เตือน ... ระวัง ! อันตรายลูกอมปิศาจ ระวังอย่าให้ลูกหลานซื้อมากิน เพราะอาจได้รับอันตรายได้
นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับกรณี ที่มีข่าวปรากฎทางสื่อมวลชนว่า มีเด็กนักเรียนจำนวนหนึ่ง รับประทานลูกอมเข้าไปแล้ว เกิดอาการป่วย คลื่นไส้ อาเจียน นั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เร่งดำเนินการตรวจสอบแล้ว ทั้งนี้ จากการประสานกับโรงพยาบาลบ้านโป่ง พบว่า เด็กนักเรียนที่เกิดอาการเจ็บป่วย ได้ให้ประวัติว่าอมลูกอมยี่ห้อ GREAT MONSTER หรือที่เด็กๆ เรียกกันว่า “ลูกอมปิศาจ” ทุกราย
จึงได้นำส่งตัวอย่างลูกอมดังกล่าวตรวจวิเคราะห์ เพื่อหาโลหะหนัก และ สีที่เป็นอันตรายต่อร่างกายแล้ว ซึ่งกรณีลูกอมปิศาจนี้ ได้เคยเกิดระบาดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว และ ทาง อย.ได้ดำเนินการตรวจสอบตามสถานที่จำหน่ายต่างๆ มาโดยตลอด และล่าสุด เมื่อเดือนกรกฎาคม 2543 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ ได้ดำเนินการจับกุม และ ดำเนินคดีกับผู้จำหน่ายรายหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินคดี จึงขอเตือนมายังผู้จำหน่าย โปรดอย่ารับลูกอมดังกล่าวมาจำหน่าย เพราะอาจเป็นอันตรายอย่างมากกับผู้บริโภค สำหรับผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์นี้ หากผลวิเคราะห์จัดเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 2 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ แต่หากจัดเป็นอาหารผิดมาตรฐาน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท
รองเลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า สำหรับในส่วนของประชาชน โดยเฉพาะครูและผู้ปกครองของเด็กนักเรียน ขอให้ช่วยกวดขัน ดูแลไม่ให้เด็กนักเรียนซื้อลูกอมเหล่านี้มาบริโภค เพราะถึงแม้สีในลูกอมจะเป็นสีผสมอาหาร ก็อาจทำให้ได้รับอันตรายจากสีที่มีปริมาณมาก และ หากบริโภคเป็นเวลานาน อาจเกิดการสะสมของโลหะหนักในร่างกาย ทำให้เกิดอาการพิษจากโลหะหนัก เช่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ชีพจร และ การหายใจอ่อนลง
ทั้งยังเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งอีกด้วย นอกจากนี้ หากประชาชนท่านใด พบเห็นแหล่งผลิต หรือ จำหน่ายลูกอมดังกล่าว โปรดแจ้งมาที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โทร. 5907354-5 หรือ ฝากข้อความในสายด่วนผู้บริโภคกับ อย. หมายเลข 1556 กดต่อ 1005 เพื่อ อย.จะได้ดำเนินการกวาดล้างผู้ทำผิดตามกฎหมายต่อไป สำหรับในต่างจังหวัด สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนั้นๆ
ที่มา : ข่าวเพื่อสื่อมวลชน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ข่าวแจก 151/ สค.43
เกร็ดความรู้
ลูกอม เป็นขนมหวานประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมากในบรรดาเด็ก ๆ และวัยรุ่น ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีการจำหน่ายในท้องตลาดกันอย่างกว้างขวาง ลูกอมเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบหลัก ๆ ได้แก่ สารให้ความหวาน, สารแต่งรสหรือ กลิ่น, สารแต่งสี และอื่น ๆ สารให้ความหวาน ได้แก่ น้ำตาลทราย กลูโคสไซรัป รวมทั้ง น้ำตาล แอลกอฮอล์ เช่น ซอร์บิทอล แมนนิทอล โดยจะมีผลต่อความหวาน รวมทั้งความใสของลูกอมด้วยสารแต่งรสหรือกลิ่น ได้แก่ วัตถุแต่งกลิ่นรส ทั้งที่เป็นธรรมชาติ เช่น น้ำมันยูคาลิปตัส น้ำมันจากเปลือกส้ม หรือจากการใช้สารเคมีผสมให้เกิดกลิ่นที่ต้องการ เช่น ครีมโซดา กลิ่นองุ่น หรือส่วนประกอบที่แต่งกลิ่นรสได้ เช่น กาแฟผง หรือนมผง ในลูกอมรส กาแฟ หรือท๊อฟฟี่นม เป็นต้น
สารแต่งสี ลูกอมโดยปกติจะเกิดสีน้ำตาล อันเนื่องจากความร้อน ที่ใช้ในการผลิตในช่วงเคี่ยวน้ำตาล แต่บางครั้งผู้ผลิตจำเป็นต้องใส่สีต่าง ๆ เพื่อดึงดูดใจของผู้ซื้อ เช่น แต่ง สีแดง สำหรับลูกอมกลิ่น สตรอเบอร์รี่ เป็นต้น
