ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์

ขายยาไร้จริยธรรมโทษหนักติดคุก

by twoseadj @July,28 2011 22.12 ( IP : 58...89 ) | Tags : ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์
photo  , 300x310 pixel , 24,178 bytes.

เปิดรับฟังความคิดเห็นร่าง กม.ส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ทุกฝ่ายแม้แต่บริษัทยา ยอมรับว่าต้องมีกฎควบคุมจริยธรรมผู้เกี่ยวข้อง เพราะที่ผ่านมาการส่งเสริมการขายยาใช้เทคนิคสารพัด ทั้งน่าเกลียด ฉกฉวยโอกาส สร้างกำไรมหาศาล แต่รายจ่ายค่ายาภาครัฐบานเบอะ นพ.ธีรวัฒน์ชี้รัฐบาลใหม่ควรผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ แนวทางลงโทษเริ่มจากเบาๆ ทั้งอบรมตักเตือน ทัณฑ์บน ไปถึงขั้นติดคุกขอเวลาร่างเป็น กม. 2 ปี

คณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ (กพย.) นำโดย ศ. (คลินิก) นพ.ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์  ประธานอนุกรรมการฯ และ นพ.รุ่งนิรันดร์ ประดิษฐสุวรรณ ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมจริยธรรมผู้สั่งใช้ยาและยุติการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม  ภายใต้อนุกรรมการร่วมกับ กพย. และองค์การอาหารและยา  (อย.) จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อร่างเกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายยาของประเทศไทยเป็นครั้งสุดท้าย โดยมีเภสัชกรในสถานพยาบาล  สถานบริการเภสัชกรรม บริษัทยา ผู้แทนยา ผู้บริหาร ผู้จัดซื้อจัดหายาของสถานพยาบาลและสถานศึกษาเข้าร่วม

นพ.รุ่งนิรันดร์กล่าวว่า การจัดทำร่างเกณฑ์จริยธรรมยาได้นำข้อมูลแนวปฏิบัติจากทั้งในประเทศและต่างประเทศมาปรับให้เหมาะสมกับประเทศไทย  ขณะเดียวกันคณะกรรมการได้เห็นความสำคัญใน 2 ประเด็น คือ 1.เมื่อเกณฑ์ดังกล่าวออกมาแล้วจะต้องมีกฎหมายเข้ามาส่งเสริมเพื่อให้การบังคับใช้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องอยู่ 2. เรื่องการจัดตั้งกองทุนขึ้นมา 1 กองทุนสนับสนุนการเพิ่มความรู้ทางด้านการแพทย์ การสาธารณสุขโดยไม่ต้องพึ่งพิงบริษัทยามากเกินไปเหมือนปัจจุบัน

สำหรับสาระในร่างเกณฑ์ดังกล่าวจะแบ่งออกเป็น 7 หมวด ประกอบด้วย  หมวดที่ 1 คำนิยาม หมวดที่ 2 ผู้สั่งใช้ยา หมวดที่ 3 ผู้บริหาร ผู้มีอำนาจในการจัดซื้อยาในสถานพยาบาล หน่วยงาน หมวดที่ 4 เภสัชกรในสถานพยาบาล  หน่วยงาน และสถานบริการเภสัชกรรม หมวดที่ 5 บริษัทยา ผู้แทนยา หมวดที่  6 สถานพยาบาล และหมวดที่ 7 สถานศึกษา ทั้งนี้ ได้มีการสำรวจความคิดเห็นในลักษณะส่งแบบสอบถามจำนวน 2,500 ฉบับ ไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง และได้รับการตอบกลับมา 400 ฉบับ เมื่อเร็วๆ นี้นั้น ทางคณะทำงานคิดว่ายังไม่เพียงพอกับการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน จึงจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ขึ้นมา โดยจะเป็นการรับฟังความคิดเห็นครั้งสุดท้าย ก่อนปรับตัวร่างเกณฑ์ จริยธรรม และส่งให้ กพย.พิจารณาบังคับใช้ต่อไป

ด้าน ศ. (คลินิก) นพ.ธีรวัฒน์กล่าวว่า เมื่อยากลายเป็นสินค้าจึงมีการส่งเสริมการขายที่ใช้วิธีการแข่งขัน เทคนิค และกลวิธีการส่งเสริมการขายหลายรูปแบบที่สามารถสร้างกำไรได้อย่างมหาศาลในแต่ละปี ซึ่งบางเรื่องเป็นสิ่งที่น่าเกลียดและไม่สามารถยอมรับได้ โดยจะเห็นว่าที่ผ่านมาประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาค่าใช้จ่ายในเรื่องยาที่สูงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเมื่อปี 2551 พบว่าในระบบสวัสดิการข้าราชการมีค่าใช้จ่ายในการรักษา 54,904 ล้านบาท ต่อประชากร 5 ล้านคน ระบบหลักประกันสังคมและสุขภาพถ้วนหน้า (สปสช.) มีมูลค่าการรักษา 98,700 ล้านบาท ต่อประชากร 57  ล้านคน นอกจากนี้ ข้อมูลในปี 2553 พบว่ามีมูลค่าการผลิตและนำเข้ายาแผนปัจจุบันที่จำเป็นสำหรับมนุษย์ 154,107 ล้านบาท

"ดังนั้นจึงถือว่าเรื่องยาเป็นปัญหาระดับชาติ แต่จำเป็นต้องเน้นเรื่องจริยธรรมในการขายยาที่ควรผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ และผลักดันให้เกิดผลในทางปฏิบัติก่อนจะกระจายไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นการจัดทำร่างเกณฑ์นี้จะต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะเมื่อมีการพาณิชย์เข้ามาเกี่ยวข้องจะทำให้มีการฉกฉวยโอกาส และเราจำเป็นต้องอุดช่องโหว่เหล่านั้น" ศ.คลินิก นพ.ธีรวัฒน์กล่าว

ส่วนบทลงโทษในร่างเกณฑ์ดังกล่าวจะพิจารณาตามระเบียบข้อบังคับที่มีอยู่หลายระดับ ตั้งแต่การอบรม ตักเตือน การทำทัณฑ์บน จนถึงขั้นการดำเนินการตามกฎหมาย โดยจะพิจารณาจากวินัยของผู้ประกอบวิชาชีพเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการรวบรวมข้อเสนอแนะและปรับแก้ร่างสุดท้ายในวันนี้ แล้วจะได้นำเรื่องเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ และไม่แน่ใจว่าต้องทำประชาพิจารณ์เพิ่มเติมอีกครั้งหรือไม่ เนื่องจากท่านได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวไปแล้ว

“การมีกฎระเบียบที่แน่นอน อำนาจหรือผลประโยชน์ก็ไม่สามารถมาบังคับเราได้” ศ.คลินิก นพ.ธีรวัฒน์กล่าว และว่า เรื่องนี้รัฐบาลต้องเอาจริง  เพราะเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติ แต่ถ้ายังมองไม่เห็นก็ไม่ควรมาบริหารประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ภายในงานยังจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำร่างเกณฑ์ดังกล่าว โดยเฉพาะในกลุ่มบริษัทยาและผู้แทนการขาย ซึ่งในที่ประชุมมีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง  โดยมติที่ประชุมเห็นด้วยกับร่างเกณฑ์ดังกล่าว แต่ยังขอให้มีการปรับปรุงแก้ไขในข้อความและสาระบางตอน ซึ่งทางอนุกรรมการรับจะนำไปประมวลผลเพื่อ ปรับแก้อีกครั้ง โดยกำหนดระยะเวลาการทำงานเอาไว้ 2 ปี.

Relate topics

แสดงความคิดเห็น

กรุณาป้อน Username / Password ที่ท่านได้ลงทะเบียนไว้กับเว็บไซท์แห่งนี้ หรือ สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซท์
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง