บทความ

บทเรียนคดี "มะละกอจีเอ็มโอ" จุดเริ่มต้นการต่อสู้พืชตัดต่อพันธุกรรม

by twoseadj @December,09 2008 17.25 ( IP : 222...14 ) | Tags : บทความ
photo  , 400x600 pixel , 85,846 bytes.

เขียนโดย ไทยโพสต์ Sunday, 10 August 2008

เป็นเวลากว่า 10 วันแล้วที่ศาลปกครองกลางตัดสินใจยกฟ้องคดีที่มูลนิธิสันติภาพเขียว (กรีนพีซตะวันออกเฉียงใต้) ฟ้องร้องกรมวิชาการเกษตร

ในฐานะจำเลยที่ 1 และอธิบดีกรมวิชาการเกษตรในฐานะจำเลยที่ 2 กรณีในปี 2549 กรณีที่กรมวิชาการเกษตรที่ทดลองปลูกมะละกอตัดต่อสารพันธุกรรม (GMOs) ในพื้นที่เปิด จนทำให้เกิดการหลุดรอดแพร่กระจายมะละกอจีเอ็มโอ ไปสู่มะละกอแขกดำสายพันธุ์ท่าพระ บริเวณใกล้เคียงกับแปลงทดลองสำนักงานเกษตร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ปัจจุบันคือสถานีทดลองพืชสวนขอนแก่น) และมีการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์มะละกอจีเอ็มโอให้กับเกษตรกร

โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จากหลักฐานชี้แจงและการลงตรวจสอบพื้นที่ของคณะกรรมการพบว่า กรมวิชาการเกษตรและอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ไม่ได้ละเลยต่อหน้าที่ในการตรวจสอบและกำหนดมาตรการในการทดลองปลูกมะละกอจีเอ็มโอตามมาตรา 8 แห่ง พระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ.2507 จึงไม่ได้เป็นสาเหตุให้มะละกอจีเอ็มโอแพร่กระจายไปสู่สิ่งแวดล้อม เนื่องจากมีการควบคุมกำกับดูแลการทดลองการปลูกมะละกอจีเอ็มโออย่างใกล้ชิด โดยมีคณะทำงานตรวจสอบความปลอดภัยทางชีวภาพภาคสนามของพืชตระกูลแตงและมะละกอจีเอ็มโอ ตรวจสอบให้คำแนะนำการทดลองปลูกอย่างรัดกุมและเป็นไปตามใบอนุญาต รวมทั้งมีการรับรองผลการวิจัยโดยคณะกรรมการความปลอดภัยทางชีวภาพด้านการเกษตร

นอกจากนี้ ศาลยังพิเคราะห์อีกว่า ยังไม่ปรากฏพยานหลักฐานอื่นใดในการชี้ชัดว่าเป็นเมล็ดพันธุ์ที่มาจากผู้ถูกฟ้อง และการหลุดรอดอาจมาจากการนำเข้าแบบไม่ถูกกฎหมายแล้วอ้างว่าเป็นพันธุ์มะละกอปกติ อีกทั้งเมื่อพบการแพร่กระจายของมะละกอจีเอ็มโอ ผู้ถูกฟ้องก็ออกประกาศให้เป็นพื้นที่ควบคุมศัตรูพืชและทำการฝังกลบ และทำการตรวจสอบมะละกอในแปลงเกษตรกรซ้ำในพื้นที่เดิม และพื้นที่ใหม่ที่สงสัยว่าจะมีการแพร่ระบาด ซึ่งไม่พบมะละกอจีเอ็มโอแต่อย่างใด จึงเชื่อว่ากรมวิชาการเกษตรและอธิบดีกรมวิชาการเกษตร มิได้ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 17 มาตรา 18 และมาตรา 20 ตาม พ.ร.บ.กักพืช พ.ศ.2507 จึงไม่จำเป็นต้องสั่งให้กรมวิชาการเกษตร ตรวจสอบการแพร่ระบาดของมะละกอจีเอ็มโอในแปลงของเกษตรกรอีก และศาลเห็นควรให้ยกฟ้อง

นับเป็นเวลา 4 ปีแห่งการต่อสู้เรื่องพันธุ์พืชตัดต่อสารพันธุกรรม แม้กรีนพีซจะพ่ายแพ้ แต่ในด้านหนึ่งก็เป็นข้อดีในจุดที่สังคมจะได้รับทราบข้อเท็จจริงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งกรณี ถึงแม้ว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวจะไม่สามารถนำไปเป็นหลักฐานเพิ่มเติมสำหรับการอุทธรณ์ในชั้นศาลปกครองสูงสุดที่กรีนพีซกำลังขอยื่นภายใน 30 วันหลังศาลมีคำตัดสินก็ตาม

วิฑูรย์ เลี่ยมจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BioThai) กล่าวว่า "ข้อเท็จจริง" ที่ถือว่าเป็นหลักฐานอีกชิ้นนี้ก็คือ เทปบันทึกการประชุมภายในของคณะกรรมการตรวจสอบการปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโอที่แต่งตั้งขึ้นในสมัยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยคณะกรรมการชุดนี้ได้ดึงคนนอกเข้าร่วมด้วย 2 คน ซึ่ง 1 ใน 2 ก็คือตน

วิฑูรย์อธิบายถึงเนื้อหาในเทปม้วนนี้ว่า เป็นการบันทึกบรรยากาศในการประชุมเกี่ยวกับการสรุปผลรายงานการแพร่ระบาดของมะละกอจีเอ็มโอครั้งแรกและครั้งเดียวของคณะกรรมการฯ ชุดนี้ ว่ากระจายไปยังพื้นที่ใดบ้าง และแม้ว่าการวิเคราะห์ในที่ประชุมจะบอกว่าการปนเปื้อนมาจากหลายทาง แต่ประธานในที่ประชุมที่เป็นอธิบการดี ม.เกษตรศาสตร์ในสมัยนั้นกล่าวสรุปไว้ว่า เมล็ดพันธุ์มะละกอจีเอ็มโอที่หลุดแพร่กระจายไปยังเกษตรกรไทย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนในของกรมวิชาการเกษตร สำนักงานเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีส่วนร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม ประธานไม่มีหน้าที่เอาคนผิดมาลงโทษ เพราะหน้าที่นี้กรมวิชาการเกษตรต้องรับผิดชอบนำบุคลากรไปรับโทษเอง

"ผมว่าหลักฐานชิ้นนี้มันชี้ชัดมากว่าใครเป็นคนผิดในเรื่องนี้ และส่วนตัวมองว่าการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบในอดีต กระทรวงเกษตรฯ ไม่ตรงไปตรงมา เพราะเป็นการประชุมเพียง 1 ครั้งแล้วหายไป แถมยังไม่มีการรายงานผลการประชุมเป็นลายลักษณ์อักษร อันส่งผลให้รัฐมีส่วนรับผิดชอบในเรื่องนี้"

ผอ.ไบโอไทย ยังกล่าวด้วยความเสียดายว่า ถ้ากรีนพีซติดต่อหรือประสานขอข้อมูลเร็วกว่านี้ก็จะดี เพราะจะได้นำเอาเป็นไปหลักฐานประกอบให้การฟ้องมีข้อมูลที่น่าเชื่อถือ กลายเป็นหลักฐานที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งตนก็ยินดีที่จะให้เทปม้วนนี้อยู่แล้ว

นอกจากนี้ วิฑูรย์ยังแสดงความวิตกเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของพันธุ์พืชจีเอ็มโอว่า เรื่องจีเอ็มโอในประเทศไทย ณ ตอนนี้ เหมือนอยู่ในช่วงสุญญากาศ แม้จะตั้งคำถามถึงปัญหาที่เกิดขึ้นไปที่รัฐบาลแต่ก็ไม่มีคำตอบใดๆ กลับมา เพราะกระแสการเมืองกลบมิด รัฐบาลยุ่งแต่เรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ก็มัวแต่ทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ไร้คนปกครองและบริหารประเทศ ฯลฯ จึงยากที่จะคาดหวังให้รัฐดูแลเรื่องการปนเปื้อนของพืชจีเอ็มโอ ในขณะที่คนไทยกำลังอยู่ในภาวะเสี่ยง

กรณีที่เห็นได้ชัด คือ การออกสำรวจและเก็บตัวอย่างพืช 3 ชนิด 19 ตัวอย่าง ที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนทางพันธุกรรม ได้แก่ ฝ้าย ถั่วเหลือ และข้าวโพด ในบริเวณ จ.นครสวรรค์ พิษณุโลก และสุโขทัย ระหว่างวันที่ 25-26 พ.ย.2550 หลังจากส่งตรวจสอบที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ พบตัวอย่างใบข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และฝักข้าวโพดจากแปลงเกษตรกรใกล้ที่ตั้งของบริษัทมอนซานโต้ ในพื้นที่ ต.ดินทอง อ.วังทอง จ.พิษณุโลก เป็นข้าวโพดจีเอ็มโอ

