ข้าวกล้องงอก เราเคยอ่านผลงานวิจัยของ ม.เกษตรศาสตร์ ร่วมกับประเทศญี่ปุ่นที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ “ข้าวกล้องงอก” มาบ้างแล้ว ซึ่งเป็นพอจะสรุปคร่าว ๆ ได้ว่ามันเป็นวิธีการที่พยายามทำให้เกิดการงอกจากเมล็ดข้าวกล้อง โดยการนำเมล็ดข้าวกล้องไปแช่น้ำทิ้งไว้จนเกิดการงอก ซึ่งส่วนที่งอกขึ้นมานี้เขาเรียกว่า “คัพภะ” สาเหตุที่ต้องให้เกิดการงอกก่อนแล้วจึงนำมาหุงรับประทาน เนื่องจากทีมวิจัยได้ค้นพบว่าใน “คัพภะ” ของข้าวจะมีสาร GABA ซึ่งสารชนิดนี้มันคือ กรดแกมมา มิโนบิวริทิก (Aminobutyric acid, GABA) จัดอยู่ในกลุ่มโปรตีนที่ช่วยบำรุงเซลล์ประสาท ทั้งยังทำให้สมองเกิดการผ่อนคลายและนอนหลับสบาย
ซึ่งจริง ๆ แล้วถ้าเป็นข้าวกล้องทั่วไปที่เราซื้อมารับประทานและมีจมูกข้าวเป็นส่วนประกอบ แม้ว่าจะยังไม่ผ่านกระบวนการทำให้งอก จะมีสารอาหารมากมายหลายชนิดอยู่เป็นต้นทุนเดิม เช่น ใยอาหาร กรดโฟติก กรดเฟรูลิก วิตามินบี วิตามินอี และ GABA ซึ่งจะช่วยป้องกันโรคต่าง ๆ ได้ เช่น มะเร็ง เบาหวาน และช่วยในการควบคุมน้ำหนักตัว แต่เมื่อนำมาทำให้มันเกิดการงอกก่อนที่จะรับประทานจะทำให้ได้สารอาหารต่าง ๆ เหล่านี้มากขึ้น โดยเฉพาะ GABA จะได้มากกว่าข้าวกล้องตามปกติถึง 15 เท่า สามารถป้องกันการทำลายสมอง ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคสูญเสียความทรงจำ (อัลไซเมอร์) ดังนั้นในต่างประเทศได้นำสาร GABA มาใช้ในวงการแพทย์ เพื่อการรักษาโรคเกี่ยวกับระบบประสาทต่างๆ เช่น โรควิตกกังวล โรคนอนไม่หลับ โรคลมชัก นอกจากนี้การนำเมล็ดข้าวกล้องไปแช่น้ำเพื่อให้เกิดการงอก ยังทำให้เมล็ดข้าวมีความอ่อนนุ่มมากขึ้น รับประทานได้ง่ายขึ้น ในการหุงจึงไม่จำเป็นต้องผสมข้าวชนิดอื่นลงไปด้วย ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวไทย โดยชูสาร GABA เป็นตัวหลักในการโปรโมทถึงผลงานวิจัยในครั้งนี้เลย
ปัจจุบัน “ข้าวกล้องงอก” มีจำหน่ายที่สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยแพ็คเก็จที่จำน่ายเป็นถุง ปริมาณ 4.5 กรัม (เกือบครึ่งกิโลกรัม) ราคา 75.- คำนวนแล้วจะตกอยู่ที่กิโลกรัมละ 167.- ซึ่งจะมีราคาจะแพงกว่าข้าวกล้องทั่วไปประมาณกว่า 3 เท่าตัว แต่กว่าเขาจะผลิตข้าวกล้องงอกพร้อมหุงรับประทานได้ ต้องผ่านหลายขึ้นตอน เริ่มตั้งแต่คัดข้าวกล้องพันธุ์ดีที่ให้สาร GABA มากที่สุด คือข้าวหอมมะลิ 105 และต้องเลือกข้าวกล้องที่ผ่านการกระเทาะเปลือกไม่เกิน 2 สัปดาห์ มาแช่น้ำให้เกิดกระบวนการงอก ต้องมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำเป็นระยะ ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการบูดเน่า เมื่อเกิดการงอกแล้วจึงใช้ความร้อนเพื่อให้หยุดการงอก จากนั้นมาทำให้แห้งเพื่อลดความชื้น แล้วนำมาแพ็คเป็นถุงออกจำหน่าย เพื่ออำนวยความสะดวกให้เรานำไปหุงรับประทานได้ทันที แต่ข้าวงอกที่จำมาจำหน่ายนี้ จะมีส่วนงอกเป็นตุ่มไม่ยาวเหมือนตามภาพของเรา ดังนั้นอาจมองเห็นส่วนงอกไม่ชัดเจน เข้าใจว่าการอบแห้งอาจทำให้มักหักได้ เพราะค่อนข้างเล็กและเปราะบาง
“เพาะข้าวงอก” เนื่องจาก “ข้าวกล้องงอก” ที่มีจำหน่ายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้หมดลงแล้ว ยังไม่ทราบว่าจะสามารถนำมาขายได้อีกเมื่อไหร่ ดังนั้นเราคิดว่าน่าจะลองมาเพาะข้าวกล้องทานเอง ลดต้นทุนได้มาก และยังได้รับประทานข้าวกล้องงอกแบบสด ๆ อีกด้วย แน่นอนว่าของสดมันน่าจะดีกว่าของอบแห้ง เบรคนี้เราว่างจัด จึงชวนพี่น้องมาเพาะข้าวกล้อง ซึ่งเป็นเรื่องที่กำลังอินเทรนในระดับประเทศ และกำลังจะอินเทรนเข้าสู่ระดับโลกในเร็ว ๆ นี้ ดังนั้นมาทำตัวให้อินเทรนกัน โปรเจ็คนี้พระเอกของเราคือข้าวกล้อง นางเอกคือน้ำ และตัวประกอบคือภาชนะ ส่วนผู้กำกับคือตัวของเรา ที่จะต้องทำหน้าที่ควบคุมการงอกให้สำเร็จลุกล่วง เมล็ดข้าวต้องไม่บูดเน่าไปเสียก่อนที่อภิมาหาโปรเจคนี้จะสำเร็จ แต่เนื่องจากทางสถาบันวิจัยบอกว่าควรเป็นข้าวกล้องที่จะนำมาทำให้เกิดกระบวนการงอก ต้องเป็นข้าวกล้องที่ผ่านการกระเทาะเปลือกไม่เกิน 2 สัปดาห์ ซึ่งตรงนี้ไม่ต้องซีเรียส เพราะยังไงเราก้อคงหาข้าวกล้องที่มีระยะเวลาในการกระเทาะเปลือกได้สั้นถึงขนาดนั้นไม่ได้ หรือถ้าได้เราก้อไม่รู้หรอกว่ามันผ่านมาแค่ 2 สัปดาห์จริงหรือไม่ เอาเป็นว่าให้เลือกซื้อข้าวกล้องที่มีการสะพัดซื้อขายมากหน่อย คือจะได้ข้าวที่ไม่เก่าค้างนานจนเกินไป เวลาซื้อข้าวกล้องเราจะซื้อครั้งละ 3 ชนิด โดยเลือกชนิดละ 1 กิโลกรัม เอามาผสมกันทั้งหมด คืออยากได้อะไรก้อซื้อไปเรื่อยเปื่อย และพบว่าเมื่อซื้อข้าวกล้องมาได้สักระยะหนึ่งจะมีมอดขึ้น แสดงว่ามันไม่ผ่านสารรมควันมอด ซึ่งจุดนี้เราไม่ทราบว่าสารรมควันมอดจะมีผลกับการงอกหรือไม่ ข้าวกล้องที่เราซื้อมากินเป็นประจำมักจะประกอบไปด้วย ข้าวมันปูซ้อมมือ ข้าวโอ๊ดซ้อมมือ และข้าวกล้องหอมมะลินิลดำ ซึ่งข้าวหอมมะลินิลดำจะมีราคาสูงสุด ราคาอยู่ที่กิโลละ 75 บาท ส่วนอีกสองชนิดอยู่ที่ราคา 40-45 บาท ปกติเราจะหุงรวมกัน ไม่ผสมข้าวขาวเลย ดังนั้นเราจะเอาข้าวที่มีอยู่ทั้งหมดมาทำการเพาะดูว่าชนิดไหนจะเข้าวินในการงอกได้ดีที่สุด และข้าวชนิดไหนจะถูกโหวตออกเป็นลำดับแรก
