เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ศ.เกียรติคุณ นพ.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ นายกสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย แถลงข่าว “ ความมั่นคงด้านอาหาร และการประชุมเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร รากฐานโภชนาการและสุขภาพ ” ว่า ปัจจุบันประชากรไทยมีอยู่ประมาณ 66 ล้านคน มีพื้นที่ประกอบกิจการต่างๆ 320.7 ล้านไร่ แบ่งเป็นการเกษตร 112.6 ล้านไร่ โดยพบว่าครึ่งหนึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าว อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวค่อยๆ ลดน้อยลง โดยพบว่าใช้เป็นพื้นที่ปลูกพืชที่ไม่ใช่อาหารเป็นส่วนใหญ่ จากการรวบรวมข้อมูลระหว่างปี 2546-2551 พบว่า พื้นที่ปลูกข้าวลดลง 2 ล้านไร่ ขณะที่พื้นที่ปลูกยางพาราเพิ่มขึ้น 4 ล้านไร่
ศ.เกียรติคุณ นพ.ไกรสิทธิ์กล่าวว่า ที่สำคัญแนวโน้มอายุเฉลี่ยของชาวนาปัจจุบันอยู่ที่อายุ 47-51 ปี โดยพบว่าคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ไม่นิยมทำนา หรือทำการเกษตร ส่วนใหญ่เข้าเมืองหางานทำ ทำให้กังวลว่าอนาคตจะไม่มีชาวนาปลูกข้าว ดังนั้น ประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศเกษตรกรรมที่สามารถปลูกพืชเพื่อบริโภคมาตลอด อาจประสบความไม่มั่นคงทางด้านอาหารในอนาคต
ศ.เกียรติคุณ นพ.ไกรสิทธิ์กล่าวอีกว่า ปัญหาต่างๆ ต้องรีบแก้ไข ก่อนที่ไทยจะเกิดความไม่มั่นคงทางด้านอาหาร จนถึงขั้นวิกฤต ซึ่งจะส่งผลต่อการเข้าถึงอาหารอย่างแน่นอน อย่างรายงานขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ในปี 2552 พบว่าคนไทยขาดสารอาหารระหว่างปี 2547-2549 ร้อยละ 17 หรือคิดเป็นจำนวนประชากรจำนวน 10.7 ล้านคน ไม่ต้องสงสัยว่าปัจจุบันจะเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน
นอกจากนี้ประเด็นอาหารปนเปื้อนก็ยังพบสูงขึ้น โดยปี 2552 สำนักระบาดวิทยา รายงานจำนวนผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน 1.2 ล้านราย คิดเป็นอัตราป่วย 2,023.64 ต่อประชากรแสนคน โดยจำนวนนี้เสียชีวิต 65 ราย ตรงนี้เป็นปัญหาจากอาหาร จะเห็นว่าความไม่มั่นคงทางอาหารเป็นปัญหารอบด้าน
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)