อย.เตือน “น้ำผักผลไม้-น้ำสมุนไพร” มีจุลินทรีย์ปนเปื้อน
เผย “น้ำบัวบก” พบสูงสุด เสี่ยงท้องร่วง
เตือนคนรักสุขภาพ หลัง อย.เผยผลสำรวจ "น้ำผักผลไม้-น้ำสมุนไพร" ทั่วกรุงเทพฯ ปนเปื้อนเชื้อเพียบ แถม "น้ำใบบัวบก" ปนเปื้อนสูงเป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มน้ำบรรจุปิดสนิท ขณะที่แบบตักขาย "น้ำสำรอง" พบปนเปื้อน 100% ด้าน ผอ.กองควบคุมอาหาร เตรียมดันโครงการผลิตปลอดภัย
นายเจตภาส ไชยะกุล กองควบคุมอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า จากกระแสความใส่ใจต่อสุขภาพ ทำให้คนไทยหันมาดื่มน้ำผักผลไม้หรือน้ำสมุนไพรกันมากขึ้น แต่น้ำผลไม้และน้ำสมุนไพรเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านความร้อนเพียงเล็กน้อย จึงมีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนจุลินทรีย์ในทุกช่วงการผลิต โดยเฉพาะหลักการผลิตและการวางจำหน่ายจะมีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์มาก เนื่องจากไม่มีกระบวนการฆ่าเชื้อ
ดังนั้น ทาง อย.จึงได้ทำการศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการปนเปื้อนจุลินทรีย์ในเครื่องดื่มสมุนไพร โดยศึกษาการปนเปื้อนจุลินทรีย์ในเครื่องดื่มสมุนไพร ในภาชนะที่บรรจุปิดสนิท และพร้อมบริโภคที่จำหน่ายในเขต กทม. 50 เขต
นายเจตภาส กล่าวว่า สำหรับน้ำผักผลไม้และน้ำสมุนไพรที่ได้ทำการเก็บตัวอย่างสำรวจ 455 ตัวอย่าง ได้แก่ น้ำใบบัวบก น้ำสำรอง น้ำเฉาก๊วย น้ำบีทรูท น้ำกระเจี๊ยบ น้ำเสาวรส น้ำเก๊กฮวย และน้ำจับเลี้ยง ทั้งในแบบภาชนะบรรจุปิดสนิทและตักขาย จากผลการตรวจวิเคราะห์พบการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์สูงมากถึง 316 ตัวอย่าง หรือ 69.45% โดยแบบบรรจุภัณฑ์ปิดสนิท พบปนเปื้อนจุลินทรีย์มากที่สุดในน้ำใบบัวบกที่พบการปนเปื้อนสูงถึง 97.83% รองมา คือ น้ำจับเลี้ยง 90% น้ำเสาวรส 87.88% น้ำบีทรูท 84.61% น้ำเฉาก๊วย 67.35% น้ำสำรอง 62.50% น้ำกระเจี๊ยบ 55.36% และน้ำเก๊กฮวย 54.69%
ผลการตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนในน้ำผักผลไม้และน้ำสมุนไพรชนิดตักขาย พบว่า น้ำสำรองมีการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ 100% รองลงมา คือ น้ำใบบัวบก 85.71% น้ำเฉาก๊วย 78.51% น้ำเก๊กฮวย 71.05% น้ำกระเจี๊ยบ 50% และน้ำจับเลี้ยง 46.15% ส่วนน้ำเสาวรสจากตัวอย่างไม่พบการปนเปื้อนเลย
ลักษณะการวางจำหน่ายที่มีใช้ถุงพลาสติกบรรจุน้ำแข็งมัดปากถุงวางลงในโหล เพื่อรอตักขาย พบการปนเปื้อนถึง 77.41% ขณะที่น้ำสมุนไพรที่วางจำหน่ายแบบไม่แช่เย็น จะพบการปนเปื้อนเพียง 45.41% นอกจากนี้ การปนเปื้อนที่พบยังเกิดจากมือของผู้จำหน่าย 65.22% รองมาเป็นภาชนะและอุปกรณ์ 31.25%
สำหรับเชื้อจุลินทรีย์ปนเปื้อนที่พบ ได้แก่ ยีสต์ คอลิฟอร์ม โมลด์ อีโคไล และสเตปไฟต์โตค็อกคัส ออเรียส บ่งบอกว่ามีการปนเปื้อนอุจจาระ และอาจก่อให้เกิดภาวะท้องร่วงได้
น.ส.ทิพย์วรรณ์ ปริญญาศิริ ผู้อำนวยการกองควบคุมอาหาร กล่าวว่า จากผลการสำรวจดังกล่าว ชี้ชัดว่าผู้จำหน่ายส่วนใหญ่ขาดองค์ความรู้ ทำให้เกิดการปนเปื้อน ซึ่งการทำน้ำผักผลไม้และเครื่องดื่มสมุนไพรดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นการขายตรงผลิตหน้าร้าน ไม่ต้องขออนุญาต ซึ่งเชื้อยีสต์ และโมลด์มาจากอากาศทั่วไป ส่วนคอลิฟอร์มชี้ว่าไม่ถูกสุขลักษณะ
อย่างไรก็ตาม ทาง อย. กำลังดำเนินการแก้ไขปัญหา ซึ่งในปีหน้า จะมีโครงการพัฒนาการจำหน่ายและผลิตน้ำผักผลไม้และน้ำสมุนไพร เพื่อให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจในความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โดยจะนำร่องในบางพื้นที่ของ กทม. ซึ่งจะมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ พร้อมทั้งจัดทำคู่มือเพื่อให้ผู้ผลิตปฏิบัติตาม
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ - 01-10-51
สรุปประเด็นและเสนอแนะโดย นศ.คณะเภสัชศาสตร์ (5110710007)
Relate topics
- เปิดศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ต.ควนรู อ.รัตภูมิ จ.สงขลา
- ตลาดนัดอุทยานอาหาร “วิถีแห่งสุขภาพ วิถีแห่งวัฒนธรรม”
- ศึกษาดูงานโครงการพัฒนาระบบและกลไกเพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัย
- หาดใหญ่จัดงานเทศกาลอาหารหรอย ผลไม้อร่อย ครั้งที่ 2 หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ
- อึ้ง! “น้ำมันทอดซ้ำ” หายเกลี้ยงเหลือทำไบโอดีเซลแค่ 5%