อย. เผย ปี ’51 พบการโฆษณาขายยาทางอินเทอร์เน็ตในลักษณะผิดกฎหมายแล้ว จำนวน 108
เว็บไซต์ 99 เว็บบอร์ด เตือนผู้บริโภค อย่าสั่งซื้อยาผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ยาอวดอ้าง สรรพคุณทางเพศ เพราะอาจเสียเงินจำนวนมาก แถมได้รับยาปลอม ยาเสื่อมคุณภาพ เป็นอันตรายต่อชีวิต ย้ำ อย. ตรวจสอบเข้มมิให้ลักลอบจำหน่ายยาผิดกฎหมายมาตลอด
นายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏข่าว
ทางหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับเกี่ยวกับผลวิจัย เรื่อง “ยาออนไลน์ ประดิษฐกรรมเรื่องเพศ” ว่ามีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ยา ที่นำมาเพื่อวัตถุประสงค์ทางเพศจำนวนมากทางอินเทอร์เน็ต นั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอแจ้งว่า ได้มีการตรวจสอบการลักลอบจำหน่ายและลักลอบโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางอินเทอร์เน็ตอย่างสม่ำเสมอ และเมื่อวานนี้ (13 ตุลาคม 2551) ได้ตรวจสอบการโฆษณาขายยาที่อวดอ้างว่าเป็นยาปลุกเซ็กซ์ทางเว็บไซต์ พบว่า มีการโฆษณาจำนวน 4 เว็บไซต์ ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นผู้โฆษณารายเดียวกัน และมีการโฆษณาทางเว็บบอร์ดด้วย
ซึ่งการโฆษณาดังกล่าวจัดเป็นการโฆษณาขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาตและเป็นการโฆษณาที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นยาบำรุงกาม อีกทั้ง อย.ยังไม่เคยมีการขึ้นทะเบียนตำรับยาที่มีข้อบ่งใช้เป็นยาปลุกเซ็กซ์ หรือเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ หรือยาบำรุงกาม แต่อย่างใด สำหรับเรื่องดังกล่าวนี้ อย.ได้ตรวจพบที่อยู่ของผู้โฆษณาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ ดังนั้น จะเร่งตรวจสถานที่เพื่อรวบรวมหลักฐานดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวด โดยมีโทษปรับถึง 100,000 บาท ซึ่งที่ผ่านมา อย. ได้ร่วมจับกุมโดยประสานกับตำรวจและผู้เสียหายที่เป็นบริษัทเจ้าของแบรนด์แล้ว 10 ครั้ง นอกจากนี้ ได้สั่งให้แจ้งระงับการโฆษณาในปี 2551 จำนวน 1 รายการและยังได้ประสานกับกระทรวง ICT ให้ปิดกั้นเว็บไซต์กรณีผู้โฆษณาเป็นเจ้าของเว็บไซต์ และในส่วนของการโฆษณาขายยาผ่านทางฟรีเว็บไซต์ หรือทางเว็บบอร์ด
ทาง อย. ได้แจ้งไปยังเว็บมาสเตอร์ (web master) ให้ลบข้อความโฆษณาขายยาที่ไม่ถูกต้องทันที ซึ่งจากข้อมูลการติดตามการแจ้งลบข้อความทางอินเทอร์เน็ตที่ให้พื้นที่โฆษณาฟรี มีจำนวน 108 เว็บไซต์ จำนวนที่ยังไม่ลบ 52 เว็บไซต์ และที่ลบแล้ว 56 เว็บไซต์ สำหรับการโฆษณาขายยาทางเว็บบอร์ดมีจำนวน 99 เว็บบอร์ด จำนวนที่ยังไม่ลบ 44 เว็บบอร์ด และที่ลบแล้ว 55 เว็บบอร์ด ทั้งนี้อย. จะได้มีการดำเนินการต่อไป ขอให้ผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อพ่อค้าหัวใสที่โฆษณาขายยาอวดอ้างสรรพคุณทางเพศในรูปแบบต่างๆ ผ่านทางอินเตอร์เน็ตเด็ดขาด
เพราะนอกจากเสียเงินจำนวนมากแล้ว ยังอาจต้องเสี่ยงกับการใช้ยานั้น เพราะไม่ได้อยู่ภายใต้การสั่งจ่ายโดยแพทย์หรือควบคุมโดยเภสัชกร และไม่มีใครสามารถรับรองความปลอดภัยและประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ยาดังกล่าวได้ ที่สำคัญ อาจเป็นยาปลอมและยาเสื่อมคุณภาพ ซึ่งทำให้ผู้บริโภคขาดโอกาสในการรักษาโรคที่ถูกต้องและอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการกระทำที่ผิดกฎหมายด้วย
เลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า อย. มีมาตรการในการเฝ้าระวังติดตามตรวจสอบการโฆษณาขายยาทางเว็บไซต์อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง โดยร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เช่น สคบ. กสท. และ ICT และอาศัยเครือข่ายช่วยตรวจสอบ ทั้งข้อมูลจากนักวิชาการ ผู้บริโภค และหน่วยงานส่วนภูมิภาค ส่งให้ อย. ดำเนินการอย่างรวดเร็วในเรื่องดังกล่าว แต่การดำเนินการปราบปรามอาจจะยังไม่ครอบคลุม จึงขอความร่วมมือให้ผู้บริโภคช่วยเป็นหูเป็นตา หากพบเห็นเว็บไซต์โฆษณาขายยา ขอได้โปรดร้องเรียนมายังสายด่วน อย. 1556 เพื่อ อย.จะได้เร่งตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดได้อย่างทันท่วงที
ที่มา กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค 13 ตุลาคม 2551 ข่าวแจก 8 / ปีงบประมาณ 2552
สรุปประเด็นและเสนอแนะโดย นศ.คณะเภสัชศาสตร์ (5110710016)
Relate topics
- เครือข่ายผู้หญิงร้องทบทวนฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูก-รมช.สธ.ยันจำเป็น
- นัก กม.อินเดีย ยัน ซีแอล ทำให้ยาถูกลง อย่าหลงเชื่อ บ.ยาข้ามชาติ
- กรณีศึกษา อย.เตือนยาคีไตรโซนผิดมาตรฐาน-อันตราย สั่งเก็บทุกสถานพยาบาล
- กรณีศึกษา อย.เผยพบแบคทีเรียปนเปื้อน “น้ำยาบ้วนปากออรัล-บี” เตือน ปชช.ระงับใช้
- กรณีศึกษา สลด!! ว่าที่ "นิสิตเภสัช" ม.มหาสารคาม กินยาลดความอ้วนดับ น้องสาวเผยกลัวใส่ชุดไม่สวย