เรานำข้าวทั้ง 3 ชนิด ได้แก่ ข้าวกล้องหอมมะลินิลดำ ข้าวมันปูซ้อมมือ และข้าวกล้องโอ๊ด มาใส่ชามอย่างละนิดใส่น้ำแล้วเททิ้ง จากนั้นใส่น้ำอีกครั้งให้ท่วมเมล็ดข้าว แช่ค้างคืนไว้ในอุณหภูมิของห้อง มือใหม่หัดเพาะแบบเราพบว่าข้าวโอ๊ดมีการบูดเน่ามากที่สุด ส่วนข้าวหอมมะลินิลดำตามมาเป็นอันดับที่ 2 สำหรับข้าวมันปูซ้อมมือฉลุยค่ะพี่น้อง ไม่พบการบูดเน่าเลย เราเอาไปเพาะที่ออฟฟิต ระหว่างวันเราจะเดินออกมาเปลี่ยนน้ำบ่อย ๆ ยิ่งถ้าเห็นเริ่มมีฟองต้องรีบเปลี่ยนเลย ซึ่งครั้งแรกของการเพาะเรายังเปลี่ยนน้ำได้ไม่ดีนัก ในการเปลี่ยนน้ำแต่ละครั้งจะเทน้ำเก่าทิ้งไป ใส่น้ำใหม่แล้วเขย่าเล็กน้อยเททิ้งอีกรอบ ถ้าน้ำยังมีปัญหาก้อจะใส่น้ำแล้วเททิ้งอีก จากนั้นใส่น้ำให้ท่วมเมล็ดข้าวตามเดิมแล้วแช่ทิ้งไว้ต่อไป วันที่สองพบการบูดเน่าของข้าวโอ๊ดรุนแรงมาก จึงต้องโหวตข้าวโอ๊ดทิ้งไปเป็นชนิดแรก คงเหลือข้าวหอมมะลินิลดำที่ดูเหมือนจะมีกลิ่นบูดเล็กน้อย จึงต้องทำการเปลี่ยนน้ำบ่อยขึ้น ส่วนข้าวมันปูซ้อมมือปกติดี เราจึงตัดสินใจเอาข้าวแช่น้ำทั้งสองชนิดกลับไปนอนค้างคืนที่บ้านด้วย กว่าจะเข้านอนก้อเปลี่ยนถ่ายน้ำอีกหลายรอบ หลังจาก 2 คืนผ่านไปพบการงอกที่ข้าวมันปูซ้อมมือ สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าชัดเจน และไม่มีกลิ่นบูดเน่าเลย เมื่อดมดูจะได้กลิ่นคล้ายถั่วงอกสด แสดงว่าน่าจะผ่าน ส่วนข้าวมะลิหอมนิลดำมีกลิ่นบูดเน่าเล็กน้อย แต่เรายังคงเพาะต่อไปเป็นคืนที่สาม พบว่าข้าวหอมมะลินิลดำไม่เกิดการงอก ยังคงมีกลิ่นบูดอยู่ เราจึงต้องทำการโหวตออกเป็นลำดับที่สอง ดังนั้นคงเหลือแต่ข้าวมันปูซ้อมมือที่เข้าวินชนะการงอกเพียงชนิดเดียวเท่านั้น สรุปก้อคือเราประสบผลสำเร็จในการเพาะการงอกจากเมล็ดข้าวมันปูซ้อมมือ ภาวะการไม่งอกของข้าวมะลินิลดำและข้าวโอ๊ดซ้อมมืออาจมาจากหลายสาเหตุ แต่เราไม่ใช่นักวิชาการจึงไม่ขอสรุปนะคะ เข้าใจว่าถ้าเราสามารถควบคุมการเปลี่ยนน้ำได้ดีจะไม่เกิดการบูดเน่า แต่กว่าจะรู้หลักในการเปลี่ยนถ่ายน้ำเพื่อยับยั้งการบูดเน่าได้ดีและแม่นยำ คงต้องใช้ประสบการณ์ในการเพาะอีกหลายครั้ง จากภาพเป็นการแช่ที่นานมากกว่า 72 ชั่วโมง ซึ่งการแช่ให้งอกเพื่อรับประทาน ทางทีมวิจัยระบุเวลาในการแช่มากที่สุดคือ 72 ชั่วโมง คือแค่ให้เป็นตุ่มเล็ก ๆ แต่ชุดนี้เป็นการแช่เพื่อทดลอง จึงแช่ต่อไปเรื่อย ๆ พบว่าส่วนที่งอกขึ้นมายังสามารถงอกได้ต่อไปจนย๊าวยาว
หุงข้าวงอก” เมื่อเราพบว่าข้าวมันปูซ้อมมือให้การงอกง่ายที่สุด เราก้อเริ่มเพาะอีกครั้งเพื่อนำมาหุงให้ได้รับประทานกันได้จริง ๆ เราทำเหมือนเดิม ใช้ปริมาณข้าวตามที่ต้องการหุง เราแช่ข้าวไว้ตั้งแต่ก่อนนอนของคืนวันเสาร์ และให้แม่บ้านที่ออฟฟิตหุงให้ในตอนเที่ยงของวันอังคาร มีการเปลี่ยนถ่ายน้ำบ่อยครั้งกว่าเดิม ประมาณว่าเอาให้ชัวร์ไว้ก่อน และจะใช้วิธีดมเป็นหลัก คือถ้าดมแล้วได้กลิ่นเหมือนถั่วงอกสดทำให้มั่นใจว่าน่าจะโอเค เราบอกแม่บ้านว่าตอนหุงให้ใส่น้ำน้อยกว่าปกติ เพราะอันนี้มันผ่านการแช่มา ผลออกพอฟัดพอเหวี่ยง เอาเป็นว่าสุดท้ายมันก้อสุกพร้อมให้เราทดลองชิม ผลการทดลองทานพบว่ารสชาดไม่เสียหายไปจากเดิม แต่ใช้เวลาในการหุงสั้นลง หมายถึงหุงง่ายกว่าเดิม เมล็ดข้าวมีความนุ่มและเหนียวมากขึ้น และหวานกว่าเดิมนิดหน่อย ขณะที่สุกใหม่ ๆ จะเห็นส่วนงอกของข้าวกล้องที่เป็นตุ่มเล็ก ๆ สีขาวชัดเจนพอสมควร แต่พอข้าวเย็นแล้วจะสังเกตุเห็นส่วนงอกยากมาก ภาพข้าวกล้องงอกที่หุงสุกแล้วตามภาพที่สอง ผลการแช่น้ำเพื่อให้เกิดการงอก 3 คืน จะมีลักษณะการงอกยาวไปบ้างแค่บางเมล็ดเหมือนภาพทางซ้ายมือ แต่เมล็ดส่วนใหญ่จะมีการงอกเป็นตุ่มเล็ก ๆ ตามภาพทางขวามือ ซึ่งการงอกแค่ตุ่มเล็ก ๆ เป็นความพอดีสำหรับคุณค่าทางโภชนาการ และเมล็ดที่หักยังคงงอกได้ค่ะ ถือเป็นเรื่องง่าย ๆ สะดวกสะบาย ไม่มีอะไรยุ่งยากเลย พี่น้องลองเพาะเมล็ดข้าวกล้องรับประทานกันดู รับประกันว่าง่ายกว่าการปลูกต้นไม้แยะเลย แต่ถ้าใครต้องการสาร GABA แบบเข้มข้นก้อให้เลือกซื้อข้าวหอมมะลิ 105 มาทำการเพาะ เพราะทีมงานเขาวิจัยมาแล้วว่ามันให้สาร GABA ได้มากที่สุดในบรรดาข้าวสายพันธุ์อื่น แต่สำหรับเราไม่จำเป็นขนาดนั้น เอาเป็นว่าข้าวสายพันธุ์อะไรก้อได้ เพียงแต่ขอให้เป็นข้าวกล้องที่ที่ผ่านการขัดน้อย ๆ และมันสามารถงอกได้ ถือว่าเพียงพอแล้วสำหรับเรา แต่สำหรับในรายที่ยังไม่สามารถทานเพียวข้าวกล้องได้ แม้ว่าจะผ่านการแช่จนเมล็ดนุ่ม 3-4 คืน เราเข้าใจว่าคงต้องหาข้าวขาวมาผสมเพื่อให้ทานง่ายขึ้นอยู่ดี
ลักษณะการงอกของข้าวที่มีคุณค่าทางโภชนาการคือ จะมีการงอกแค่ตุ่มเล็ก ๆ เท่านั้น ไม่ใช่งอกยาวเฟื้อยเหมือนภาพส่วนใหญ่ของเราที่ถ่ายแล้วนำมาลงไว้ในเบรคนี้ แต่ที่นำยาว ๆ มาลง เพราะเราแช่เกินกว่าเวลาที่กำหนดมากเกินไป ทำให้เรามองว่าถ่ายออกมาแล้วอาร์ตดี จึงนำมาประกอบไว้ดูเล่น ซึ่งไฮไลท์ที่สำคัญคือแช่แล้วให้งอกแค่เป็นตุ่มเล็ก ๆ เหมือนเมล็ดทางด้านขวามือของภาพล่างนี้เท่านั้น
ความจริงมีข้าวกล้องมากมายที่ขายอยู่ในท้องตลาด สมัยก่อนชาวบ้านจะใช้วิธีตำด้วยมือเพื่อกระเทาะเปลือก จึงเรียกว่าข้าวซ้อมมือ สมัยใหม่ใช้เครื่องจักรทำ จึงเรียกว่าข้าวกล้อง ปัจจุบันข้าวทุกชนิดจะผ่านขั้นตอนการขัดสีมาทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับว่าขัดมากหรือขัดน้อย ถ้าขัดจนขาวใสจะกลายเป็นข้าวขาว ซึ่งเป็นข้าวพิมพ์นิยมสำหรับคนทั่วโลก แต่ถ้าขัดบ้างเล็กน้อยยังเห็นเมล็ดข้าวเป็นสีน้ำตาลอยู่ หรือขัดมากขึ้นอีกนิดหนึ่ง แต่เมล็ดข้าวยังคงเป็นสีน้ำตาลอยู่ จะเรียกกลุ่มนี้ว่าข้าวกล้องทั้งหมด ซึ่งมันก้อมาจากข้าวในพันธุ์กลุ่มเดียวกัน อยู่ที่ว่าจะมันเป็นพันธุ์อะไรก้อเท่านั้นเอง เช่น ข้าวหอมมะลิ ก้ออาจมีทั้งข้าวขาวและข้าวกล้อง ฯลฯ ยังมีข้าวอีกกลุ่มหนึ่งที่มีสีเข้ม เช่น ข้าวหอมนิลดำ มีสีน้ำตาลมืดจนเกือบเป็นสีดำ หรือข้าวมันปู จะมีความมันและสีแดงเข้ม ข้าวกลุ่มนี้จะมีสีของเยื่อหุ้มเมล็ด (รำ) ที่มีสีเข้มตามไปด้วย นอกจากนี้ยังมีข้าวบาเลย์ ข้าวโอ๊ด ฯลฯ ซึ่งข้าวทุกชนิดถ้าผ่านการขัดสีแต่เพียงน้อยที่เรียกว่าข้าวกล้องนี้ ถือมีประโยชน์ทั้งนั้น ใครชอบแบบไหนก้อเลือกมารับประทานได้ตามสะดวก เพียงแค่ใช้ข้าวที่มีอยู่มาทำให้เกิดการงอก แค่นี้จะได้สารเพิ่มขึ้นอีกมากมาย กำไรเพื่อสุขภาพล้วน ๆ โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่ม กรณีที่ซื้อข้าวกล้องมาแช่น้ำแล้วไม่เกิดการงอก ก้อไม่ต้องซีเรียส เพราะยังสามารถนำมาหุงรับประทานในรูปแบบไม่งอกได้ ขอให้เพื่อนที่อินเทรนกันทุกคน สนุกกับการเพาะข้าวกล้องให้เกิดเป็น "ข้าวกล้องงอก" เพื่อสุขภาพที่อ่อนเยาว์กันทุกคน
Relate topics
- รณรงค์เลิกใช้โฟม
- รายการสงขลามหาชน ตัวอย่างอาหารของแม่ ตอน " บทบาทของพ่อ " อาหารของแม่ สร้างความอบอุ่นของครอบครัวกับมื้ออร่อยที่แม่บรรจงปรุงเพื่อลูก
- ข่าวดีจะดัง ตอนที่ 265 โรงเรียนสุขภาพดี ของ อบต.ควนรู( http://youtu.be/KsuLA7Fguy8 )
- ข่าวดีจะดัง ตอนที่ 265 โรงเรียนสุขภาพดี ของ อบต.ควนรู(7 เม.ย 5…: http://youtu.be/KsuLA7Fguy8 )
- รายการอาหารของแม่ ตอน " อาหารคือภาคีและพื้นที่ " เปิดอร่อยด้วย ยำบัวบก สูตรสมุนไพรภูมิปัญญาถิ่น อบต.ท่าข้าม ของป้ายุพา ผลชนะ