หรือสภาวะโลหิตจางอย่างรุนแรง
“ขอเตือนผู้บริโภคอย่าซื้อยาที่ไม่มีเลขทะเบียนตำรับยา และไม่มีเอกสารกำกับยาที่เป็นภาษาไทย เพราะอาจจะได้รับยาปลอม ยาผิดกฎหมายลักลอบนำเข้า หากผู้บริโภคพบเห็นยาในลักษณะดังกล่าว สามารถร้องเรียนได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือที่สายด่วน อย. 1556 ทาง อย.จะได้ดำเนินการทางกฎหมายกับ ผู้จำหน่ายทันที” นพ.นิพนธ์ กล่าว
อ้างอิงจาก http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9500000138592
วิธีการแก้ไขปัญหา : การเลือกซื้อยามารับประทานเองจากร้านยานั้นควรคำนึงเพื่อให้มั่นใจได้ว่าได้รับยาที่มีคุณภาพ ดังนี้
1.ผู้บริโภคไม่ควรซื้อยาที่ไม่มีเลขทะเบียนยาและไม่มีเอกสารกำกับยาที่เป็นภาษาไทย เพราะอาจทำให้ได้รับยาปลอมได้
2.ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)ควรมีการตรวจสอบยาทุกชนิดที่นำเข้าจากต่างประเทศ
3.ผู้บริโภคควรตรวจสอบภาชนะที่บรรจุยาต้องสะอาด มีฉลากยาชัดเจน ระบุทั้งชื่อยาสำคัญและชื่อการค้า
4.เภสัชกรควรมีจรรยาบรรณทางวิชาชีพในการขายให้แก่ผู้ป่วย
5.เมื่อผู้บริโภคพบว่ามีความผิดปกติเกี่ยวกับยาควรมีการร้องเรียนไปที่สายด่วน อย.1556 โดยทาง อย.จะดำเนินการทางกฎหมาย
Relate topics
- รณรงค์เลิกใช้โฟม
- รายการสงขลามหาชน ตัวอย่างอาหารของแม่ ตอน " บทบาทของพ่อ " อาหารของแม่ สร้างความอบอุ่นของครอบครัวกับมื้ออร่อยที่แม่บรรจงปรุงเพื่อลูก
- ข่าวดีจะดัง ตอนที่ 265 โรงเรียนสุขภาพดี ของ อบต.ควนรู( http://youtu.be/KsuLA7Fguy8 )
- ข่าวดีจะดัง ตอนที่ 265 โรงเรียนสุขภาพดี ของ อบต.ควนรู(7 เม.ย 5…: http://youtu.be/KsuLA7Fguy8 )
- รายการอาหารของแม่ ตอน " อาหารคือภาคีและพื้นที่ " เปิดอร่อยด้วย ยำบัวบก สูตรสมุนไพรภูมิปัญญาถิ่น อบต.ท่าข้าม ของป้ายุพา ผลชนะ