ส่วนประกอบอื่น ๆ ได้แก่ กรดอินทรีย์ กรดที่นิยมใช้ในการผลิตลูกอม ได้แก่ กรดซิตริก กรดตาร์ตาริก และกรดมาลิก โดยใช้เพื่อควบคุมความหวาน แต่งรสและยืดอายุการเก็บผลิตภัณฑ์
สีที่กฎหมายอนุญาตให้ใช้ผสมในขนมเด็กมี 2 ชนิด 1. สีจากธรรมชาติ เป็นสีที่ได้จากพืช จึงเป็นสีที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับใช้ผสม ในขนมเด็ก เพื่อให้มีกลิ่นหอมน่ารับประทาน เช่น สีเขียวจากใบเตย 2. สีผสมอาหาร ได้จากการสังเคราะห์สารเคมี เนื่องจากการใช้สีธรรมชาติอาจไม่สะดวก จึงได้มีการผลิตสีสังเคราะห์สำหรับผสมอาหารแทนการใช้สีจาก ธรรมชาติแม้กฎหมายกำหนดอนุญาตให้ใช้สีสังเคราะห์สำหรับผสมอาหารได้ แต่หากใช้ใน ปริมาณมากและบ่อยครั้ง ก็อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ ร่างกายได้
อันตรายจากสีที่ไม่อนุญาตให้ใช้ผสมอาหาร
สำหรับสีที่ไม่อนุญาตให้ใช้ผสมอาหาร เช่น สีย้อมผ้า ฯลฯ จะมีโลหะหนักปะปนอยู่ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ดังนี้
- อันตรายจากพิษของตัวสีเอง สีต่าง ๆ ที่ไม่ได้เป็นสีผสมอาหาร ส่วนใหญ่มักจะเป็นสีที่ก่อให้เกิดมะเร็ง หรือเนื้องอกที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย โดยเฉพาะที่ระบบทางเดินอาหารและกระเพาะปัสสาวะ
- อันตรายที่เกิดจากสารไม่บริสุทธิ์ในสีนั้นๆ สิ่งที่สำคัญ คือ โลหะหนัก เพราะสีส่วนใหญ่ จะมีโลหะหนักเป็นส่วนประกอบ เช่น โครเมี่ยม ตะกั่ว สารหนู ปนอยู่เสมอ การได้รับโลหะหนักเข้าไปในร่างกายมาก ๆ หรือเป็นประจำ อาจเป็นอันตรายร้ายแรงได้ เช่น ถ้าได้รับสารตะกั่วนาน ๆ จะทำให้เกิดโลหิตจาง และเป็นโรคพิษตะกั่ว
ที่มา http://www.ryt9.com , http://www.geocities.com/nkp_pharmacy , http://newsser.fda.moph.go.th , http://www.fda.moph.go.th
สรุปประเด็นและเสนอแนะโดย นศ.คณะเภสัชศาสตร์ (5110710018)
วิธีการแก้ปัญหา
- ผู้บริโภคควรตรวจดูว่าลูกอมหรือผลิตภัณฑ์นั้นมีเครื่องหมายอย.หรือไม่ โดยฉลากของลูกอมที่จำหน่ายโดยตรงต่อผู้บริโภคต้องมีข้อความเป็นภาษาไทย แต่จะมีภาษาต่างประเทศด้วยก็ได้
- การเลือกซื้อลูกอมผู้บริโภคควรสังเกตภาชนะบรรจุ ไม่ว่าจะเป็นกล่อง ห่อ ซอง จะต้องสะอาด ไม่เก่าหรือฉีกขาด ถ้าเป็นพลาสติก ส่วนที่สัมผัสกับลูกอมจะต้องไม่มีสี
- ผู้บริโภคควรสังเกตด้วยว่าขณะที่รับประทานลูกอม ลูกอมที่ดีต้องไม่มีกลิ่น มีรส ผิดปกติหรือไม่
- การที่จะบริโภคลูกอมต่าง ๆ ก็ควรที่จะเลือกชนิดที่มีสีอ่อน ๆ หรือถ้าเป็นไปได้ควรเลือกที่ไม่มีสีเลยจะดีกว่า
- ผู้ผลิตควรตระหนักถึงส่วนประกอบที่จะนำมาผลิตว่ามีอันตรายต่อผู้บริโภคหรือไม่
- หน่วยงานของราชการที่เกี่ยวข้องด้านนี้ควรตรวจสอบริษัทผู้ผลิตอย่างจริงจังและสม่ำเสมอ
- ผู้ปกครองควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดและบอกถึงอันตรายจากการรับประทานลูกอมเหล่านี้เข้าไป
- ควรจะมีกฎหมายหรือบทลงโทษอย่างจริงจังเมื่อมีผู้กระทำผิด
- รัฐบาลควรจะมีการสนับสนุนให้ผู้ผลิตใช้ส่วนประกอบที่มีจากธรรมชาติ ยังช่วยเป็นการลดต้นทุนและปลอดภัยต่อผู้บริโภคอีกด้วย
- ผู้บริโภคที่เห็นผลิตภัณฑ์ชิ้นไหนตามท้องตลาดที่ไม่เหมาะสมสำหรับเด็กควรที่จะแจ้งต่อหน่วยงานของทางราชการโดยด่วน
- บริษัทกาแฟควรให้ข้อมูลที่เป็นจริงแก่ประชาชน
Relate topics
- เปิดศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ต.ควนรู อ.รัตภูมิ จ.สงขลา
- ตลาดนัดอุทยานอาหาร “วิถีแห่งสุขภาพ วิถีแห่งวัฒนธรรม”
- ศึกษาดูงานโครงการพัฒนาระบบและกลไกเพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัย
- หาดใหญ่จัดงานเทศกาลอาหารหรอย ผลไม้อร่อย ครั้งที่ 2 หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ
- อึ้ง! “น้ำมันทอดซ้ำ” หายเกลี้ยงเหลือทำไบโอดีเซลแค่ 5%