ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์

ระวัง! กินยาปฏิชีวนะมั่ว รักษา “ท้องร่วง” เสี่ยงภาวะดื้อยา!

by twoseadj @May,09 2011 12.16 ( IP : 113...8 ) | Tags : ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์
photo  , 233x350 pixel , 11,180 bytes.

ปัจจุบันปัญหาเชื้อดื้อยาถือว่าเข้าขั้นวิกฤต โดยล่าสุดมีการจัดประชุมวิชาการเพื่อแก้ปัญหา อย่างจริงจังในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วม อาทิ ตัวแทนจาก องค์การอนามัยโลก (WHO) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฯลฯ

สำหรับต้นตอการเกิดเชื้อดื้อยามีสาเหตุมาจากการใช้ยาปฏิชีวนะไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการนำยาดังกล่าวมารักษาโรคทั่วไปไม่ว่าจะเป็นโรคหวัด หรือ โรคท้องร่วงเฉียบพลัน ซึ่งหายได้เองตามระยะเวลาที่เหมาะสม
ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์โครงการ Antibiotics Smart Use (ASU) ซึ่งเป็นโครงการสนับสนุนการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผล อธิบายไว้ว่า โรคท้องร่วงเฉียบพลัน คือ อาการที่ถ่ายอุจจาระเหลวจำนวนมากติดต่อกัน 3 ครั้งต่อวันเป็นอย่างน้อย ซึ่งหากอาการท้องเสียที่เกิดจากภาวะอาหารเป็นพิษ คือ หมายถึง พิษนั้นมีอยู่ในอาหาร หรืออาหารไม่สะอาด ไม่ได้ผ่านการปรุงสุก วิธีการรักษา ที่ดีที่สุดคือ การดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อทดแทนน้ำที่เสียไป และควรกินอาหารอ่อนๆ เช่น โจ๊ก หรือข้าวต้ม งดอาหารรสจัด หรือย่อยยาก และไม่ควรดื่มนม ที่สำคัญสามารถป้องกันได้ด้วยการกินอาหารปรุงสุกใหม่ ดื่มน้ำสะอาด และล้างมือก่อนกินอาหารทุกครั้งเพียงพอแล้ว

“อาการอาหารเป็นพิษนั้น ผู้ป่วยอาจมีอาการอาเจียนพร้อมๆ กับอาการถ่ายเหลว ซึ่งอุจจาระอาจมีมูกปนด้วย เรียกอาการนี้ว่าเป็นอาการท้องร่วงที่เชื้อแบคทีเรียไม่ได้ลุกล้ำเข้าไปในผนังลำไส้ใหญ่ หรือ Non-Invasive โดยกรณีดังกล่าวไม่ต้องพึ่งยาปฏิชีวนะใดๆ ทั้งสิ้น และจะหายได้เองภายใน 2-3 วัน”ผศ.นพ.พิสนธิ์ กล่าว
      ส่วนกรณีที่จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะในการรักษาโรคท้องร่วงเฉียบพลัน แพทย์และเภสัชกร จะแนะนำให้ใช้ก็ต่อเมื่อผู้ป่วยมีไข้สูงร่วมด้วยโดยอาจตัวร้อนตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียส ขึ้นไป พร้อมๆกับถ่ายปนเลือด สามารถมองเห็นได้ชัดด้วยตาเปล่า อีกกรณี คือ แพทย์วินิจฉัยพบเชื้อเชื้อแบคทีเรีย ชิเกลลา (Shigella) คืออาจป่วยโรคบิด หรือบางครั้งอาจพบถ่ายเหมือนน้ำซาวข้าว มีมูกมากพบเชื้อวิบริโอ โชเลอร่า (vibrio cholerae) ซึ่งเป็นสาเหตุของอหิวาต์ ที่สำคัญในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ข้อมูลจากกรมควบคุมระบุว่า ในจำนวนผู้ป่วยโรคท้องร่วงกว่า 1.4 ล้านรายมีเพียงร้อยละ 0.3 เท่านั้นที่เข้าข่ายโรคบิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ควรใช้ยาปฏิชีวนะ ขณะที่ร้อยละ 98.7 เป็นโรคท้องร่วงทั่วไป

      ผศ.นพ.พิสนธิ์ อธิบายเพิ่มเติมถึงการให้ยาปฏิชีวนะในโรคท้องร่วงอย่างเหมาะสม ว่า เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคที่เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ ดังนั้นผู้ป่วยไม่ควรที่จะซื้อยาปฏิชีวนะมากินเอง เพราะเสี่ยงต่อการดื้อยา เนื่องจากปัจจุบันร้านขายยาทั่วไปไม่ได้มีเภสัชกรประจำร้านทุกแห่ง และบางแห่งมีเภสัชประจำแต่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาดื้อยามากนัก อีกทั้งคนไทยก็ป่วยโรคนี้มากขึ้นเรื่อยๆ หากไม่มั่นใจเมื่อพบว่าตัวเองถ่ายเหลวติดต่อกันเกิน 2 วัน หรือพบความผิดปกติในอุจจาระ แนะนำว่า ให้ไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยสาเหตุจะดีที่สุด

      แม้กระทรวงสาธารณสุขจะออกมาให้ข้อมูลบ่อยครั้ง ว่า คนไทยส่วนใหญ่ป่วยด้วยโรคท้องร่วงที่เกิดจากภาวะอาหารเป็นพิษ ไม่ใช่เชื้อแบคทีเรียที่อันตรายขั้นรุนแรง ที่น่าห่วง คือ เคยมีตัวอย่างกรณีศึกษาพบว่า คนจำนวนมากในพื้นที่ชนบทซึ่งเดินทางไปโรงพยาบาลลำบากมักเลือกซื้อยาปฏิชีวนะมากินเอง โดยคาดเดาว่า ในจำนวนผู้ป่วย 100 ราย พบจำนวนผู้ป่วยเกือบ 20-30 รายเลือกจะซื้อยาปฏิชีวนะมากินเอง ทั้งที่ไม่จำเป็น แต่ยังไม่มีรายงานภาวะการดื้อยาที่แน่นอนเท่านั้นเอง
      ทั้งนี้ ผศ.นพ.พิสนธิ์ กล่าวแนะนำทิ้งท้ายว่า สิ่งที่ต้องเร่งปรับปรุงมากที่สุดของการแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาในประเทศไทย คือ การสร้างทัศนคติในการป้องกันรักษาสุขภาพให้ดี มากกว่าการเน้นเรื่องรักษา เพราะด้วยสิทธิการรักษาพยาบาลที่คนไทยมีอยู่อย่างหลากหลายส่งผลให้หลายคนเลือกจะเบิกจ่ายยาแรง ประสิทธิภาพสูง ซึ่งนำเข้าจากต่างประเทศ มารักษาเพื่อให้หายแบบรวดเร็ว แต่ผล คือ ใช้ยาข้ามขั้นตอน จึงเกิดปัญหาดื้อยามากขึ้น โดยเฉพาะในโรคง่ายๆ ที่อาจหายเองตามธรรมชาติ

ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์ 9 พฤษภาคม 2554 10:42 น.

Relate topics

แสดงความคิดเห็น

กรุณาป้อน Username / Password ที่ท่านได้ลงทะเบียนไว้กับเว็บไซท์แห่งนี้ หรือ สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซท์
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง