พบทารกป่วยเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หลังดื่มนมที่ อย. ตรวจพบสารปนเปื้อนมรณะ แม่สะอื้นลูกเข้าโรงพยาบาลแล้ว 2 รอบ เลขาฯอย.ระบุ หากพิสูจน์สาเหตุการป่วยว่ามาจากนมจริงก็สามารถฟ้องร้องบริษัทผู้นำเข้านมได้ทันที ส่วน อย.พร้อมดำเนินคดีตามกฎหมาย ขณะที่ 3 บริษัทนมแจ้นพบผู้บริหาร อย. ยันนมผงได้มาตรฐานจีเอ็ม แต่พร้อมเก็บออกจากตลาดทั้งหมด แจงผู้บริโภคอย่าตื่นตระหนก
ศ.ดร.ภักดี โพธิศิริ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงการปนเปื้อนในนาม 3 ยี่ห้อดังว่า ในวันนี้ (7 เม.ย.) ผู้บริหารบริษัทผู้ผลิตนมทั้ง 3 ยี่ห้อ คือ เมจิ เอฟ-เอ็ม-ที ของบริษัท เมจิ-เอ็มจีซี เดรี่ ออสเตรเลีย จำกัด, ยี่ห้อ แนน 1 ของบริษัท เนสท์เล่ นีเดอร์แลนด์ เบ.เว.เนเธอร์แลนด์ จำกัด และยี่ห้อซิมิแลค ดีเอชเอ+เออาร์เอ ของบริษัท แอ๊บบอต ลาบอแรตอรีส เอส.เอ แกรนาดา สเปน จำกัด ซึ่งทั้งหมดยินดีที่จะให้ความร่วมมือกับทาง อย.ในการเรียกเก็บสินค้าจากท้องตลาดโดยเร็วที่สุด แต่ทั้งนี้ขอให้ อย.ทำความเข้าใจกับผู้บริโภคโดยเฉพาะคุณแม่ไม่ต้องตกใจหรือกังวลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นมผงที่ใช้อยู่ว่าจะมีการปนเปื้อน เนื่องจากได้เรียกเก็บคืนหมดแล้ว
เลขาธิการฯ อย.กล่าวต่อว่า ทางผู้ประกอบการยืนยันว่ากระบวนการผลิตนมผงที่นำเข้าผ่านเกณฑ์มาตรฐานจีเอ็มพี และเมื่อพิจารณาแล้วประเทศที่ผลิตเหล่านั้นก็มีความน่าเชื่อถือในเรื่องของกระบวนการผลิต ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้สร้างความตื่นตัวเฉพาะผู้บริโภคภายในประเทศเท่านั้น แต่ผู้บริโภคในต่างประเทศก็ตื่นตัวและให้ความสำคัญตามไปด้วย
“อยากให้พ่อแม่ผู้ปกครองให้ความสำคัญกับการเตรียมนมผงดัดแปลงที่จะให้ลูกรับประทาน โดยจะต้องต้มน้ำให้สุกก่อน และรอให้เย็นจากนั้นจึงค่อยชงนมให้ลูก เมื่อรับประทานไม่หมดก็ควรจะทิ้งเสีย ไม่ควรเก็บไว้ไม่ว่าจะเก็บในตู้เย็น หรือในอุณหภูมิห้อง เพราะมีโอกาสปนเปื้อนเชื้อ เอนเทอโรแบ็กเตอร์ ซากาซากิ ซึ่งเป็นอันตรายต่อทารกแรกเกิดถึง 1 ปี และโดยเฉพาะทารกที่คลอดก่อนกำหนดและทารกที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ อาจก่อให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองและไขสันหลังอักเสบ อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้” ศ.ดร.ภักดี กล่าว
เลขาธิการฯ อย.กล่าวต่อว่า เมื่อข่าวนี้ปรากฎตามสื่อ ปรากฎว่าเมื่อเช้าที่ผ่านมา มีคุณแม่ท่านหนึ่งได้ร้องเรียนมาทาง อย.ว่า ใช้นมผง 1 ใน 3 ยี่ห้อตามที่เป็นข่าวเลี้ยงลูกเมื่อ 2 เดือนก่อน และเกิดอาการป่วยจึงนำส่งโรงพยาบาล โดยแพทย์ได้วินิจฉัยว่าเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ จึงได้เจาะไขสันหลังไปตรวจและพบมีเชื้อตัวเดียวกันกับที่ อย.ได้เตือนไว้ เมื่อรักษาจนอาการดีขึ้นจึงนำกลับมาบ้าน ซึ่งคุณแม่ท่านนั้นก็ไม่คิดว่าสาเหตุการป่วยของลูกจะเกิดจากดื่มนม จึงได้ให้นมยี่ห้อเดียวกันซ้ำอีก ปรากฎว่าลูกมีอาการป่วยลักษณะเดิม ขณะนี้อยู่ระหว่างการรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ผ ู้สื่อข่าวถามว่า กรณีนี้ผู้บริโภคสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีกับบริษัทผู้ผลิตนมได้หรือไม่ เลขาธิการฯ อย.กล่าวว่า ในรายของคุณแม่ท่านนี้ค่อนข้างชัดเจนว่าอาจจะเกิดจากนมที่ลูกดื่ม ก็สามารถฟ้องร้องได้ ในส่วนของ อย.เองก็ต้องดำเนินคดีตามกฎหมายอาหารกับผู้นำเข้า ฐานนำเข้าเพื่อจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรักและแจ้งข้อหานำเข้าอาหารผิดมาตรฐานมีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาทอีกด้วย ทั้งนี้ อย.ได้สั่งให้ด่านอาหารและยาทุกด่านเข้มงวดกับผลิตภัณฑ์อาหารนำเข้า โดยเฉพาะนมผงดัดแปลงสำหรับทารกควบคู่ไปกับมาตรการกักกันผลิตภัณฑ์ คือ หากมีการนำเข้าอาหารชนิดเดียวกันกับที่เคยตรวจพบว่าตกมาตรฐานเจ้าหน้าที่ด่านอาหารและยาจะอายัดไว้ที่สถานที่นำเข้าก่อนและเก็บตัวอย่างส่งตรวจวิเคราะห์ หากปลอดภัยจะพิจารณาถอนอายัด แต่หากไม่ได้มาตรฐานก็จะดำเนินการทางกฎหมาย
สรุปประเด็นและเสนอแนะโดย นศ.คณะเภสัชศาสตร์ (5110710005)
แนวทางการแก้ไข
- เพิ่มความเข้มงวดกับการตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหารนำเข้าควบคู่ไปกับมาตรการกักกันผลิตภัณฑ์
- กำหนดบทลงโทษอย่างชัดเจนและรุนแรงกับบริษัทผู้ผลิตอาหารที่มีสารปนเปื้อน
- เมื่อมีสารปนเปื้อนในอาหารชนิดใด ก็ให้มีการนำเสนอข่าวต่อประชาชนอย่างรวดเร็ว จะได้มีการหลีกเลี่ยงได้ท่วงที
Relate topics
- เปิดศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ต.ควนรู อ.รัตภูมิ จ.สงขลา
- ตลาดนัดอุทยานอาหาร “วิถีแห่งสุขภาพ วิถีแห่งวัฒนธรรม”
- ศึกษาดูงานโครงการพัฒนาระบบและกลไกเพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัย
- หาดใหญ่จัดงานเทศกาลอาหารหรอย ผลไม้อร่อย ครั้งที่ 2 หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ
- อึ้ง! “น้ำมันทอดซ้ำ” หายเกลี้ยงเหลือทำไบโอดีเซลแค่ 5%