HITAP ชี้ ผลวิจัยการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ป้องกันได้เท่าเทียมกับ การฉีดวัคซีน แถมราคาถูก เชื่อคุ้มค่ากว่าฉีดวัคซีนเข็มละ 2 พันบาท
จากรณีที่ 6 องค์กรแพทย์ได้มีนโยบายเรื่องการสนับสนุนให้รัฐบาลมีการฉีดวัคซีนเอชพีวี(HPV) ป้องกันมะเร็งปากมดลูกในเด็กฟรี กระทั่ง นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ออกมายืนยันแล้วว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถให้บริการได้เพราะว่า วัคซีนมีราคาแพงหากฉีดบริการให้ก็ไม่คุ้มค่า เว้นแต่ว่าราคาวัคซีนจะต่ำกว่า 190 บาท เท่านั้น
ล่าสุด ดร.นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ หัวหน้าโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP)กล่าวว่า มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งพบมากเป็นอันดับสองในหญิงไทย ก่อให้เกิดการเสียชีวิตราว 2,000 กว่ารายต่อปี ซึ่งปัจจุบันมีวิธีการป้องกันโรคอยู่ 2 วิธี ได้แก่ การตรวจคัดกรอง และการให้วัคซีน HPV ทั้งนี้ ข้อมูลจากการศึกษามาตรการการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทยโดย โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารวิชาการด้านการแพทย์ชั้นนำระดับนานาชาติพบว่า ในบริบทของประเทศไทยการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกมีความคุ้มค่ามากกว่าการฉีดวัคซีน HPV เพราะการตรวจคัดกรองช่วยลดความเสี่ยงและการเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูก ขณะเดียวกัน สามารถลดค่าใช้จ่ายโดยรวมของประเทศในการควบคุมและป้องกันมะเร็งปากมดลูกแก่หญิงไทย
“ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวัคซีนส่วนใหญ่ยังไม่ถูกนำเสนอผ่านสื่อมวลชน ทำให้ประชาชนยังเกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับประสิทธิภาพและประสิทธิผลของวัคซีน HPV ว่า สามารถป้องกันการเป็นมะเร็งปากมดลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงอย่างไรก็ตาม เนื่องจากเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูกมีอยู่หลายสายพันธุ์ และแตกต่างกันในแต่ละประเทศ จึงคาดว่าวัคซีนจะสามารถป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกในหญิงไทยได้ 50-70% ของผู้ที่ฉีด นอกจากนี้งานวิจัยยังระบุว่าไม่มีข้อมูลจากการทดลองทางคลินิกถึงประสิทธิผลของวัคซีนในการลดอัตราการเกิดมะเร็งปากมดลูกในระยะยาว (เกินกว่า 10 ปี) เพราะประชากรกลุ่มแรกที่ได้รับวัคซีน ยังอยู่ในระหว่างการตรวจติดตาม ทำให้ไม่ทราบแน่ชัดว่าการฉีดวัคซีน 1 คอร์ส (จำนวน 3 เข็ม) จะสามารถป้องกันการติดเชื้อ HPV ได้ตลอดอายุขัย และยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะต้องฉีดซ้ำอีกครั้งเมื่อใด อีกทั้ง วัคซีนไม่สามารถป้องกันมะเร็งได้ 100% ผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว ยังต้องเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกตามเดิมทุกประการ” ดร.นพ.ยศ กล่าว
ดร.ภญ.นัยนา ประดิษฐ์สิทธิกร นักวิจัยในโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ ยังระบุว่าจากการประเมินความคุ้มค่าของวัคซีน HPV ในประเทศไทย พบว่า ด้วยราคาวัคซีนในปัจจุบันที่ 2,000 บาทต่อเข็มนั้น ไม่มีความคุ้มค่าเมื่อเปรียบเทียบกับการตรวจคัดกรองซึ่งถือเป็นวิธีป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกที่มีประสิทธิภาพและช่วยประหยัดงบประมาณจากภาครัฐมากที่สุด ทั้งนี้การฉีดวัคซีนจะมีความคุ่มค่าก็ต่อเมื่อวัคซีนมีราคาต่ำกว่า 190 บาทต่อเข็ม ซึ่งจะทำให้ต้นทุนของการฉีดวัคซีนเท่ากับงบประมาณที่จะประหยัดได้จากการรักษาผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกในอนาคต อย่างไรก็ตาม หากจะมีการทบทวนเรื่องการจะนำวัคซีน HPV เข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพหรือไม่นั้น ควรนำเสนอผ่านคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ และคณะอนุกรรมการชุดสิทธิประโยชน์ ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รวมทั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อการพิจารณาไปพร้อมกับวัคซีนใหม่อีกหลายชนิด
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)