บทความ

คาร์บ็อกซี่ หลุมพลางของคนคลั่งผอม

by twoseadj @March,12 2009 01.02 ( IP : 203...20 ) | Tags : บทความ
photo  , 460x322 pixel , 27,504 bytes.

อ้วน เป็นปัญหากวนใจของหลายคน ด้วยเหตุนี้จึงเกิดเทคโนโลยีต่างๆ มากมาย เอาใจคนอยากเพรียว แต่ไม่อยากออกกำลังกาย

เทคโนโลยีที่รู้จักอย่างแพร่หลายในแวดวงความงาม เริ่มจากการดูดไขมัน การผ่าตัดไขมัน    ส่วนเกิน  ไปจนถึงการทำ “ คาร์บ็อกซี่ ” ซึ่งกำลังเป็นที่นิยม และเป็นกระแสมาแรง เนื่องจากมีการโฆษณาชวนเชื่อ อวดอ้างสรรพคุณกันอย่างครึกโครม

แต่ประเด็นสำคัญคือ  ก่อนทำการรักษาคุณรู้จักคาร์บ็อกซี่ดีพอหรือยัง ?

นพ. ชลธิศ  สินรัชตานันท์  นายกสมาคมศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าแห่งประเทศไทย และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านความงามกล่าวถึงกระแสความนิยมของคาร์บ็อกซี่ว่า “ปัจจุบันมีผู้สนใจทำคาร์บ็อกซี่      กันอย่างมากมาย เนื่องจากมีโฆษณาชวนเชื่อว่าสามารถสลายไขมันและเซลลูไลท์เฉพาะส่วนได้ในระยะเวลาไม่นาน และขั้นตอนไม่ยุ่งยาก แต่หารู้ไม่ว่าคาร์บ็อกซี่กำลังเป็นภัยเงียบที่คุกคามผู้บริโภค หากไม่ศึกษาถึงผลกระทบให้ดีก่อนตัดสินใจเข้ารับบริการ  ”

เช่นเดียวกัน รศ.นพ. นิยม  ตันติคุณ  แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า  ฝรั่งเศส คือประเทศแรกที่นำมาใช้ และขยายความนิยมสู่อิตาลี ในปี 1990 จากนั้นได้รับการยอมรับและนิยมใช้อย่างแพร่หลายทั้งในเอเชียและยุโรป

ปัจจุบันเรารู้จักคาร์บ๊อกซี่ (Carboxy) ว่าเป็นนวัตกรรมความงามเพื่อใช้ลดไขมันเฉพาะที่ด้วย      ก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซที่ละลายน้ำได้ดี สลายตัวได้เร็ว และพบว่าเมื่อฉีดคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปยังชั้นไขมันใต้ผิวหนัง จะช่วยเพิ่มการขยายตัวของเส้นเลือดและทำให้เซลล์ไขมันสลายตัวและถูกกำจัดออกไป เป็นเทคนิคใหม่ในการขจัดเซลลูไลท์หรือลดไขมันส่วนเกินในบริเวณที่ไม่ต้องการ  เช่น บริเวณ    หน้าท้อง  ใต้ท้องแขน  สะโพก  น่อง  ต้นขา ฯลฯ

ในวงการแพทย์ มีการนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาใช้อยู่ก่อนแล้ว เช่น การฉีดเข้าช่องท้องขณะส่องกล้องตรวจอวัยวะภายใน ซึ่งหากใช้ในปริมาณที่เหมาะสมจะไม่ส่งผลอันตรายใดต่อร่างกาย เนื่องจากก๊าซออกซิเจนสามารถละลายน้ำได้ดีและสลายตัวได้รวดเร็ว

รศ.นพ. นิยม กล่าวต่อว่า กรรมวิธีในการนำก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ มาใช้นั้น สามารถทำได้โดยแพทย์จะใช้เข็มฉีดยาที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาดเล็กมาก ประมาณ 0.3 มม. สอดเข้าไปในชั้นไขมันใต้ผิวหนัง แล้วปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เข้าไปตามปริมาณที่เหมาะสม โดยขณะที่ก๊าซผ่านเข้าไปสู่ชั้นผิวนั้น      จะรู้สึกอุ่นบริเวณที่ฉีดเล็กน้อย เมื่อคลำผิวบริเวณที่ฉีดจะได้ยินเสียงเหมือนมีก๊าซอยู่ใต้ผิว ลักษณะอาการหลังจากฉีดก๊าซเข้าไปในผิวหนัง อาจมีอาการปวดและรู้สึกตึง  หรือบางรายอาจมีรอยช้ำเกิดขึ้นและก็จะหายไปได้เองในภายหลัง

ทว่า การทำคาร์บ็อกซี่สามารถใช้ได้ผลในการสลายไขมันเฉพาะที่ ลดเฉพาะจุด แต่ไม่สามารถใช้ลดน้ำหนักได้ ที่สำคัญผู้ที่ให้การรักษาควรเป็นแพทย์เท่านั้น  ในส่วนความคงทนในการรักษาขึ้นอยู่กับการดูแลตนเองเช่น การเลือกรับประทานอาหาร  ที่มีประโยชน์และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

กลุ่มเสี่ยงที่ควรหลีกเลี่ยงการฉีดคาร์บ็อกซี่ ได้แก่  ผู้ที่มีปัญหาระบบไหลเวียนเลือดผิดปกติ        ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเลือด โรคเบาหวาน สตรีมีครรภ์ หรือผู้ที่มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ    เพราะหากก๊าซบางส่วนผ่านเข้าไปในระบบไหลเวียนเลือดอาจทำให้อาการดังกล่าวแย่ลง ดังนั้นก่อนปล่อยก๊าซเข้าไปแพทย์จึงต้องมั่นใจว่าก๊าซจะไม่ผ่านเข้าไปในเส้นเลือด

ในปัจจุบันข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่รับรองว่าการทำคาร์บ็อกซี่ปลอดภัยนั้นยังมีน้อย เท่าที่ทำการสืบค้นรายงานทางการแพทย์พบว่า มีเพียง 2 ฉบับเท่านั้น ที่รับรองว่าการทำคาร์บ็อกซี่ได้ผลและส่งผลข้างเคียงน้อย

นายกสมาคมศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าแห่งประเทศไทยย้ำว่า “ การใช้ก๊าซคาร์บอนฉีด      ยังเป็นการทดลอง ยังไม่มีผลรับรองออกมาอย่างเป็นทางการ ทางที่ดีผู้บริโภคควรรอให้มีรายงานทางการแพทย์รับรอง 10 ฉบับขึ้นไป จึงนับว่าปลอดภัย

สำหรับราคาค่าบริการที่มีผลสำคัญต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคนั้น ก็มีการจัดโปรโมชั่นและแพ็คเกจดึงดูดใจที่หลากหลาย อาทิ เลือกใช้บริการ 10 ครั้ง แก้ไขเฉพาะจุดใดจุดหนึ่ง ไม่จำกัดระยะเวลาในการรักษา สนนราคาอยู่ที่ประมาณ 8,900 บาท หรือถ้าอยากประหยัดก็มีให้เลือกแบบบุฟเฟต์ คือ ใช้บริการกี่ครั้งก็ได้ และไม่จำกัดบริเวณที่ทำการรักษา แต่จำกัดระยะเวลาต้องใช้บริการภายใน  1 เดือน สนนราคาอยู่ที่ประมาณ 15,000 บาท  แต่จะถูกหรือแพงอย่างไรถือว่าอยู่ในราคาที่จ่ายไม่ยากจนเกินไป...สำหรับคนคลั่งผอม

แสดงความคิดเห็น

กรุณาป้อน Username / Password ที่ท่านได้ลงทะเบียนไว้กับเว็บไซท์แห่งนี้ หรือ สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซท์
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง