บทความ

หลักประกันสุขภาพของประชาชน สิทธิภายใต้ 3 กองทุน ไม่ใช่ตัวประกันขององค์กรใดๆ

by twoseadj @June,30 2011 09.10 ( IP : 182...15 ) | Tags : บทความ
photo  , 350x263 pixel , 18,520 bytes.

โดย นายแพทย์อมร รอดคล้าย นักวิชาการด้านหลักประกันสุขภาพ

ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา มีการนำเสนอประเด็นการเหลื่อมล้ำของสิทธิ ด้านการรักษาพยาบาลพื้นฐาน ของระบบหลักประกันสุขภาพ ประกันสังคม และสวัสดิการราชการ มีแง่มุมและเกิดข้อโต้แย้งหลายประการ จนกระทั่งมีข้อเสนอเรื่องการงดจ่ายเงินสมทบประกันสังคมในส่วนของการรักษาพยาบาล แ ละการรวมเป็นกองทุนเดียว การเกิดพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเมื่อปี 2545 ก็มีเจตนารมณ์และกลไกที่จะทำให้มีความเสมอภาคในสิทธิขั้นพื้นฐานด้านการดูแลสุขภาพในมาตรา 9 และ 10 แต่เมื่อแรกเริ่ม ก็มีการต่อต้านให้เห็นเป็นเรื่อง การเข้าครอบงำหรือการยึดกองทุน มากกว่าการพิจารณาถึงการทำให้ประชาชนได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่เท่าเทียมกัน การเดินหน้าในยุคปัจจุบัน สปสช. สปส.และองค์กรที่เกี่ยวข้อง จึงควรพิจารณาหามาตรการที่จะเกิดผลดีทั้งต่อประชาชนและการพัฒนากองทุนต่างๆอย่าง win-win

ข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์ คือ

  1. การถมช่องว่างของสิทธิขั้นพื้นฐาน

  2. การเพิ่มเงินกองทุนและการพัฒนาการจัดการอย่างแยกแยะ

การถมช่องว่างของสิทธิขั้นพื้นฐาน

โดยการที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เสนอคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้มีมติให้สิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ล้ำหน้า กองทุนประกันสังคมและสวัสดิการราชการ เป็นสิทธิประโยชน์ที่ผู้อยู่ในกองทุนประกันสังคมและสวัสดิการราชการ ได้สิทธิดังกล่าวด้วย(เพราะสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน)

เมื่อประกาศให้สิทธิดังกล่าว งบประมาณและการจัดการที่เพิ่มขึ้น ก็เป็นบทบาทที่ทั้ง 3 กองทุนจะได้ร่วมกันพิจารณาต่อไป

การเพิ่มเงินกองทุนและการจัดการอย่างแยกแยะ

เมื่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในระบบประกันสังคมและสวัสดิการราชการขาดหายไป การเสนอแนะและการผลักดันให้เกิดการปฏิรูประบบดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็น แต่สำหรับบทบาทของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การแสดงบทบาทของการถมช่องว่างและประคับประคองระบบด้วยยุทธศาสตร์ win-win จึงจะเป็นประโยชน์ในระยะยาว

การเพิ่มเงินกองทุนเพื่อถมช่องว่าง

  1. กรณีงบส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ปัจจุบันคำนวณเริ่มต้นจากประชากรในระบบหลักประกันสุขภาพ 47 ล้านคน แล้วจัดสรรขาลงให้ครอบคลุมประชากร 65 ล้านคน แนวคิดสำหรับประเด็นนี้ คือการของบให้กับประชากรทั้ง 65 ล้านคนตั้งแต่ต้น นั่นหมายถึงว่าของบให้ประชากรอีก 18 ล้านคนเต็มจำนวน ซึ่งจะทำให้มีงบด้านส่งเสริมสุขภาพและควบคุมป้องกันโรคเพิ่มขึ้นอีก 3,000-4,000 ล้านบาท ที่จะใช้ในการดูแลลูกหลาน พ่อแม่ ของผู้มีสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลรวมทั้งเจ้าตัวและผู้อยู่ในระบบประกันสังคม เมื่อมีงบประมาณ การจัดการใด ในความเชี่ยวชาญของสำนักงานใด เป็นประเด็นที่ทั้งสามกองทุนจะได้พิจารณาร่วมกัน และนี่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การออกพระราชกฤษฎีกา ตามมาตรา 9และ 10 ของพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

  2. กรณีงบประมาณด้านการรักษาพยาบาล ในสิทธิขั้นพื้นฐานที่ สปสช.ได้จัดให้แล้ว เช่นโรคไต ยาจำเป็น โรคร้ายแรง อุบัติเหตุฉุกเฉิน บางประการที่สิทธิอื่นๆยังไม่ครอบคลุม สปสช.และกองทุนต่างๆสามารถที่จะร่วมกันประมาณการให้ได้ตัวเลขที่เหมาะสม เพื่อเสนอรัฐบาล ในระหว่างการรองบประมาณในปี 2555 สปสช.สามารถเปิดโอกาสให้สิทธิอื่นๆได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานที่เหลื่อมล้ำดังกล่าวได้ตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งจะเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย สำหรับเม็ดเงินชดเชย งบประมาณในอนาคตและการจัดการ ถ้า สปสช.เป็นแกนนำในปัจจุบัน การจัดการในอนาคตของ 3 กองทุนในการถมช่องว่างของสิทธิขั้นพื้นฐาน ความยอมรับจากประชาชนและกองทุนต่างๆ จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง การทำให้สิทธิขั้นพื้นฐานเสมอภาค ย่อมส่งผลให้กองทุนประกันสังคม และสวัสดิการราชการ มีหลังผิงในการร่วมพัฒนาสิทธิขั้นพื้นฐาน เขายังสามารถพัฒนาสิทธิอื่นๆส่วนที่เกินสิทธิตามแต่ศักยภาพของกองทุนของเขาต่อไป ไม่ได้เป็นเรื่องที่จะนำไปสู่ประเด็นการครอบงำหรือการก้าวก่ายการดำเนินงานของแต่ละกองทุน

ไปให้ถึงหรือไปไม่ถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

เมื่อเกิดระบบหลักประกันสุขภาพในปี 2545 การที่ประชาชนจะได้สิทธิพื้นฐานด้านสุขภาพเสมอกัน ดูเหมือนเป็นเรื่องไม่ไกลเกินความเป็นจริง พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพได้กำหนดกลไกต่างๆไว้อย่างชัดเจน ทั้งการวางระบบการได้สิทธิ การจัดระบบบริการที่ได้มาตรฐาน การได้รับการชดเชยค่าใช้จ่าย การรับฟังความเห็นทั้งจากประชาชนและผู้ให้บริการ โดยมีคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพเป็นกลไกหลัก และให้มีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นองค์กรทางธุรกรรมของคณะกรรมการ นับเป็นก้าวสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพไทย อีกหนึ่งปีก็จะครบสิบปีของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิ่งที่ถูกกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติหลายประการอาจถูกหลงลืมไป แต่ประวัติศาสตร์การสถาปนาระบบหลักประกันสุขภาพไทยได้ถูกบันทึกไว้ในฐานะประวัติศาสตร์บทใหม่ บทเรียนการทวนกระแสและการบิดเบือนระบบเพื่อประโยชน์เฉพาะหน้าของกลุ่มผลประโยชน์แต่ละกลุ่มในหลายประเทศ เป็นบทเรียนที่ระบบสุขภาพไทยควรจะได้เรียนรู้ และตระหนักว่าด้วยการบริหารจัดการแบบองค์กรของฉัน พวกของฉันในปัจจุบัน ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของคนไทยทั้งมวล ได้เดินทางมาถึงช่วงเวลาที่ใกล้ตาแต่ไกลตีนอีกวาระหนึ่ง

แสดงความคิดเห็น

กรุณาป้อน Username / Password ที่ท่านได้ลงทะเบียนไว้กับเว็บไซท์แห่งนี้ หรือ สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซท์
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง