บทความ

ให้ฉัน"ตาย"เถอะหมอ นี่คือคำร้องขอของ"คนไข้"

by twoseadj @July,13 2011 16.00 ( IP : 182...15 ) | Tags : บทความ
photo  , 250x163 pixel , 46,102 bytes.

โดย เชตวัน เตือประโคน

ร่างที่นอนอยู่บนเตียงนั้นไม่รับรู้อะไรแล้ว มีเพียงชีพจรที่ยังเต้นอยู่เท่านั้นซึ่งบ่งบอกถึงความมีชีวิต แต่กระนั้น ก็ยังต้องอาศัยเครื่องช่วยหายใจ สายน้ำเกลือ รวมถึงเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยอีกหลากหลายประเภทช่วยยื้อไว้

แม้ทางการแพทย์จะวินิจฉัยแล้วว่า "ผู้ป่วย" ที่นอนอยู่บนเตียงนั้นอย่างไรก็เสียชีวิต

แต่ในทางปฏิบัติตลอดหลายปีที่ผ่านมา ไม่เคยมีหมอคนไหนปล่อยให้ผู้ป่วยต้องตายไปโดยไม่ลงมือรักษา ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นไปตามอาการที่ปรากฏ เช่น หัวใจหยุดเต้นก็เร่งปั๊มหัวใจ กินอาหารไม่ได้ ก็เจาะคอใส่ท่อป้อนอาหารอีกทางหนึ่ง ฯลฯ

ไม่มีใครรู้ว่าผู้ป่วยจะทุกข์ทรมานแค่ไหน เพราะพวกเขาหรือเธอไม่รู้สึกตัว ไม่มีสติสติสัมปชัญญะพอที่จะออกมาบอกว่า "ไม่ขอรับการรักษาใดๆ อีกแล้ว...ปล่อยให้ฉันตายไปเถอะหมอ"

จนเมื่อไม่นานมานี้ หลังจากการเรียกร้องมานานกว่า 10 ปี

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พร้อมทั้งภาคีเครือข่าย ก็ประสบความสำเร็จในการผลักดันเรื่อง "สิทธิปฏิเสธการรักษาพยาบาลที่เป็นไปเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต"

เป็นกฎหมาย บรรจุอยู่ใน มาตรา 12 "พระราชบัญญัติ สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550" ใจความว่า...

"บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจาการเจ็บป่วยได้

การดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้ว มิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความผิดทั้งปวง"

ซึ่งวันนี้ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ก็ได้เผยแพร่ตัวอย่างของ "หนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข" ให้ทุกคน-ซึ่งแน่นอนว่าไม่วันใดวันหนึ่งย่อมต้องตาย ได้รับรู้กันทั่วหน้ากัน ผ่านทางเอกสารชื่อ "ความต้องการครั้งสุดท้ายของชีวิต (Living Will)" และทางเว็บไซต์ www.thailivingwill.in.th

นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวไว้ว่า สิทธิที่จะปฏิเสธการรักษาเป็นสิทธิของเราทุกคน ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ อย่างเช่นเวลาไม่สบายเราก็ตัดสินใจไม่ไปหาหมอก็ได้ หรือพอไปหาแล้ว หมอตรวจวินิจฉัยแล้วแนะนำวิธีการรักษา เราไม่ต้องการรักษาอย่างนั้นก็สามารถปฏิเสธได้

"เพียงแต่ว่าเมื่อถึงบั้นปลายชีวิตที่เราจะต้องเสียชีวิตแน่นอนอยู่แล้ว ช่วงนั้นเรา ไม่มีสติสัมปชัญญะ ที่จะปฏิเสธไม่รับการรักษาใดๆ ได้เอง กฎหมายมาตรานี้จึงดำรงรักษาสิทธิให้เรา โดยอนุญาตให้เราเขียนปฏิเสธเป็นหนังสือแสดงเจตนาไว้ล่วงหน้าได้"

ซึ่งหนังสือนี้ เป็นการเขียนเมื่อเรายังมีสติครบถ้วน

เป็นการเขียนบอกหมอว่า ถึงวันหนึ่งที่เราเจ็บป่วยจนถึงจุดไม่อาจรักษาได้ หมอวินิจฉัยแล้วว่าต้องเสียชีวิตอย่างแน่นอน ถึงจุดนั้น เราจะไม่ขอรับการรักษาอีกต่อไป

"เรื่องการไม่รับการรักษา เป็นสิทธิของทุกคน แต่ใครจะใช้สิทธิเขียนไว้หรือไม่ก็ได้ ไม่มีการบังคับกัน ซึ่งสิทธิในการเขียนหนังสือแสดงเจตนานี้ เกิดตั้งแต่ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ประกาศใช้เมื่อ ปี 2550 แล้ว เพียงแต่ว่ากฎหมายเขียนว่า การปฏิบัติตามหนังสือแสดงเจตนานั้น ให้เป็นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง จึงต้องใช้เวลาระยะหนึ่งในการออกกฎกระทรวง ซึ่งขณะนี้มีการออกเรียบร้อย และมีผลสมบูรณ์ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2554" นายแพทย์อำพล กล่าว

ในหนังสือแสดงเจตนานี้ เราสามารถเลือกที่จะขอปฏิเสธการรักษาได้ อาทิ การเจาะคอเพื่อใส่ท่อช่วยหายใจ, การใช้เครื่องช่วยหายใจ, การให้สารอาหารและน้ำทางสายยาง, การเข้ารักษาในห้องไอซียู (I.C.U.), การกระตุ้นระบบไหลเวียน, กระบวนการฟื้นชีพเมื่อหัวใจหยุด, การรักษาโรคแทรกซ้อนด้วยยาหรือวิธีการรักษาใดๆ เป็นต้น

สอบถามเรื่องสิทธิปฏิเสธการรักษาพยาบาลที่เป็นไปเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต เพิ่มเติมจาก ภัคคพงศ์ วงศ์คำ นักวิชาการของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ

ภัคคพงศ์อธิบายถึงที่มาของการตรากฎหมายนี้ว่า ในเมืองนอกอย่าง สหรัฐอเมริกา เยอรมนี สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และอีกหลายๆ ประเทศ มีการใช้กฎหมายนี้แล้ว แต่สำหรับในประเทศไทย เดิมในเวชปฏิบัติของแพทย์และพยายาลก็มีอยู่ คือ ถ้าคนไข้ระยะสุดท้ายอยู่โรงพยาบาลไม่ไหวจริงๆ เขาจะบอกหมอบอกญาติว่าพอแล้ว ซึ่งแพทย์ก็ต้องคุยว่าจะทำอย่าไงต่อดี ถ้าคนไข้หมดสติ แพทย์ก็ต้องคุยกับญาติว่าจะทำอย่างไร เพราะคนไข้ไม่รับรู้แล้ว แต่เป็นเพียงการคุยกันปากต่อปาก

และนี่เองที่ทำให้เกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย

เป็นต้นว่า มีการทะเลาะกันของญาติๆ ซึ่งต่างจิตต่างใจกัน บ้างประสงค์ให้ยื้อผู้ป่วยไว้ บ้างก็ปล่อยให้ผู้ป่วยจากไปอย่าสงบ, มีการฟ้องร้องแพทย์ที่ไม่ยอมให้การรักษา ฯลฯ ทั้งหมดนี้เป็นเพราะว่าไม่มีหลักฐานยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษร

"กฎหมายเข้ามาช่วยตรงนี้ ให้เจ้าของชีวิตบอกมาเลยว่าจะทำอย่างไรต่อ แล้วก็ให้ญาติพี่น้องรับรู้รับทราบด้วย ทำเป็นหนังสือมา 1 ฉบับ เป็นเอกสารยืนยันว่าเขามีสิทธิอะไร นี่คือหลักการสั้นๆ ของกฎหมาย

"อาจกล่าวได้ว่านี่คือพินัยกรรมชีวิต แต่ในทางกฎหมายไม่อยากให้เรียกแบบนั้น ในฐานะนักกฎหมายแนะนำว่าไม่อยากให้ใช้คำนี้ เพราะจะทำให้คนฟังสับสนจากพินัยกรรมตามกฎหมายมรดก เพราะว่าพินัยกรรมกฎหมายมรดกจะมีผลเมื่อคนทำตายไปแล้ว ส่วนพินัยกรรมชีวิตจะมีผลเมื่อคนทำยังไม่ตาย ดังนั้น เป็นเรื่องสั่งเสียในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิตว่า อย่ามาเจาะคอ อย่ามาทำรุนแรง เป็นต้น" ภัคคพงศ์กล่าว

ผู้ที่สามารถทำหนังสือแสดงเจตนานี้ กำหนดไว้ว่า เป็นผู้ที่มีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์ทุกคน อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี เพราะกรณีที่ต่ำกว่านี้ผู้ปกครองเป็นผู้ตัดสินใจแทนเหมือนการรักษากรณีทั่วไปอยู่แล้ว

การเขียนหนังสือดังกล่าว จะเขียนที่ไหน เขียนอย่างไรก็ได้เพื่อแสดงเจตนาของตนเอง แต่ทางที่ดีควรจะไปเขียนที่โรงพยาบาล โดยขอรับคำแนะนำจากแพทย์ด้วย

คำถามหนึ่งที่น่าสนใจคือ "เมื่อผู้ป่วยประสงค์ไม่ขอรับการรักษา แล้วหมอซึ่งเป็นเจ้าของไข้จะทำอย่างไร?"

นักวิชาการจาก สช.บอกว่า หมอจะเปลี่ยนวิธีการดูแลรักษาเป็นแบบประคับประคอง ไม่ใช่ว่าไม่รักษาเลย โดยอาจจะเป็นการให้มอร์ฟีนระงับปวดไว้ให้หายปวด ซึ่งแล้วแต่กระบวนการทางการแพทย์ เป็นเทคนิคการรักษา แต่ไม่ได้หมายความหมอจะทิ้งเลย จะยังดูแลผู้ป่วยจนถึงวินาทีสุดท้ายของชีวิต แต่จะไม่เอาเข้าไอซียู จะไม่ใส่เครื่องช่วยหายใจ ไม่เจาะคอ หรืออื่นๆตามที่ผู้ป่วยระบุไว้

ไม่มีใครรู้ว่าอนาคตเราจะเป็นอย่างไร

ไม่มีใครมั่นใจได้ว่าวันข้างหน้าจะไม่ป่วย ไม่ประสบอุบัติเหตุหนักขั้นปางตายจนต้องเข้ารับการรักษาตัวอยู่ห้องไอซียู ฯลฯ ดังนั้น การเตรียมตัวที่จะตาย เพื่อความมั่นใจว่าเมื่อวาระสุดท้ายนั้นมาถึง จะได้ไม่ต้องทรมานจากการรักษา ลูกหลานที่อยู่ข้างหลังไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงลิบเพื่อยื้อชีวิตไว้

การเขียนหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข จึงถือเป็นทางเลือกหนึ่ง

แสดงความคิดเห็น

กรุณาป้อน Username / Password ที่ท่านได้ลงทะเบียนไว้กับเว็บไซท์แห่งนี้ หรือ สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซท์
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง