บทความ

เชื้อแบคทีเรียอีโคไล รู้จักและ

by twoseadj @June,05 2011 14.49 ( IP : 101...123 ) | Tags : บทความ
photo  , 264x191 pixel , 13,170 bytes.

ถึงวันนี้ยังมีการระบาดของเชื้อแบคทีเรียอีโคไล ในประเทศเยอรมนีจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตแล้วถึง 16 คน การแพร่ระบาดของเชื้อนี้ยังกระจายต่อไปในกลุ่มประเทศยุโรปยังน่าวิตก ล่าสุดยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นกว่า 1,500 รายใน 9 ประเทศ ขณะที่เยอรมนีซึ่งเป็นต้นตอ ยังหาแหล่งที่มาของเชื้อไม่พบ ในถึงวันนี้ยังป้องกันทำได้ค่อนข้างยาก

เราจะมาเล่าให้ฟังถึงเชื้อตัวนี้อย่างละเอียด เพื่อจะได้รุ้จักและป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อรุนแรงต่อไปครับ

โรคอุจจาระร่วงที่เกิดจากการติดเชื้อ

ที่เราตรวจพบในบ้านเราอาการท้องร่วงมักจะเกิดจากจุลินทรีย์ต่างๆ ได้แก่อหิวาตกโรค เกิดจากเชื้อวิบริโอ คอเลรี่ (Vibrio cholerae) ไทฟอยด์ เกิดจาก ซาลโมเนลลา ไทโฟซา (Salmonella typhosa) และอาการโรคอุจจาระร่วงที่เกิดจากเชื้อ อี.โคไล (E.coli) ที่เรากำลังวิตกกันอยู่

เชื้อแบคทีเรียอีโคไล รู้จักเขาหน่อย

ตามปกติแล้ว อี.โคไล เป็นแบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้ของมนุษย์เราเองนี่แหละ เชื้อนี้จะถูกขับออกจากร่างกายพร้อมอุจจาระ เขาไม่ใช่ผู้ร้ายเสมอไป เพราะความจริงแล้วเจ้าเชื้อนี้ในขณะที่อยู่ในร่างกายเราจะช่วยทำประโยชน์เยอะ ตัวอย่างเช่นการนำกากอาหารที่ร่างกายเราเองไม่ต้องการใช้แล้วมาเปลี่ยนให้เป็นวิตามินหลายชนิด รวมไปถึงยังทำหน้าที่เป็นทหารยามช่วยขัดขวางการเจริญของแบคทีเรียตัวร้ายอื่นๆ ป้องกันเราเองไม่ให้เกิดโรคบางชนิดอีกด้วย เชื้อแบคทีเรียอีโคไล ประเภทร้าย

เชื้ออีโคไลนี้มันเป็นเชื้อแบคทีเรียมีหลายร้อยสายพันธุ์ ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ที่ไม่ก่อให้เกิดโรคร้ายแรงเท่าใดนัก อย่างเช่นสายพันธุ์ที่เป็นจุลชีพทหารยามอาศัยอยู่ในทางเดินอาหารส่วนลำไส้เราที่กล่าวมา โดยไม่ทำให้เกิดโรคแต่อย่างใด แต่มันก้อมีสายพันธุ์จิ้กโก๋อย่างเช่นเชื้ออีโคไล O157:H7 ที่มีความสามารถในการสร้างโปรตีนที่เป็นพิษ ทำให้เกิดโรคที่รุนแรงและเป็นอันตรายถึงกับเสียชีวิตได้

เชื้อแบคทีเรียอีโคไล ประเภทร้ายมาแวะเยี่ยมเราหลายครั้งแล้ว

แต่ก้อยังมีอี.โคไล หลายสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วงได้เช่นกันตามที่กล่าวมา ตัวอย่างที่กำลังโด่งดังก้อคือเจ้า อี.โคไล โอ-157 (E.coli O-157) นี่แหละ ที่ผ่านมาโลกเรามีการระบาดของเขามาหลายครั้งแล้ว ตัวอย่างเช่นในปี พ.ศ. 2525 ได้มีการแพร่ระบาดของ อี.โคไล โอ-157 (E.coli O-157) ในรัฐมิชิแกนและรัฐโอเรกอน สหรัฐอเมริกา โดยพบเชื้อปนเปื้อนมากับเนื้อสัตว์ที่ใช้ทำแฮมเบอร์เกอร์ จนต้องมีการเก็บแฮมเบอร์เกอร์เหล่านี้กลับคืนมาเพื่อทำลายทิ้ง การระบาดครั้งนี้ทำให้มีผู้ป่วยหลายราย ต่อมาได้มีการพบ การแพร่ระบาดในบ้านพักคนชราของเมืองออนตาริโอ ประเทศคานาดา โดยพบเชื้อปนเปื้อนมากับอาหารพวกแซนด์วิช ทำให้มีผู้ป่วยจำนวนมากและมีผู้เสียชีวิต 19 ราย ในเดือนมีนาคม-กรกฎาคม พ.ศ.2539 ได้พบการแพร่ระบาด ของ อี.โคไล โอ-157 (E.coli O-157) ในญี่ปุ่นทำให้มีผู้ป่วย มากกว่า 1,000 คน และมีผู้เสียชีวิต 11 ราย

ในเดือนมีนาคม พ.ศ.2540 ได้มีการแพร่ระบาดของ อี.โคไล โอ-157 (E.coli O-157) ในฮ่องกง โดยเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขฮ่องกง ได้ตรวจพบการปนเปื้อนของเชื้อนี้ในเนื้อวัวที่จำหน่าย ในซุปเปอร์มาเก็ตจากการสอบสวนทางระบาดวิทยาพบว่า อี.โคไล โอ-157 (E.coli O-157) มีปะปนมากับวัว ที่ส่งมาจากประเทศจีนและเมื่อนำวัวดังกล่าว มาฆ่าที่โรงฆ่าสัตว์ในฮ่องกง โดยมิได้ระมัดระวัง ในด้านสุขอนามัยเท่าที่ควรจึงทำให้เชื้อไม่ถูกทำลายทั้งหมด เป็นผลให้มีปนเปื้อนอยู่ในเนื้อสัตว์ที่นำไปจำหน่าย กระทรวงสาธารณสุขฮ่องกงจึงได้มีประกาศเตือนประชาชน ให้นำเนื้อวัวไปให้ความร้อนที่อุณหภูมิ 75 องศาเซลเซียส หรือ 167 องศาฟาเรนไฮต์ จะทำลายเชื้อนี้ได้ อย่างไรก็ตามได้เคยมีการแพร่ระบาด ของเนื้อนี้ในฮ่องกงครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ.2537

การระบาดของเชื้อแบคทีเรียอีโคไล ในประเทศเยอรมนี ติดเชื้อมากว่า 1,000 และมีผู้เสียชีวิตแล้วถึง 16 คน

เชื้อแบคทีเรียอีโคไล การติดเชื้อและอาการ

หากเราต้องไปผจญกับเชื้อตัวร้ายหล่ะ จะเกิดอะไรขึ้น อย่างเจ้าอี.โคไล โอ-157 (E.coli O-157) มันจะแพร่กระจายในสภาพแวดล้อมรอบกายเรา หากเข้าสู่ร่างกายได้โดยการปนเปื้อนไปกับอาหารและน้ำ แล้วเราเผลอไปสัมผัสหรือกินเข้าไปโดยตรง เชื้อนี้จะใช้เวลาฟักตัวในร่างกายเรา 1-8 วัน  ตัวเขาเองไม่มีปัญหา แต่ระหว่างนี้มันจะสร้างสารพิษที่ทำให้เกิดอาการอุจจาระร่วงตามมา ในบางรายอาการอาจไม่รุนแรงมากและหายได้ภายใน 7-10 วัน แต่น้อยรายที่จะถ่ายอุจจาระปกติ โรคอุจจาระร่วงที่เกิดจากการติดเชื้อนี้มักจะไม่มีไข้ แต่ผู้ป่วยจะปวดท้องมาก ถึงขั้นปวดบิดได้

ที่น่ากลัวคือมีการเสียชีวิตจากเชื้อนี้ เนื่องจากสารพิษของเชื้อ จะทำลายเม็ดเลือดแดง จึงเกิดภาวะไตวายได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันพร่องไปหรือยังไม่สมบูรณ์เช่นเด็กอ่อนหรือผู้สูงอายุ หากมีอาการรุนแรง จะมีอุจจาระร่วงบ่อยครั้ง ปวดท้อง ท้องเสียมีเลือดปน ในเด็กอ่อนอายุน้อยกว่า 5 ปีหรือในผู้สูงอายุ มักจะเกิดโรคแทรกซ้อน เม็ดเลือดแดงถูกทำลายและทำให้ไตวาย เรียกชื่อว่า กลุ่มอาการเม็ดเลือดแดงแตกและไตวาย (hemolytic uremic syndrome) ทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย เนื่องจากเกร็ดเลือดถูกทำลาย จึงมีอาการเสียชีวิตได้ง่าย  อัตราการเสียชีวิตประมาณร้อยละ 1

เชื้อแบคทีเรียอีโคไล ป้องกันอย่างไร

โลกเราเดี๋ยวนี้แคบมาก ทำให้การป้องกันทำได้ค่อนข้างยาก เพราะการคมนาคมเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว การแพร่ระบาดของโรคจากประเทศหนึ่งไปสู่อีกประเทศหนึ่ง จึงรวดเร็วตามไปด้วย อย่างไรก็ตามการที่จะช่วยป้องกัน มิให้ติดเชื้อที่ดีที่สุดก็คือ จะต้องสร้างสุขนิสัยในการรับประทานอาหารให้ถูกต้อง เริ่มต้นด้วย กินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ดื่มน้ำที่สะอาด หรือดื่มน้ำที่ผ่านการต้มแล้ว ล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง ก่อนรับประทานอาหาร

หากคุณชอบดื่มนมนั้น ควรดื่มนมที่ผ่านขบวนการ ฆ่าเชื้อมาแล้ว เช่น นมปาสเจอไรซ์ นมสเตอริไรซ์หรือนมยูเอชที เป็นต้น ทั้งนี้เพราะ อี.โคไล ถูกทำลายได้ง่ายด้วยความร้อน โดยถูกทำลายได้ง่ายที่อุณหภูมิน้ำเดือดหรือ 100 องศาเซลเซียส ประมาณ 15 นาที จึงทำให้อาหารที่ผ่านความร้อน มีความปลอดภัยต่อการบริโภคมาก

ในผู้ป่วยที่ปรากฏอาการอุจจาระร่วงนั้น หากอาการไม่รุนแรงนักก็ให้รับประทานน้ำดื่มเกลือแร่ (electrotytes) เพื่อทดแทนการสูญเสียน้ำ แต่ถ้าหากอาการยังไม่ทุเลา ก็ต้องรีบมาพบแพทย์เพื่อให้การรักษาพยาบาลต่อไป

โดย เภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล http://www.oknation.net/blog/DIVING

แสดงความคิดเห็น

กรุณาป้อน Username / Password ที่ท่านได้ลงทะเบียนไว้กับเว็บไซท์แห่งนี้ หรือ สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซท์
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง