นโยบายกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกรณีโครงการอาหารปลอดภัย ยังมีปัญหาให้ต้องเฝ้าระวังตลอดเวลา เพราะความเห็นแก่ตัวของคนทำมาค้าขาย คนซื้อถูกขายแพงหวังแต่ผลกำไร แต่ไม่คำนึงถึงสุขภาพและความปลอดภัยผู้บริโภค ดังเรื่องที่มีการร้องเรียนในจังหวัดเชียงใหม่เมื่อเดือนที่แล้ว และ นพ.รัฐวุฒิ สุขมี สาธารณสุขจังหวัดชี้แจงว่า ผู้บริโภคร้องเรียนเรื่องการจำหน่ายปลาปักเป้าตามตลาดสด ซึ่งเรียกกันตามท้องตลาดว่าปลาเนื้อไก่ เป็นปลาที่มีสารพิษชื่อว่า เตโตรโดท็อกซิน (Tetrodotoxin) พิษมีมากที่สุดในหนังปลา รองลงมาเป็นไข่ปลา เนื้อปลา ตับ และลำไส้ตามลำดับ ผู้ที่ได้รับพิษจะมีอาการหลังจากรับประทานประมาณ 10-45 นาที บางรายอาจนานถึง 4 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับปริมาณของพิษที่ผู้ป่วยได้รับเข้าไป โดยจะมีอาการชาที่ริมฝีปาก ลิ้น บริเวณใบหน้า ปลายนิ้วมือ คลื่นไส้ อาเจียน บางรายมีอาการรุนแรงถึงขั้นกล้ามเนื้อเป็นอัมพาต หายใจไม่ออก ไม่รู้สึกตัว รูม่านตาขยายและไม่มีปฏิกิริยาต่อแสง ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง หัวใจจะหยุดเต้นและเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็วได้
ทั้งนี้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ได้ตรวจสอบพบผู้ป่วยหลายรายจากการบริโภคข้าวต้ม โจ๊ก และอาหารตามสั่งอื่นๆ ที่ทำจากปลาปักเป้า แต่เรียกชื่อว่าปลาเนื้อไก่ บ้างก็เรียกว่าปลานกแก้ว จึงได้ออกตรวจและตักเตือนแหล่งขายปลาดังกล่าว ซึ่งมีรายใหญ่อยู่ในตลาดสดขายส่งย่านเมืองใหม่ ไม่ให้นำปลาปักเป้ามาจำหน่าย เพราะหากไม่มีผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมในการคัดเลือกแยกเนื้อปลา จะมีโอกาสเสี่ยงอย่างมาก เพราะผู้บริโภคอาจจะได้รับสารพิษเตโตรโคท็อกซิน และก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ อีกทั้งสารพิษนี้มีความทนต่อความร้อนสูง ขอให้ผู้บริโภคหลีกเลี่ยงการซื้อเนื้อปลาที่แล่สำเร็จรูป โดยไม่ทราบชนิดของปลาที่ชัดเจนมาปรุงอาหาร ซึ่งต่อมาสาธารณสุขจังหวัดได้ตั้งทีมเฉพาะกิจ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกตรวจตลาดและร้านอาหารที่ใช้ปลาเป็นส่วนประกอบอาหารทั้งหมด เช่น ร้านสุกี้ ร้านหมูกระทะบุฟเฟ่ท์ ว่ามีการใช้เนื้อปลาปักเป้าในการปรุงอาหารหรือไม่ ถ้าพบฝ่าฝืนครั้งแรกจะตักเตือนให้ปฏิบัติตามกฎหมายก่อน แต่หากตรวจพบครั้งที่ 2 จะดำเนินคดีตามกฎหมาอย่างเฉียบขาดต่อไป
ดังนั้นประชาชนผู้บริโภคจึงควรเข้าใจ และหลีกเลี่ยงการบริโภคเนื้อปลาดังกล่าว ซึ่งเนื้อปลาปักเป้าหรือปลาเนื้อไก่ ปลานกแก้ว สังเกตง่ายเนื้อปลาคล้ายเนื้อไก่ส่วนอก เนื้อปลาจะไม่มีหนังปลาติดอยู่เหมือนปลาทั่วไป การขายเนื้อปลาประเภทนี้มีหลายแบบ เช่น ขายเป็นเนื้อปลาล้วนๆ วางเป็นกองๆ หรือแพ็คเป็นถุง ผู้จ่ายตลาดไปปรุงอาหารเองหรือทำขายต้องเลือกซื้อเลือกรับประทานปลาที่ปลอดภัย นอกจากนั้นแล้วเจ้าหน้าที่จะต้องหมั่นออกตรวจตลาด ว่ายังมีพ่อค้าเห็นแก่ได้ นำเนื้อปลาพิษมาจำหน่ายอีกหรือไม่ บางทีอาจจะหลบเลี่ยงขายในเมือง แต่นำไปเร่ขายตามอำเภอรอบนอกที่ชาวบ้านไม่ทราบที่ไปที่มาก็ได้ รวมทั้งการนำไปปรุงอาหารขายถูกๆ เหล่านี้ต้องบอกกล่าวให้ทราบกันอย่างกว้างขวาง และหากพบผู้บริโภคได้รับพิษจากการบริโภคปลาอันตรายให้รีบนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วนที่สุด นอกจากนั้นควรทราบแหล่งที่มาของปลาดังกล่าว ทั้งนี้ผู้ฝ่าฝืนจำหน่ายจะมีความผิดข้อหาจำหน่ายปลาปักเป้า มีบทลงโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 2 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ.
คณะแพทย์ จุฬาฯ เผยพิษปลาปักเป้าคร่าชีวิต 15 ราย ป่วย 115 ราย เตือนผู้บริโภคใช้วิจารณญาณเลือกซื้อ หลังพบพ่อค้านำมาแล่ขายโดยหลอกลวงเป็นปลาชนิดอื่น แถมบางร้านย้อมสีจนคล้ายปลาแซลมอน ระบุพบมากตามร้านหมูกระทะทั่วไป
ชี้ปัจจุบันเนื้อปลาปักเป้าเป็นส่วนผสมของอาหารหลายชนิด แม้แต่เนื้อปลาในห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ อาจมีปักเป้ารวมอยู่ด้วย การแสวงหาผลกำไรที่มุ่งแต่ประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยต่อชีวิตของผู้บริโภคยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของบรรดาพ่อค้าแม่ค้าบางราย ที่นำปลาปักเป้ามีพิษออกมาแล่ขาย โดยหลอกลวงประชาชนให้เข้าใจผิดว่าเป็นเนื้อปลาชนิดอื่น ทั้งนี้ จากการกระทำที่ขาดความยั้งคิดในเรื่องดังกล่าว ล่าสุด มีผลวิจัยออกมาระบุว่า ตั้งแต่ปี 2547-2550 มีผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากการบริโภคปลาปักเป้าที่มีพิษ 15 คน เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จัดอภิปรายพิเศษ ฉลอง 60 ปีแพทย์จุฬาฯ เรื่อง “พิษจากปลาปักเป้า : มหันตภัยใกล้ตัวในอาหาร” รศ.นพ.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2547-2550 มีผู้ป่วยโรคพิษปลาปักเป้าทะเล 95 ราย ปลาปักเป้าน้ำจืด 13 ราย ไม่ทราบ 7 ราย รวม 115 ราย
ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 15 คน จังหวัดที่มีผู้ได้รับโรคพิษจากปลาปักเป้ามากที่สุด คือ ชลบุรี 46 ราย เสียชีวิต 4 คน รองลงมาได้แก่ กรุงเทพมหานคร 35 ราย สตูล 10 ราย ขอนแก่น 9 ราย สมุทรปราการ 7 ราย สมุทรสงคราม 4 ราย ชัยภูมิ 2 ราย เชียงใหม่ 2 ราย และไม่ทราบจังหวัดอีก 7 ราย
ส่วนอาหารที่นิยมนำปลาปักเป้ามาประกอบ ได้แก่ ไข่ปลาทอด/ต้ม ปลาทอด/ปิ้ง/ย่าง ต้มยำปลา ก๋วยเตี๋ยวปลา ต้มยำไข่ปลา ปลาผัดขึ้นฉ่าย เป็นต้น
นอกจากนี้ จากการตรวจสอบพบว่า มีร้านค้าบางแห่งนำเนื้อปักเป้าไปย้อมให้มีลักษณะคล้ายปลาแซลมอน โดยจะใช้สีผสมอาหาร ทำให้สีของเนื้อปลาเป็นสีทองคล้ายเนื้อปลาแซลมอน ซึ่งจะพบมากในร้านอาหารหมูกระทะและจิ้มจุ่ม ดังนั้น จึงฝากเตือนประชาชนทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ชอบกินอาหารตามร้านหมูกระทะ ต้องดูให้แน่ชัดว่าเป็นปลาชนิดใดก่อนบริโภค อาการของผู้ป่วยที่รับพิษปลาปักเป้าจะเกิดขึ้น หลังจากรับประทานไปแล้ว 10-45 นาที แต่บางรายอาจนานถึง 4 ชั่วโมง โดยแบ่งเป็น 4 ระยะ ดังนี้
อาการระยะแรก ผู้ป่วยจะชาริมฝีปาก ลิ้น ใบหน้า ปลายนิ้วมือ คลื่นไส้ อาเจียน
ระยะที่สอง จะมีอาการชามากขึ้น อ่อนเพลีย แขน-ขาไม่มีแรง เดินหรือยืนไม่ได้
ส่วนระยะที่สาม กล้ามเนื้อของผู้ป่วยจะกระตุกคล้ายชัก เดินเซ มึน พูดลำบากถึงพูดไม่ได้ เวียนศีรษะ กล้ามเนื้ออ่อนแรง และขั้นรุนแรงม่านตาขยายไม่ตอบสนอง ความดันสูงชั่วคราว กล้ามเนื้อลูกตาอัมพาต หัวใจเต้นช้า หายใจไม่ออก หมดสติ หรือเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม อาการเหล่านี้จะดีขึ้นอย่างรวดเร็วหลังได้รับการดูแลรักษา
รศ.นพ.นรินทร์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันยังไม่มียาแก้พิษปลาปักเป้าได้ จึงใช้วิธีการรักษาตามอาการของผู้ป่วย ซึ่งทางการแพทย์จะให้การดูแลรักษาผู้ป่วยแบบประคับประคอง กระทั่งพิษถูกขับออกไปจากร่างกายทางไต ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นเป็นปกติ
ที่มา หนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ , http://www.arunsawat.com , http://www.lannacorner.net
สรุปประเด็นและเสนอแนะโดย นศ.คณะเภสัชศาสตร์ (5110710015)
การจัดการปัญหาของผลิตภัณฑ์สุขภาพ
- ผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยงการรับประทานปลาปักเป้าทุกชนิด ทั้งนี้ ในกรณีปลาที่จะซื้อกินมีลักษณะที่น่าสงสัยว่าเป็นปลาปักเป้า คือ เนื้อขาวคล้ายเนื้อไก่ ไม่มีหนัง ราคาถูกประมาณ 30-70 บาทต่อกิโลกรัม หรือปลาที่ใช้ชื่อว่า ปลาเนื้อไก่ ปลาช่อนทะเล ก็ไม่ควรซื้อมารับประทาน เพราะพิษจากปลาปักเป้าไม่สามารถทำลายได้ด้วยความร้อน ดังนั้น แม้ผ่านการต้ม ทอด ย่างก็ยังไม่สามารถรับประทานได้
- เมื่อผู้บริโภคไปซื้อปลาตามท้องตลาด หรือที่ไหนก็ตาม หากไม่เห็นลักษณะของตัวปลา หรือเป็นเนื้อปลาที่ไม่มีหนัง ให้สงสัยไว้ก่อนว่ามีโอกาสเป็นปลาปักเป้า
- หลีกเลี่ยงรับประทานอาหารที่มีความเสี่ยง ที่นิยมนำปลาปักเป้ามาประกอบ ได้แก่ ไข่ปลาทอด/ต้ม ปลาทอด/ปิ้ง/ย่าง ต้มยำปลา ก๋วยเตี๋ยวปลา ต้มยำไข่ปลา ปลาผัดขึ้นฉ่าย เป็นต้น
- องค์การอาหารและยา(อย.) หรือกระทรวงสาธารณสุขควรมีมาตรการลงโทษ ผู้ที่กระทำผิด ผลิต นำเข้าหรือจำหน่ายปลาปักเป้า อย่างเด็ดขาด และหมั่นลงพื้นที่ตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
- ผู้บริโภคควรศึกษาการสังเกตเนื้อปลาปักเป้าด้วยตนเอง ซึ่งมีวิธีสังเกตง่ายๆคือ เนื้อปลาปักเป้าเมื่อแล่แล้วจะมีลักษณะเป็นชิ้นหนา สีออกขาวอมชมพู มัดกล้ามเนื้อ มีขนาดใหญ่มองเห็นได้ชัดเจน ด้านข้างลำตัวเมื่อลอกหนังออกจะมีพังผืดติดอยู่เมื่อเปรียบเทียบเนื้อปลาปักเป้ากับเนื้อปลากะพง พบว่าเนื้อปลากะพงจะมีลักษณะเป็น ชิ้นที่บางกว่า มัดกล้ามเนื้อมีขนาดเล็กกว่า ทำให้มองเห็นเป็นริ้วถี่ ๆ และด้านข้างลำตัวเมื่อลอกหนังออกจะเห็นกล้ามเนื้อได้อย่างชัดเจน (ไม่มีพังผืดติด) ซึ่งเป็นข้อแตกต่างระหว่างเนื้อปลาปักเป้ากับเนื้อปลาชนิดอื่น
- ถ้ามีอาการที่สงสัยว่าได้รับพิษจากปลาปักเป้า ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
Relate topics
- เปิดศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ต.ควนรู อ.รัตภูมิ จ.สงขลา
- ตลาดนัดอุทยานอาหาร “วิถีแห่งสุขภาพ วิถีแห่งวัฒนธรรม”
- ศึกษาดูงานโครงการพัฒนาระบบและกลไกเพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัย
- หาดใหญ่จัดงานเทศกาลอาหารหรอย ผลไม้อร่อย ครั้งที่ 2 หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ
- อึ้ง! “น้ำมันทอดซ้ำ” หายเกลี้ยงเหลือทำไบโอดีเซลแค่ 5%