ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์

คดีโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G: ประโยชน์สาธารณะอยู่ที่ไหนและใครถ่วงความเจริญ?

by twoseadj @May,15 2011 12.45 ( IP : 202...1 ) | Tags : ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์
photo  , 630x378 pixel , 56,996 bytes.

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมามีข่าวบริษัท ดีแทค ฟ้องร้อง กสท โทรคมนาคม ต่อศาลปกครอง เพื่อให้ยกเลิกสัญญาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G ระหว่าง กสท.และบริษัทในเครือของ ทรู คอร์ปอเรชั่น และขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการดำเนินการต่างๆ ตามสัญญาดังกล่าวเป็นการชั่วคราว ในช่วงที่หน่วยงานรัฐต่างๆ กำลังพิจารณาความชอบด้วยกฎหมายของสัญญา คดีนี้ถือเป็นคดีเกี่ยวกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G คดีที่สอง ที่มีการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง โดยในครั้งแรกนั้น กสท ได้ฟ้องร้อง กทช ที่กำลังจะประมูลใบอนุญาตโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G จำนวน 3 ใบ เมื่อปี 2553 ที่ผ่านมา

การตั้งข้อสังเกตต่อความไม่ชอบมาพากลต่อกระบวนการและเนื้อหาของสัญญา ทำให้ผู้เขียนถูกผู้เสียผลประโยชน์บางรายกล่าวหาว่า พยายาม “ถ่วงความเจริญ” ไม่ให้ประเทศไทยมีบริการโทรศัพท์ 3G ใช้ จุดประสงค์ของบทความนี้ก็เพื่ออธิบายว่า สัญญาต่างๆ และคดีที่เกิดขึ้นนี้เกี่ยวข้องกับประโยชน์ของประชาชนอย่างไร? และทำไม ผู้เขียน ซึ่งเป็นนักวิชาการที่ไม่ได้มีผลประโยชน์โดยตรง จึงต้องออกมาแสดงความคิดเห็น?

แม้ว่าการฟ้องร้องในคดีโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G ทั้งสองคดี น่าจะเกิดจากแรงจูงใจในการรักษาผลประโยชน์ส่วนตนของผู้ฟ้องเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นรัฐวิสาหกิจคือ กสท. หรือเอกชนคือ ดีแทค ก็ตาม การที่ผู้เขียนต้องออกมาแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ ก็เพราะเชื่อว่า มีประโยชน์สาธารณะ (public interest) ซึ่งหมายถึงผลประโยชน์ของประชาชนเกี่ยวข้องกับคดีทั้งสองอย่างมีนัยสำคัญ

วิธีหนึ่งที่เราจะสามารถพิจารณาประโยชน์สาธารณะที่เกี่ยวข้องในคดีทั้งสองได้ก็คือ การตั้งคำถามว่า หากไม่มีการฟ้องร้องกัน ซึ่งทำให้การดำเนินการต่างๆ เกิดขึ้นต่อไป จะเกิดอะไรขึ้นกับประชาชน ทั้งนี้ ในกรณีนี้ ประชาชนอาจมีได้ 3 ฐานะคือ หนึ่ง การเป็นผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภคของบริการโทรศัพท์ 3G สอง การเป็นผู้เสียภาษีให้รัฐ และ สาม การเป็นพลเมืองเจ้าของประเทศ

ในคดีที่ กสท. ฟ้องร้อง หากไม่มีการฟ้องร้องโดย กสท. และให้การคุ้มครองชั่วคราวโดยศาลปกครอง สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นในความเห็นของผู้เขียนก็คือ

    ประเทศไทยจะมีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้นอีก 3 ราย แข่งขันกันให้บริการ 3G นอกเหนือจาก ทีโอที ซึ่งให้บริการอยู่แล้ว โดยการแข่งขันจะมีความเสมอภาค ซึ่งจะทำให้ประชาชนในฐานะผู้บริโภคได้รับประโยชน์สูงสุด     รัฐจะได้ค่าประมูลคลื่นความถี่ไม่ต่ำกว่า 3.9 หมื่นล้านบาท จากการออกใบอนุญาต 3 ใบ ใบละไม่ต่ำกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้สามารถลดภาระภาษีที่รัฐต้องจัดเก็บจากประชาชน หรือสามารถเพิ่มบริการสาธารณะต่างๆ เช่น การศึกษา หรือสวัสดิการแก่ประชาชนได้ ซึ่งจะทำให้ประชาชนในฐานะผู้เสียภาษีได้รับประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ ค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ดังกล่าวจะไม่ทำให้ค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สูงขึ้น เพราะเป็นเงินที่ถูกเก็บมาจากกำไรส่วนเกินของผู้ประกอบการ ไม่ใช่ส่วนที่ไปเพิ่มต้นทุน อย่างที่มักมีความเข้าใจผิดกัน

    ระบบใบอนุญาตโดยหน่วยงานกำกับดูแลอิสระคือ กสทช. เป็นระบบมีความโปร่งใสมากกว่าและไม่เลือกปฏิบัติ จะมาทดแทนระบบสัมปทานของรัฐวิสาหกิจที่เต็มไปด้วยความไม่โปร่งใส และการแสวงหาผลประโยชน์ของฝ่ายการเมือง ซึ่งทำให้เกิด “อภิมหาเศรษฐี” ขึ้นมาในระบบเศรษฐกิจไทย ซึ่งภายหลังก้าวเข้าสู่การเมือง และเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งในสังคมในปัจจุบัน ระบบใหม่นี้จะมีผลในการลด “ธนกิจการเมือง” (money politics) และทำให้ประชาธิปไตยของไทยตอบสนองความต้องการของประชาชนในฐานะพลเมืองมากขึ้น

ดังนั้น หากมองว่า ประโยชน์สาธารณะคือ ประโยชน์ของประชาชน ถ้ามีการประมูลคลื่น 3G ตั้งแต่ปีที่แล้ว ผู้เขียนเห็นว่า ประชาชนทั้งในฐานะผู้บริโภค ผู้เสียภาษีและพลเมือง จะได้ประโยชน์สูงสุดด้วยเหตุผล 3 ประการข้างต้น

น่าเสียดายที่ การประมูลดังกล่าวไม่เกิดขึ้น เนื่องจากศาลปกครองรับฟ้องและให้การคุ้มครองชั่วคราวตามคำขอของ กสท. โดยอ้างเหตุผล 3 ประการโดยสรุปคือ หนึ่ง ยังไม่มีการจัดทำแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่และตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ ซึ่งทำให้การประมูลของ กทช. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย สอง การให้การคุ้มครองของศาลจะกระทบเฉพาะต่อผู้ประกอบการเพียง 3 รายเท่านั้น และสาม การยังไม่มีบริการ 3G ไม่เป็นอุปสรรคต่อการให้บริการสาธารณะ โดยส่วนตัว ผู้เขียนเห็นแตกต่างจากศาล เนื่องจากคำสั่งให้การคุ้มครองดังกล่าวของศาลกระทบต่อบริการสาธารณะอย่างชัดเจน และกระทบต่อผู้ที่รอใช้บริการจำนวนมาก ไม่ใช่ผู้ให้บริการเพียงสามรายเท่านั้น

ส่วนในข้อแรก แม้การพิจารณาว่า การดำเนินการของ กทช ไม่ชอบด้วยกฎหมายจะมีน้ำหนักก็ตาม ผู้เขียนก็เห็นสอดคล้องกับนักกฎหมายมหาชนบางคนที่เชื่อว่า กสท. ไม่น่าจะมีสิทธิฟ้องในฐานะผู้เสียหาย ในการฟ้องคดีนั้น กสท. อ้างว่า การประมูลคลื่น 3G ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ของ กทช. จะทำให้ตนสูญเสียรายได้จากสัมปทานที่มีอยู่ ผู้เขียนก็ไม่เห็นด้วยกับคำกล่าวอ้างดังกล่าว เพราะแม้ กทช. หรือ กสทช. ที่จะตั้งขึ้นจะดำเนินการตามกฎหมายทุกขั้นตอน เช่น จัดทำแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่แล้วก็ตาม กสท ก็ยังจะเสียหายจากรายได้จากสัมปทานที่จะลดลง จากการออกใบอนุญาต 3G อยู่นั่นเอง ความเสียหายของ กสท จึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับความชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายในการดำเนินการของ กทช. กสท จึงน่าจะไม่ใช่ผู้เสียหายที่มีสิทธิฟ้องต่อศาลปกครอง

ส่วนในคดีล่าสุดที่ ดีแทค ฟ้องร้องต่อศาลปกครองนั้น หากไม่มีการฟ้องร้องเพื่อระงับกระบวนการที่เป็นอยู่ สิ่งที่ผู้เขียนคาดว่าจะเกิดขึ้นก็คือ

    นอกเหนือจาก ทีโอทีแล้ว ประเทศไทยจะมีผู้ให้บริการ 3G อีกเพียงรายเดียว คือ ทรู ซึ่งจะให้บริการ 3G ก่อนรายอื่น โดยไม่แน่ชัดว่า เอไอเอส และดีแทค ซึ่งเป็นคู่แข่งรายสำคัญจะสามารถเริ่มให้บริการได้เมื่อใด และภายใต้เงื่อนไขที่เสมอภาคกันหรือไม่ โดยเฉพาะกรณีของดีแทค ซึ่งประสบปัญหาในการได้รับอนุญาตเปิดบริการ 3G จาก กสท. นั้นก็ยิ่งไม่แน่ชัดว่าจะได้รับอนุญาตเมื่อใด เพราะถูก กสท. ปฏิเสธมาแล้ว ทั้งหมดนี้จะก่อให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม อันจะนำไปสู่การผูกขาดตลาด ซึ่งทำให้ผู้บริโภคเสียประโยชน์จากค่าบริการที่แพงและคุณภาพบริการที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งยากจะแก้ไขโครงสร้างตลาดให้กลับมาเป็นตลาดที่แข่งขันกันได้ในภายหลัง

    รัฐจะเสียหายจากการไม่ได้รับค่าประมูลคลื่นความถี่ไม่ต่ำกว่า 3.9 หมื่นล้านบาท เนื่องจาก กสท. นำคลื่นของตนไปให้ทรูใช้โดยไม่ได้คิดต้นทุน ซึ่งภายหลังจะเป็นเหตุให้เอไอเอส และดีแทค นำไปเป็นข้ออ้างไม่ยอมจ่ายค่าคลื่นความถี่ให้แก่รัฐได้ในอนาคต ซึ่งก็เป็นความเสียหายที่ยากจะแก้ไขกลับคืนมาได้เช่นกัน

    สัญญาที่มีลักษณะคล้ายสัมปทานระหว่าง กสท. และทรู จะทำให้เกิดความไม่โปร่งใส และการแสวงหาผลประโยชน์ในตลาดโทรคมนาคมของฝ่ายการเมืองคงอยู่ต่อไปอีก 14-15 ปี ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อทั้งตลาดโทรคมนาคมเอง และเกิดปัญหา “ธนกิจการเมือง” ที่ทำให้ประชาธิปไตยของไทยไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชน จากอิทธิพลของกลุ่มผลประโยชน์ที่เข้ามาแทรกแซงไปอีกนาน

มาถึงจุดนี้ ท่านผู้อ่านคงเห็นแล้วว่า ประโยชน์สาธารณะในคดี 3G ทั้งสองคดีดังกล่าวอยู่ที่ไหน? และใครกันแน่ที่เป็นผู้ถ่วงความเจริญของประเทศไทย?

Relate topics

แสดงความคิดเห็น

กรุณาป้อน Username / Password ที่ท่านได้ลงทะเบียนไว้กับเว็บไซท์แห่งนี้ หรือ สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซท์
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง