มติบอร์ด สปสช.เสนอนำยาจิตเวชราคาแพง 2 รายการ เข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ
เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า มติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเห็นชอบตามที่คณะอนุกรรมการคัดเลือกยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นและมีปัญหาในการเข้าถึงของประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้บรรจุยาทางด้านจิตเวช 2 รายการ เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ คือ ยาต้านโรคซึมเศร้า เซอร์ทราลีน (Sertraline) และยารักษาโรคจิตเวช ริสเพอริโดน (Risperidone) ซึ่งเคยอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ แต่ภายหลังได้ถูกคัดออกเนื่องจากเป็นยาที่มีราคาแพง ทั้งนี้ จากการตรวจสอบสิทธิบัตรเบื้องต้น พบว่า ยาทั้ง 2 ชนิด ไม่มีสิทธิบัตร ยาริสเพอริโดนหมดสิทธิบัตรไปแล้ว ส่วนยาเซอร์ทราลีนหากยังมีข้อมูลสิทธิบัตรกับบริษัทใดอยู่ คงจะออกมาเรียกร้องหรือติดต่อมากับ สปสช.เอง และถ้าเป็นเช่นนั้นจริงก็จะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนใหม่ประกาศบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (ซีแอล)
นพ.วินัยกล่าวว่า ยา 2 รายการนี้เป็นยาตรงตามความต้องการของผู้ป่วย เพราะราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย มีข้อเสนอให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ผลิตหรือจำหน่ายยา 3 รายการเพื่อให้มีราคาต่ำลง ได้แก่ 1.ริสเพอริโดน 2.เซอร์ทราลีน 3.เมทธิลฟีนิเดท ขณะที่ข้อเสนอจากสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิต เสนอให้มีการแก้ปัญหาการเข้าถึงยา 3 รายการ ได้แก่ 1.ริสเพอริโดน 2.โอแลนซาปีน (Olanzapine) 3.คิวไทเอปีน (Quetiapine) ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตปี 2551 ระบุถึงสถานการณ์โรคทางจิตเวชในประเทศไทย ว่า มีผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการเริ่มต้นถึงรุนแรง ทั้งหมด 20% หรือ 12 ล้านคน โดยเป็นโรคจิตเภทรุนแรงมีผู้ป่วยประมาณ 0.5-1% หรือ 3-6 แสนคน โรคซึมเศร้า ประมาณ 1-2% หรือ 600,000-1.2 ล้านคน และโรคแปรปรวนประมาณ 0.4% หรือ 2.4 แสนคน ซึ่งในจำนวนนี้เข้าถึงบริการสุขภาพมีเพียง 4% หรือ 4.8 แสนคนเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า มีผู้ป่วยยังมีปัญหาในการเข้าถึงยาเนื่องจากยามีราคาแพง ในปี 2552 หากกำหนดให้มีผู้ป่วยเข้าถึงยาอย่างน้อย 10%
นพ.วินัยกล่าวว่า นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการสิทธิประโยชน์ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กำลังพิจารณาขยายสิทธิประโยชน์ของผู้ป่วยจิตเวชในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในเรื่องระยะเวลาการรักษาพยาบาล จากเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกิน 15 วัน ซึ่งการรักษาทางจิตเวชส่วนใหญ่ต้องอาศัยระยะเวลานานเกิน 15 วัน จึงจะหารือกับกรมสุขภาพจิตในการรับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลหากเกินระยะเวลาที่เบิกค่ารักษาพยาบาลเกิน 15 วัน
ด้าน ภญ.สำลี ใจดี ประธานคณะอนุกรรมการคัดเลือกยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นและมีปัญหาในการเข้าถึงของประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า ยาเซอร์ทราลีนที่เป็นต้นตำรับ ราคาเม็ดละ 37 บาท จะมีค่าใช้จ่ายปีละ 13,505 บาทต่อคน แต่ถ้าหาก อภ.ผลิตได้เอง ราคาเม็ดละไม่เกิน 5 บาท ราคาปีละไม่เกิน 1,825 บาทต่อคน ขณะที่ยาริสเพอริโดน ยาต้นตำรับเม็ดละ 58 บาท ต้องทานวันละ 2 เม็ด ค่าใช้จ่ายวันละ 116 บาทต่อคน คิดเป็นปีละ 42,340 บาทต่อคน แต่ถ้าหาก อภ.ผลิตเองจะมีราคาเม็ดละ 4 บาท ค่าใช้จ่ายวันละไม่เกิน 8 บาทต่อคน ปีละไม่เกิน 2,920 บาทต่อคน
นสพ.มติชน 16/12/51
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)