นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 4 มิถุนายนถึงการแพร่ระบาดของเชื้อแบคทีเรีย อี.โคไล โอ 104 ในประเทศแถบยุโรป 12 ประเทศว่า ในวันที่ 6 มิถุนายนนี้ สธ.จะระดมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัด ทั้งกรมควบคุมโรค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หารือถึงมาตรการเฝ้าระวังว่า จะมีการออกมาตรการใดเพิ่มเติม นอกเหนือจากการเฝ้าระวังเชื้อในสถานพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ
"อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่าไม่จำเป็นต้องส่งเจ้าหน้าที่กรมควบคุมโรคไปประจำที่สนามบินนานาชาติ เนื่องจากสถานการณ์ยังไม่ถึงขั้นวิกฤต อีกทั้งประเทศไทยก็มีระบบตรวจสอบผู้โดยสารขาเข้าอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการให้กรอกเอกสารขาเข้า จะสอบถามเกี่ยวกับสุขภาพ ซักประวัติโรคเบื้องต้น ขณะเดียวกัน บริเวณด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ก็มีระบบตรวจสอบผู้โดยสารกลุ่มนี้ด้วย หากพบโรคเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ประจำ ตม.จะทำหน้าที่คัดกรองผู้ป่วยเอง โดยหากพบรายใดมีอาการป่วยที่อาจเข้าข่าย เจ้าหน้าที่จะซักประวัติ และขอที่อยู่ขณะพำนักหรืออาศัยภายในประเทศไทย เพื่อติดตามอาการ ทั้งหมดเป็นขั้นตอนที่มีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องจัดตั้งทีมเฉพาะกิจไปประจำอีก"นพ.ไพจิตร์กล่าว และว่า นอกจากนี้ สธ.ได้ทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ ทั้งภาครัฐและเอกชน ให้เฝ้าระวังผู้ที่อาจมีอาการใกล้เคียงโรคนี้
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป สธ.กล่าวว่า เชื้อ อี.โคไล เป็นเชื้อที่อยู่ในลำไส้ของมนุษย์อยู่แล้ว เพียงแต่กรณีนี้มีการติดเชื้อจากภายนอก ชาวยุโรปเชื่อว่าอาจปนเปื้อนมากับอาหาร ทำให้เชื้อ อี.โคไล แตกต่างจากเดิม กลายเป็นสายพันธุ์ใหม่ โดยเชื้อดังกล่าวเป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า เอสทีอีซี (STEC-Shiga toxin-producing Escherichia coli) หรือ E.coli O 104 เป็นเชื้อก่อโรคที่มีความรุนแรงกว่าเดิม โดยเชื้อดังกล่าวจะไปสร้างสารพิษทำลายลำไส้ ทำให้ลำไส้มีเลือดออก และอุจจาระเป็นเลือด ขณะเดียวกันยังส่งผลให้เม็ดเลือดแดงแตกในกระแสเลือด อาจลุกลามไปทำลายไต ก่อให้เกิดไตวาย และหากรักษาไม่ทันจะเสียชีวิตในที่สุด ดังนั้น ควรป้องกันโดยการดูแลสุขอนามัย ยึดหลัก กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ปรุงอาหารให้สุก เนื่องจากหากปรุงสุกด้วยความร้อนเกิน 70 องศาเซลเซียส จะทำลายเชื้อนี้ได้ และหากต้องการบริโภคผักผลไม้ก็ต้องล้างให้สะอาด
"หากกังวลมาก ช่วงนี้อาจหลีกเลี่ยงกินผักสด ส่วนผลไม้ก็ควรปอกเปลือก เนื่องจากเชื้อประเภทนี้จะติดบริเวณเปลือก แต่ไม่อยากให้กังวลมาก เพราะประเทศไทยนำเข้าผักผลไม้จากยุโรปน้อยมาก" นพ.โอภาสกล่าว
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)