ผู้บริโภคร้อง อย. พบโฆษณาขายยาน้ำสกัดโสมเกาหลีตังกุยจับ และยาแองเจิลลา อวดอ้างรักษาโรคได้สารพัด หากใครเป็นสมาชิกจะร่ำรวยเป็นเศรษฐี ด้าน อย.แจงเคยดำเนินคดีกับผู้โฆษณาโอ้อวดบ่อยครั้ง แต่ยังพบการขายตรง แถมเปิดโรงแรมจัดสัมมนาพร้อมโฆษณาสรรพคุณเกินจริง วอนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อ ไม่ได้ผลยังเสียโอกาสการรักษา หากพบเบาะแสการโฆษณา - เกินจริงแจ้ง อย.ตำรวจ สสจ.เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย
ศ.ดร.ภักดี โพธิศิริ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคบ่อยครั้งเกี่ยวกับการโฆษณาขายยาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง โดยมักใช้วิธีการขายตรง จัดประชุมสัมมนา พูดโฆษณาแบบปากต่อปาก หรือโฆษณาผ่านทางแผ่นพับ แผ่นปลิว และสื่อต่างๆ พร้อมทั้งเชิญชวนผู้สนใจสมัครเป็นตัวแทนจำหน่ายโดยให้ค่าตอบแทนสูง
ซึ่งในเรื่องนี้ อย.ได้มีการดำเนินการตรวจสอบการโฆษณาอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการโฆษณาขายยานั้น อย.ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะการได้รับข้อมูลไม่ถูกต้อง อาจทำให้ผู้บริโภคได้รับอันตรายจากยานั้นได้ และอาจเสียเงิน เสียทองจำนวนมากในการรักษาโดยโรคไม่หาย และยังเสียโอกาสในการรักษาที่ถูกต้องจากแพทย์อีกด้วย ล่าสุด ผู้บริโภคร้องเรียนกรณีของยาน้ำสกัดโสมเกาหลีตังกุยจับและยาแองเจิลลา อ้างสรรพคุณว่ารักษาโรคได้สารพัด
“อย.ขอชี้แจงข้อเท็จจริงว่า ยาน้ำสกัดโสมเกาหลีตังกุยจับ จัดอยู่ในประเภทยาแผนโบราณ ทะเบียนตำรับยาเลขที่ G 579/45 สรรพคุณตามที่ได้รับอนุญาตขึ้นทะเบียนตำรับ คือ บำรุงร่างกาย บำรุงโลหิต และยาแองเจิลลา จัดอยู่ประเภทยาสามัญประจำบ้าน ทะเบียนตำรับยาเลขที่ G 599/45 สรรพคุณที่ได้รับอนุญาตขึ้นทะเบียนตำรับ คือ แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ บำรุงโลหิต แต่ผู้ร้องเรียนพบการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณยาน้ำสกัดโสมเกาหลีตังกุยจับ ในรูปแบบวีซีดี และแผ่นพับ/ใบปลิว โดยระบุสรรพคุณว่า สามารถรักษาได้สารพัดโรค เช่น ช่วยบรรเทาอาการหงุดหงิด ช่วยให้สมองตื่นตัว ทำให้หายจากการปวดหัวไมเกรน ปวดหลัง และหายจากโรคมะเร็ง โรคเบาหวาน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณ ยาแองเจิลลา ว่าสามารถแก้ปัญหาฝ้า ตกขาว ช่วยกระชับช่องคลอด แก้ปัญหามดลูกหย่อนยาน บวม อักเสบ ลดไขมันส่วนเกินในร่างกาย เป็นต้น”
ศ.ดร.ภักดี กล่าวต่อว่า การโฆษณาดังกล่าวจัดเป็นการโฆษณาขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาตแสดงสรรพคุณยาอันเป็นเท็จหรือเกินจริง และในกรณีของยาน้ำสกัดโสมเกาหลีตังกุยจับดังกล่าว ยังถือเป็นการแสดงสรรพคุณยาว่าสามารถบำบัด บรรเทา รักษา หรือป้องกันโรค หรืออาการของโรคที่รัฐมนตรีประกาศห้ามโฆษณาอีกด้วย จึงขอให้ประชาชนผู้บริโภคอย่าได้หลงเชื่อการโฆษณาโอ้อวดเกินจริงดังกล่าว ซึ่ง อย.ก็ได้ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้แทนจำหน่ายและทำการส่งเสริมการขายยาดังกล่าวแล้ว
“อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังคงพบปัญหาการโฆษณาโอ้อวดเกินจริงของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวโดยผ่านการขายตรง เปิดโรงแรมจัดสัมมนา พร้อมโฆษณาหลอกลวงให้ผู้ฟังหลงเชื่อเป็นสมาชิกแบบลูกโซ่ โอ้อวดว่า หากใครเป็นสมาชิกก็จะร่ำรวยเป็นเศรษฐี การขายตรงดังกล่าวมักเกิดขึ้นในต่างจังหวัด ดังนั้น ขอให้ประชาชนช่วยสอดส่องเป็นหูเป็นตาแทนรัฐ หากพบว่ามีการเปิดโรงแรมจัดประชุมสัมมนาเพื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาในลักษณะดังกล่าว ขอให้รีบแจ้ง เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนั้นๆ หรือแจ้งเบาะแสโดยละเอียดผ่านสายด่วน อย. 1556 ซึ่ง อย.จะประสานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และเจ้าหน้าที่ตำรวจให้จับกุมดำเนินคดีตามกฎหมายโดยทันที มิให้มีการหลอกลวงผู้บริโภคอีกต่อไป” เลขาธิการ อย.กล่าว
ที่มา ผู้จัดการออนไลน์ 15 กุมภาพันธ์ 2549
ค้นจาก http://www.cmprice.com/forum/?content=detail&wbtypeid=&topic_id=26807
เข้าถึงวันที่ 4 ธันวาคม 2551
สรุปประเด็นและเสนอแนะโดยนางสาวกมลเนตร อุดมรัตน์
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคบ่อยครั้งเกี่ยวกับ การโฆษณาขายยาอวดอ้างสรรพคุณยาน้ำสกัดโสมเกาหลีตังกุยจับ โดยวิธีการขายตรง จัดประชุมสัมมนา พูดโฆษณาแบบปากต่อปาก หรือโฆษณาผ่านทางแผ่นพับ แผ่นปลิว และสื่อต่างๆ ซึ่งระบุสรรพคุณว่า ช่วยให้สมองตื่นตัว ทำให้หายจากการปวดหัวไมเกรน โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน เป็นต้น อีกทั้งยังมีการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณ ยาแองเจิลลา ว่าสามารถแก้ฝ้า ตกขาว ช่วยกระชับช่องคลอด ไขมันส่วนเกินในร่างกาย เป็นต้น ซึ่งเป็นการโฆษณาขายยาที่กล่าวอ้างเกินจริง โดยสรรพคุณที่แท้จริง คือ แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ บำรุงโลหิต ซึ่ง อย.ก็ได้ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้แทนจำหน่ายยาดังกล่าวแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม การโฆษณาโอ้อวดเกินจริงของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ก็ยังคงมีอยู่ ดังนั้นหากผู้ใดพบเห็นก็ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือแจ้งเบาะแสผ่านสายด่วน อย.1556 ซึ่งทางอย.จะประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจให้จับกุมดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
วิธีการแก้ปัญหา
- หากมีคนมาเสนอสินค้าที่เรารู้สึกว่าคุณภาพของมันเกินจริง ก็ให้ระวังตัว อย่าหลงเชื่อ เพราะหาเราทานเข้าไปแล้ว อาจเกิดอันตรายกับตัวเราเอง จึงควรพิจารณาให้ดีเสียก่อน
- หากพบเห็นผู้ที่กระทำการเข้าข่ายหลอกหลวงประชาชน ให้เราแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือแจ้งอย.1556 เพื่อจัดการจับกุมต่อไป
- ก่อนที่จะซื้อสินค้าทุกชนิด ควรดูว่ามีเครื่องหมายอย. ,วันเดือนปีที่ผลิตและหมดอายุ อีกทั้งรายละเอียดต่างๆว่ามีหรือไม่ หากไม่มี ควรแจ้งตัวสินค้านั้นกับทางอย.เพื่อให้มาจัดการควบคุมสินค้าประเภทนั้นต่อไป
Relate topics
- เครือข่ายผู้หญิงร้องทบทวนฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูก-รมช.สธ.ยันจำเป็น
- นัก กม.อินเดีย ยัน ซีแอล ทำให้ยาถูกลง อย่าหลงเชื่อ บ.ยาข้ามชาติ
- กรณีศึกษา อย.เตือนยาคีไตรโซนผิดมาตรฐาน-อันตราย สั่งเก็บทุกสถานพยาบาล
- กรณีศึกษา อย.เผยพบแบคทีเรียปนเปื้อน “น้ำยาบ้วนปากออรัล-บี” เตือน ปชช.ระงับใช้
- กรณีศึกษา สลด!! ว่าที่ "นิสิตเภสัช" ม.มหาสารคาม กินยาลดความอ้วนดับ น้องสาวเผยกลัวใส่ชุดไม่สวย