"จากการเก็บพันธุ์พืชกว่า 600 ตัวอย่างในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ อาทิ ข้าวโพด ถั่วเหลือง ฝ้าย สัปปะรด มันฝรั่ง หอมหัวใหญ่ และปาล์มน้ำมัน ไบโอไทยตรวจสอบขั้นต้นเมื่อเร็วๆ นี้ พบว่า มีการปนเปื้อนจีเอ็มโอหลายเปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะในหมู่พืชอาหารที่บอกได้ว่าน่าเป็นห่วง ทั้งนี้ขอเวลาในการตรวจสอบซ้ำอีกรอบก่อนที่จะแถลงอย่างเป็นทางการ เนื่องจากส่งผลกระทบกับระบบเศรษฐกิจของชาติ"

เขายังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ปัญหาเรื่องการปนเปื้อนพืชจีเอ็มโอในประเทศไทย มีการพูดถึงกันอย่างแพร่หลาย แต่ทำไมรัฐจึงไม่เข้ามาตรวจสอบอย่างจริงจัง ปล่อยให้ภาคเอกชนหรือเอ็นจีโอต้องทำงานกันเองในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ทั้งที่เป็นเรื่องความปลอดภัยทางอาหารของประชาชนในประเทศ

อย่างไรก็ตามเมื่อพึ่งภาครัฐไม่ได้ ไบโอไทยจึงเป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดทำกรอบพระราชบัญญัติว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมโดยภาคประชาชน ซึ่งเสร็จเรียบร้อยออกมาเป็น ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม พ.ศ..... พร้อมจะนำเสนอต่อรัฐสภาในทันทีหากมีรายชื่อรับรองจากภาคประชาชนจำนวน 10,000 รายชื่อครบ

โดยสาระสำคัญในร่าง พ.ร.บ.ภาคประชาชนฉบับนี้ จะสามารถช่วยควบคุมการใช้พืชจีเอ็มโออันก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของคนในประเทศ อีกทั้งปกป้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการผสมข้ามสายพันธุ์ ระหว่างพืชจีเอ็มโอและพืชพื้นเมือง

ตัวอย่าง ในมาตรา 53 ส่วนที่ 5 การปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม จะระบุไว้เลยว่ากรณีการปลดปล่อยจีเอ็มโอสู่สิ่งแวดล้อม หรือมีส่วนก่อให้เกิดการปนเปื้อนทางพันธุกรรมกับสิ่งมีชีวิตอื่น ให้ผู้ได้รับอนุญาติให้ปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมรับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการปนเปื้อนต่อเจ้าของสิ่งมีชีวิตที่ถูกปนเปื้อน เว้นแต่ผู้ได้รับอนุญาตจะพิสูจน์ได้ว่าการปนเปื้อนดังกล่าวเกิดจากการกระทำโดยเจตนา หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าของสิ่งมีชีวิตนั้นๆ หรือเกิดจากเหตุสุดวิสัย... พูดได้ว่ากฎหมายฉบับนี้จะเป็นเกราะป้องกันให้กับประชาชนคนไทยที่ยังไม่ไว้วางใจพืชจีเอ็มโอ ฉะนั้นประชาชนที่เห็นด้วยก็ควรช่วยกันสนับสนุน อย่างน้อยก็เพื่อสิทธิของตัวเอง

ด้านณัฐวิภา อิ้วสกุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านเกษตรกรรมยั่งยืน ชี้แจงถึงความรู้สึกหลังศาลมีคำพิพากษาว่า ผลที่ออกมากรีนพีซไม่ได้ถือว่าเป็นความพ่ายแพ้ที่เราต้องถอดใจ แต่กลับเป็นแรงกระตุ้นให้มีความรอบคอบในการอธิบายต่อศาลปกครองสูงสุดมากกว่า อีกทั้ง และเราก็เชื่อว่าหลักฐานที่ส่งให้ศาลพิจารณามีความน่าเชื่อถือว่า หลักฐานที่กรมวิชาการเกษตรอ้างอิงโดยไม่มีผลทางวิทยาศาสตร์รับรอง หลักๆ ไม่ว่าจะเป็นใบเสร็จรับเงินซื้อเมล็ดพันธุ์มะละกอจีเอ็มโอมาจากกรมวิชาการเกษตร ผลการตรวจสอบการปนเปื้อนจีเอ็มโอ จากแล็บมาตรฐานสากลเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ภาพถ่ายสถานที่แปลงทดลองที่มีแต่รั้วลวดหนาม ไม่มีตาข่ายหรือการปิดล้อมโรงเรือนอย่างที่กล่าวอ้าง หรือเอกสารการสุ่มตรวจแบบขอไปทีเมื่อมีการแพร่ระบาดปนเปื้อนมะละกอจีเอ็มโอ หรือแม้แต่ผลที่ลงไปตรวจสอบกับคณะกรรมการสิทธิฯ

และที่สำคัญคือเกษตรกร จ.ระยองผู้ที่หนึ่ง แจ้งมายังกรีนพีซหลังช่วงที่รัฐออกมาประกาศว่ากำจัดมะละกอปนเปื้อนจีเอ็มโอหมดแล้ว โดยสงสัยเมล็ดพันธุ์มะละกอที่ซื้อมาจากกรมวิชาการเกษตร อาจเป็นจีเอ็มโอ พร้อมให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าภาครัฐไม่เคยเข้ามาเก็บทำลายเมล็ดพันธุ์ หรือต้นมะละกอที่ปลูกไว้ในแปลงแม้แต่ครั้งเดียว เมื่อตรวจสอบก็พบว่าปนเปื้อนจีเอ็มโอจริง จึงขอให้ลงชื่อไว้เป็นหลักฐาน

"ตั้งแต่เกิดเป็นคดีความฟ้องร้องมานั้น กรีนพีซไม่เคยติดต่อประสานขอหลักฐานอื่นๆ จากหน่วยงานใด จึงกลายเป็นบทเรียนที่เราต้องจดจำไปใช้ในการทำงานครั้งต่อไป สำหรับคดีจีเอ็มโอก็จะขอต่อสู้จนถึงที่สุด ซึ่งจะแพ้หรือชนะไม่สำคัญอีกต่อไป แต่ต้องการให้รัฐเข้ามารับผิดชอบในเรื่องอย่างโปร่งใสเป็นธรรม" ณัฐวิภากล่าวต่อด้วยว่า ทางกรีนพีซไม่ได้เป็นกังวลเกี่ยวกับคำตัดสินที่ฟากประชาชนแพ้ แล้วจะกลายเป็นบรรทัดฐานในการตัดสินคดีเกี่ยวกับกรณีที่รัฐสร้างความเสียหายแก่ประชาชนในเรื่องจีเอ็มโอในอนาคต เนื่องจากกฎหมายของประเทศไทยในเรื่องนี้ไม่ทันสมัย หรืออีกนัยยะหนึ่งคือยังไม่ก่อเกิดอย่างชัดเจน พ.ร.บ.กักพืชฯ ที่ใช้อ้างกันอยู่ก็ล้าสมัย จึงเป็นไปได้ว่าหากเกิดกรณีเช่นนี้อีกภายในอนาคต ศาลจะพิจารณาในส่วนอื่นๆ ประกอบการตัดสินมากกว่าเดิม

พูดได้ว่าการฟ้องรัฐกรณีทำพืชจีเอ็มโอหลุดรอด จนสร้างความเสียหายให้กับประชาชนและสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่เกิดกรณีอย่างนี้ขึ้น เพราะส่วนมากแล้วในต่างประเทศจะเป็นการฟ้องร้องระหว่างบริษัทเอกชนกับเกษตรกรมากกว่า โดยเขามีกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยในด้านนี้รองรับ แต่ไทยไม่มีอะไรเลย และตอนนี้ไม่สามารถระบุได้ว่า การปนเปื้อนของพืชจีเอ็มโอในประเทศแพร่กระจายไปถึงไหน เป็นภัยเงียบที่มองไม่เห็น แต่เชื่อว่ายังไม่หมด จึงอยากให้ประชาชนใส่ใจเรื่องนี้ให้มาก

"อยากให้สังคมทำประเด็นเรื่องจีเอ็มโอให้เป็นประเด็นสาธารณะ เพราะคดีนี้เกิดขึ้นนานแล้วคนอาจลืมเลือนไป แต่จริงๆ จีเอ็มโอได้ปนเปื้อนกับพืชอาหารไปหมดแล้ว ความมั่นคงทางอาหารของไทยอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะหมดสิ้น ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ และอาจนำไปสู่การสูญเสียอธิปไตยทางอาหารได้" เป็นประโยคสุดท้ายที่ออกจากปากตัวแทนของกรีนพีซ.

แสดงความคิดเห็น

กรุณาป้อน Username / Password ที่ท่านได้ลงทะเบียนไว้กับเว็บไซท์แห่งนี้ หรือ สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซท์
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง