บทความ

กรณีศึกษา อย.ทลายแหล่งเครื่องสำอางผิดกม.กลางกรุง พบ อเมลิต้า บิวตี้ สุดอันตราย

by twoseadj @March,12 2009 15.03 ( IP : 118...156 ) | Tags : บทความ
photo  , 300x199 pixel , 81,099 bytes.

อย.ทลายแหล่งเครื่องสำอางผิดกม.กลางกรุง พบ อเมลิต้า บิวตี้ สุดอันตราย

    อย.ทลายแหล่งผลิต - จำหน่ายเครื่องสำอางผิดกฎหมายรายใหญ่กลางกรุง มูลค่ากว่า 3 ล้านบาท เผยยี่ห้อ "อเมลิต้า บิวตี้" สุดอันตรายผสมสารห้ามใช้ เครื่องสำอางที่ไม่มีฉลากภาษาไทย ฉลากไม่ถูกต้อง ไม่ระบุแหล่งผลิต ยึดของกลาง พร้อมดำเนินคดีกับผู้ผลิตชาวฟิลิปปินส์ทันที เตือนผู้บริโภคระวังอย่าตกเป็นเหยื่อซื้อมาใช้

      วันนี้ (2 พ.ค.) เมื่อเวลา 11.00 น. เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยา โดย ภก.มานิตย์ อุรณากูร รองเลขาธิการอย. ภก.พงศ์ประพันธ์ สุสัณฐิตพงษ์ ผู้อำนวยการกลุ่มเครื่องสำอาง และ ภญ.ยุพา เตียงธวัช เภสัชกร 8 วช. และเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ ภายใต้การอำนวยการของ พ.ต.อ.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร ผกก. และ พ.ต.ท.สรเสริญ ใช้สถิต รอง ผก.ป. , พ.ต.ท.อาทิตย์ ซิ้มเจริญ รอง สว.สป. ร.ต.ท. วรพงศ์ สืบศิรินาม รอง สว.สป. และ ร.ต.ต.วันเผด็จ หงษ์ทอง รอง สว.สป. พร้อมกำลังฝ่ายสืบสวนปราบปรามนำหมายค้นของศาลจังหวัดพระโขนงเข้าตรวจค้น บริษัท อเมลิต้า จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 62/10 ถนนสุขุมวิท 49/6 แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ และที่ LD แมนชั่น เลขที่ 66/2 ซอยพร้อมพรรค แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กทม. ที่มี นางอเมลิต้า มณีชัยฤทธิกุล ชาวฟิลิปปินส์ อายุ 59 ปี เจ้าของบริษัทฯ พบว่ามีการผลิต และจำหน่ายเครื่องสำอางที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

        “ ก่อนหน้านี้ อย.ได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคว่า เครื่องสำอางยี่ห้อ “อเมลิต้า บิวตี้” ว่าเป็นเครื่องสำอางไม่ปลอดภัย อย.จึงประสานกับสน.ทองหล่อในการติดตามดูพฤติกรรมนานนับเดือน ซึ่งเมื่อเข้าตรวจค้นสถานที่ดังกล่าวข้างต้น พบวัตถุดิบที่ใช้เป็นสารห้ามใช้ ไฮโดรควิโนน กรดเรทิโนอิก และสารเคมีที่ใช้ในการผลิตเครื่องสำอางรวมถึงอุปกรณ์การผลิตเครื่องสำอาง ได้แก่ เครื่องปั่น หม้อบรรจุ ที่ตักสารเคมี ถ้วยตวง เป็นต้น นอกจากนี้พบเครื่องสำอางสำเร็จรูปจำนวนหลายรายการ อาทิ โลชั่นบำรุงผิว ครีมป้องกันฝ้า ฯลฯ โดยได้ยึดของกลางที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมมูลค่ากว่า 3 ล้านบาท” ภก.มานิตย์ กล่าว

        ภก.มานิตย์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ อย.ได้ประสาน สน.ทองหล่อ เพื่อดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2535 ในความผิด 2 ข้อหา ฐานผลิต เพื่อขายเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และโทษฐานผลิต เพื่อขายเครื่องสำอางที่มีการควบคุมฉลาก โดยไม่มีฉลากหรือมีฉลากแต่ฉลากหรือการแสดงฉลากนั้นไม่ถูกต้อง มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        “อย. ขอเตือนผู้บริโภคอย่าซื้อเครื่องสำอางยี่ห้อดังกล่าวมาใช้อย่างเด็ดขาด เพราะเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจากสารห้ามใช้ เนื่องจาก ไฮโดรควิโนน ทำให้เกิดการระคายเคือง เกิดจุดด่างขาวที่หน้า ผิวหน้าดำ เป็นฝ้าถาวร รักษาไม่หาย และกรดเรทิโนอิกหรือกรดวิตามินเอ ทำให้หน้าแดง แสบร้อนรุนแรง เกิดการอักเสบ ผิวหน้าลอกอย่างรุนแรง และเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์” ภก.มานิตย์กล่าว

        ภก.มานิตย์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ขอให้สังเกตฉลากก่อนซื้อเป็นลำดับแรก ซึ่งฉลากที่ถูกต้องจะต้องมีภาษาไทย มีข้อความบังคับครบถ้วน ได้แก่ ชื่อ และประเภทผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบสำคัญ วิธีใช้ ชื่อ และที่ตั้งแหล่งผลิต วันเดือนปีที่ผลิต ปริมาณสุทธิ และควรเลือกซื้อจากบริษัทหรือร้านที่น่าเชื่อถือ ไม่ควรซื้อเพราะคำโฆษณา และขอฝากไปยังผู้บริโภค หากพบเห็นหรือสงสัยแหล่งผลิตเครื่องสำอางที่ ผิดกฎหมาย หรือพบเครื่องสำอางที่น่าสงสัยว่าจะไม่ปลอดภัยในการใช้ ขอให้แจ้งร้องเรียนมาที่ สายด่วน อย. 1556 หรือที่หมายเลข 02 590-7354 หรือแจ้งไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนั้นๆ ที่พบการกระทำผิด เพื่อ อย. จะได้ดำเนินการกับเครื่องสำอางผิดกฎหมายให้หมดไปจากท้องตลาดโดยเร็วที่สุด

      ด้าน พ.ต.อ.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร ผกก.สน.ทองหล่อ กล่าวว่า เนื่องจากผู้ต้องหาเป็นชาวฟิลิปปินส์เดินทางเข้าออกนอกประเทศบ่อยครั้ง จึงจะขยายผลการจับกุมกับผู้ร่วมดำเนินการทำเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมต้อง ห้ามดังกล่าวต่อไป ซึ่งในเบื้องต้นคงจะต้องดำเนินคดีในประเทศไทย เนื่องจากพบว่า ผู้ต้องหามีสามีเป็นคนไทย โดยตรวจสอบว่ามีการจดทะเบียนสมรสหรือไม่ รวมถึงต้องใช้เวลาตรวจสอบหลักฐานใบอนุญาตการผลิต การนำเข้าสารต้องห้าม รวมถึงนำเครื่องสำอางของกลางตรวจทดสอบ และส่งคืนให้มีการทำลายต่อไป

        นางอเมลิต้า กล่าวว่า เป็นนางพยาบาลในโรงพยาบาลสหรัฐฯมา 20 กว่าปีแล้ว พอแต่งงานกับสามีชาวไทยที่เป็นผู้จัดการร้านจิวเวอรี่ ก็ได้มาทำเครื่องสำอางโดยจดตั้งเป็นบริษัทอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และทำเครื่องสำอางมานาน 3-5 ปีแล้ว โดยที่ไม่ทราบมาก่อนว่าสารทั้ง 2 ชนิดเป็นสารต้องห้ามในการเป็นส่วนผสมของเครื่องสำอาง
    อย. เผย ตอบสนองต่อทุกเรื่องร้องเรียนอย่างเร่งด่วน ดูแลผู้บริโภคที่พบปัญหาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างครบวงจร กรณีผู้บริโภคร้อง ใช้เครื่องสำอางของสถานเสริมความงามแล้วแพ้ อย.มีมาตรการตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ ตรวจสอบสถานที่ผลิต สถานประกอบการ และส่งต่อกรณีต้องการเรียกร้องค่าเสียหาย หรือประสานเรื่องไปยังผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ อีกด้วย พร้อมเตือนหากเมื่อใดผู้บริโภคใช้เครื่องสำอางแล้วแพ้ ไม่ควรใช้ต่อ และให้คติประจำใจ “อย่าทนแม้เพียงครั้งเดียว”

    ศ.ดร.ภักดี โพธิศิริ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า การดำเนินการคุ้มครอง ความปลอดภัยของผู้บริโภค เป็นภารกิจที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ให้ความสำคัญ รวมทั้งไม่นิ่งเฉยต่อเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่อาจเป็น อันตรายต่อผู้บริโภค เมื่อได้รับแจ้งเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาผลิตภัณฑ์สุขภาพ อย.มีมาตรการดำเนินการอย่างครบวงจร เริ่มจากการตรวจสอบตามคำร้องเรียนต่างๆ โดยขอให้แจ้งข้อมูลหรือแนบหลักฐานและให้รายละเอียดอย่างชัดเจน เพื่อสามารถติดต่อกลับได้ ซึ่งมีหลายครั้งข้อมูลไม่ชัดเจนหรือไม่ได้ส่งมอบตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่พบ ปัญหาเพื่อตรวจสอบ ทำให้ อย.ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างทันท่วงที เรื่องร้องเรียนต่างๆ อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ อย.จะใช้เวลาในการส่งเรื่องให้กับผู้เกี่ยวข้องภายใน 2 วันทำการ ซึ่งเจ้าหน้าที่ อย. จะตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ ตรวจสอบสถานที่ผลิต และสถานประกอบการ รวมทั้งส่งต่อกรณีที่ผู้ร้องต้องการเรียกร้องค่าเสียหาย หรือประสานผู้เกี่ยวข้องอื่นให้อีกด้วย

    สำหรับกรณีการร้องเรียนของ น.ส.พรพรรณ สีดา นักศึกษามหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งได้ร้องเรียนต่อ อย.ว่า ได้เข้าคอร์สนวดหน้าและทำทรีทเม้นต์ พร้อมทั้งซื้อสมุนไพรไปใช้เองที่บ้าน หลังจากนั้นพบว่า เริ่มมีสิวขึ้นทั่วใบหน้า ผิวเริ่มดำ หน้าหมองคล้ำดำ แสบคันผิว และอักเสบ จนหน้าบวม และเมื่อทำซ้ำยิ่งเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ นั้น อย.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสถานเสริมความงามจันทร์สว่าง สาขาราษฎร์บูรณะ และสาขาพระราม 2 ตามที่ผู้เสียหายได้ร้องเรียนไว้ ซึ่งจากการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ผู้ร้องเรียนใช้ ได้แก่ ครีมแต้มสิว และครีมทาฝ้าสูตร 2 ทดสอบเบื้องต้นหาสารห้ามใช้ ไฮโดรควิโนน และกรดเรทิ-โนอิก ปรากฏว่าไม่พบสารห้ามใช้ดังกล่าว และเมื่อตรวจสอบการแสดงฉลากเครื่องสำอางที่จำหน่ายภายในร้าน พบว่าครบถ้วนถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรม วิทยาศาสตร์การแพทย์ด้วย หากพบว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ก็จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ซึ่งผู้ผลิตที่ นำเข้า ขาย เครื่องสำอางที่ผสมสารห้ามใช้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

    เลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า อาการแพ้เครื่องสำอาง อาจเกิดได้ตั้งแต่ระคายเคือง คัน แสบ ร้อน บวมแดง เป็นผื่น ผิวแห้งแตก ลอก ลมพิษ หรือมีอาการรุนแรงถึงขั้นเป็นแผลพุพอง น้ำเหลืองไหล สาเหตุสำคัญอาจเกิดจากตัวผลิตภัณฑ์ การใช้ที่ผิดวิธี หรือจากตัวผู้บริโภคเอง ซึ่งเมื่อเกิดอาการแพ้ดังกล่าวขอให้หยุดใช้ทันที ถ้าหยุดใช้แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์ผิวหนังเพื่อรักษาอาการ อย่าหลงเชื่อคารมของผู้ขายที่มักอ้างว่า เมื่อใช้เครื่องสำอางแล้วเกิดผื่นแดงนั้นเป็นเพียงการผลัดผิว ให้ใช้ต่อไป ผิวหน้าจะค่อยๆ ดีขึ้น โดยเด็ดขาด เพราะผู้ที่แพ้เครื่องสำอางเมื่อใช้ต่อ จะยิ่งแพ้มากขึ้น อาจถึงขั้นผิวหน้าไม่สามารถกลับคืนมาดีดังเดิมได้ ขอให้ถือคติว่า อย่าทนกับการใช้เครื่องสำอางที่อาจทำให้หน้าเสียโฉมแม้ใช้เพียงครั้งเดียว สำหรับผู้บริโภคที่ไปใช้บริการที่สถานเสริมความงามควรสังเกตว่าเครื่องสำอาง ที่ร้านเสริมสวยใช้นั้นเป็นเครื่องสำอางที่เชื่อถือได้ มีฉลากภาษาไทยที่มีรายละเอียดครบถ้วนถูกต้องหรือไม่ ในส่วนของผู้ประกอบการสถานเสริมความงามต่างๆ ควรระมัดระวังเรื่องความสะอาดของอุปกรณ์ต่างๆ ด้วยเช่นกัน เพราะอาจก่อให้เกิดการปนเปื้อน หรือติดเชื้อได้ รวมทั้งการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางมาจำหน่าย หรือให้บริการลูกค้าในร้าน ต้องซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ มีที่อยู่แน่นอน เพราะหากมีปัญหาจะได้ติดต่อหาผู้รับผิดชอบได้ ทั้งนี้เครื่องสำอางที่ร้องเรียนนี้ จัดเป็นเครื่องสำอางทั่วไป ซึ่งที่ฉลากไม่จำเป็นต้องมีเครื่องหมาย อย. แต่ต้องมีฉลากภาษาไทย ซึ่งบ่งบอกสาระสำคัญของเครื่องสำอางอย่างครบถ้วน เช่น ชื่อและชนิดของเครื่องสำอาง ส่วนประกอบสำคัญ ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต วันเดือนปีที่ผลิต วิธีใช้และปริมาณสุทธิ เครื่องสำอางที่ต้องแสดงเครื่องหมาย อย.บนฉลาก นั้นเป็นเครื่องสำอางที่จัดอยู่ประเภท เครื่องสำอางควบคุมพิเศษ เนื่องจากมีสารควบคุมที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้ เช่น ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ ผลิตภัณฑ์ดัดผม-ยืดผม ผลิตภัณฑ์กำจัดขน เป็นต้น

    ใน กรณีที่เป็นข่าวเครื่องสำอาง 3 ทรีเดย์ ซึ่งเป็นเครื่องสำอางในบัญชีดำ 74 ยี่ห้อ ที่ อย.ได้เคยประกาศห้ามใช้ไปแล้ว พบว่ายังคงมีจำหน่ายที่จังหวัดระยอง อย.จึงได้สั่งการเป็นนโยบายให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยอง เข้มงวดตรวจสอบอีกครั้งแล้ว อย่างไรก็ตามในเรื่องการตรวจสอบเครื่องสำอางต้องห้าม 74 ยี่ห้อนั้น อย.ได้ส่งข้อมูลเป็นแนวทางให้จังหวัดดำเนินการ โดยหากพบให้ยึด อายัด ห้ามขาย ทันที และดำเนินการตามกฎหมายอย่างเร่งด่วน

    เลขาธิการฯ กล่าวย้ำในตอนท้ายว่า การดำเนินการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค เป็นภารกิจที่ อย.ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกเสมอ และไม่นิ่งเฉยต่อเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่อาจเป็นอันตราย ต่อผู้บริโภคเป็นอันขาด ดังนั้น หากพบข้อสงสัยว่า ผลิตภัณฑ์ใดทำให้ผู้บริโภคเกิดความไม่ปลอดภัย ขอได้โปรดแจ้งข้อมูลมายัง อย. ทางหมายเลขโทรศัพท์ 0 2590 7354-5 หรือ ทางสายด่วน อย.1556 หรือส่งจดหมายมายังตู้ปณ.52 ปณจ.นนทบุรี 11000 สำหรับในส่วนภูมิภาค แจ้งได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนั้น ๆ เพื่อทาง อย.หรือทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจะได้เร่งดำเนินการตรวจสอบต่อไป

แสดงความคิดเห็น

กรุณาป้อน Username / Password ที่ท่านได้ลงทะเบียนไว้กับเว็บไซท์แห่งนี้ หรือ สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซท์
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง