เครือข่าย ปชช.เพื่อรัฐสวัสดิการ ชี้ หาก สปส.ไม่ชำนาญ ควรโอนผู้ประกันตนให้บัตรทอง หรือตั้ง คกก.คุมมาตรฐานเดียวกัน สร้างความเท่าเทียมทั้ง 2 กองทุน คาดจัดเสวนาทิศทางนโยบายสุขภาพเสนอพรรคการเมือง มิ.ย.นี้
วันนี้ (11 พ.ค.) ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการและหลักประกันสุขภาพ ร่วมกับตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน 9 ด้าน ประกอบด้วย ผู้ใช้แรงงาน เด็กและเยาวชน สตรี คนพิการ เกษตรกร ชนกลุ่มน้อย ชุมชนแออัด ผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเรื้อรัง และผู้สูงอายุ แถลงจุดยืนเรื่อง “นโยบายสาธารณะด้านหลักประกันสุขภาพที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ”
โดย น.ส.สุรีรัตน์ กล่าวว่า อยากฝากถึงพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โดยเฉพาะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เคยให้คำมั่นเสมอเกี่ยวกับนโยบายการสร้างสวัสดิการด้านสุขภาพอย่างทั่วถึง แต่ปรากฏว่า ไม่เป็นเช่นนั้น ขณะนี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ก็ไม่ทำหน้าที่ในการสร้างความเข้าใจให้กับแพทย์ พยาบาล บุคลากรของโรงพยาบาลสังกัด สธ.บางกลุ่มที่เข้าใจผิดและออกมาประกาศว่าบัตรทองไม่ดี ทั้งๆ ที่ควรทำงานตามจรรยาบรรณในการดูแลรักษาประชาชน
น.ส.สุรีรัตน์ กล่าวต่ออีกว่า ที่สำคัญ ยังมีแพทย์บางกลุ่มออกมาให้ข้อมูลผิดๆ แก่ผู้ประกันตนว่าควรยอมรับบริการรักษาพยาบาลของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) และกล่าวอ้างว่า บัตรทองหรือระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่ดี ทั้งๆ ที่ระบบนี้ดูแลคนราว 48 ล้านคน หนำซ้ำยังกล่าวอ้างว่าสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ต้องการดูแลสิทธิรักษาพยาบาลผู้ประกันตนเพราะต้องการฮุบเงิน ซึ่งไม่จริง เนื่องจากในฐานะที่พวกตนเป็นเครือข่ายภาคประชาชนที่มีส่วนในการผลักดัน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 มาตลอด รู้ดีว่าบัตรทองมีศักยภาพในการทำงานมากแค่ไหน ขณะที่ สปส.ไม่ชำนาญในการดูแลเรื่องกองทุนรักษาพยาบาล ดังนั้น ทางที่ดีที่สุด เราขอเรียกร้องให้สปส.หากไม่มีความชำนาญ และไม่ได้มีความเป็นมืออาชีพ ก็ควรมอบหน้าที่นี้ให้แก่คนที่เป็นมืออาชีพบริหารดีกว่า แต่หากไม่ได้จริงๆ กรณีการรักษาพยาบาลก็ควรให้มีความเท่าเทียมทั้งสองกองทุน คือ บัตรทองและประกันสังคม โดยอาจตั้งคณะกรรมการควบคุมมาตรฐานเดียวกันขึ้นมา เพื่อดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ
“ประเด็นสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญที่พรรคการเมืองควรให้ความสำคัญในระดับต้นๆ โดยเฉพาะการรักษาที่เท่าเทียม และมีคุณภาพ ซึ่งปัจจุบันไม่มี เห็นได้ชัดจากผู้ประกันตนทำไมยังต้องจ่ายเงินสมทบ ทั้งๆที่ควรนำเงินที่จ่ายส่วนนี้ไปพัฒนาสิทธิประโยชน์ด้านอื่นๆ ของประกันสังคม เช่น บำนาญชราภาพ” น.ส.สุรีรัตน์ กล่าว
ด้าน นายอนันต์ เมืองมูลไชย รองประธานมูลนิธิเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อยากฝากถึงพรรคการเมืองทุกพรรคให้ใส่ใจประเด็นสุขภาพของประชาชน เนื่องจากนโยบายสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม ดูจากรัฐบาลที่เพิ่งยุบสภาไปก็ไม่ได้ให้ความสำคัญเหมือนที่เคยพูด เห็นได้จาก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายจากการบริการสาธารณสุข พ.ศ... ซึ่ง นายอภิสิทธิ์ เคยรับปากจะเดินหน้า แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นผล แม้แต่ นายจุรินทร์ ก็ยังนิ่งเฉย รวมไปถึงรัฐมนตรี สธ.คนก่อน อย่าง นายวิทยา แก้วภราดัย ช่วงเป็นรัฐมนตรี สธ.เคยลงนาม หลังจากออกจากตำแหน่ง และดำรงเป็นประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือวิปรัฐบาล ก็ไม่ได้สนใจเรื่องนี้เช่นกัน ทั้งๆ ที่ร่าง พ.ร.บ.นี้ มีประโยชน์กับผู้ป่วยทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในสิทธิสุขภาพใดก็ตาม
ทั้งนี้ เกี่ยวกับเรื่องนี้ทางเครือข่ายอยู่ระหว่างหารือกับภาคประชาชนส่วนต่างๆ ในการจัดเวทีเสวนาเรื่อง การเมืองภาคพลเมือง : วาระรัฐสวัสดิการของประเทศไทย ซึ่งจะจัดในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ โดยจะเป็นการเสวนาในประเด็นนโยบายสุขภาพที่ควรจะเกิดขึ้น ทิศทางจะเป็นอย่างไร ซึ่งข้อสรุปในการเสวนาจะเสนอต่อพรรคการเมืองที่มีความสนใจด้านนี้
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)