ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์

สบท.ชู "ทรูมูฟ-ฮัทช์" โทร.ติดยาก

by twoseadj @May,02 2011 16.03 ( IP : 202...129 ) | Tags : ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์
photo  , 600x400 pixel , 56,830 bytes.

สบท. เผยผลทดสอบคุณภาพทางเสียงของผู้ให้บริการมือถือในเขตกรุงเทพฯ พบทรูมูฟ-ฮัทช์ มีอัตราการโทรติดยาก แต่ยังอยู่ในมาตรฐานราชกิจจานุเบกษา พร้อมเผยผลสำรวจคุณภาพความเร็วอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ

นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม หรือ สบท. กล่าวว่า ทางสบท. ได้ร่วมมือกับทาง สถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (ทริดี้) และศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดทำโครงการทดสอบคุณภาพการให้บริการโทรศัพท์มือถือในเขตกรุงเทพฯ รวมถึงทำการสำรวจและทดสอบความเร็วอินเทอร์เน็ตผ่านเครื่องโทรศัพท์มือถือขึ้น การทดสอบครั้งนี้มุ่งเน้นจะเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภค เนื่องจากในการใช้งานจริง ยังมีปัจจัยอย่างเรื่องของราคาเข้ามาช่วยกำหนด ซึ่งถ้าผู้บริโภคพอใจในราคาที่รับได้กับคุณภาพตามมาตรฐาน ก็ถือเป็นทางเลือกของผู้บริโภคแต่ละราย โดยสามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลผ่านเว็บไซต์ของ สบท. (www.tci.or.th)

"คุณภาพเป็นเรื่องที่จับต้องไม่ได้ และไม่มีความสะดวกในการเข้าไปเปรียบเทียบเองทั้ง 4 ค่าย ทำให้ สบท จึงช่วยทดสอบเพื่อเป็นข้อมูลให้กับผู้บริโภค และจากข้อกำหนดที่ใช้เวลาเพียง 20 วันจึงทำการทดสอบในพื้นที่กรุงเทพฯ เท่านั้น จึงไม่ได้สะท้อนถึงคุณภาพการให้บริการภาพรวมของอุตสาหกรรมทั่วประเทศได้ ซึ่งในอนาคตจะมีการขยายพื้นที่ไปยังส่วนต่างๆ ทั่วประเทศให้มากขึ้น"

นายเชาวน์ดิศ อัศวกุล นักวิจัยในโครงการ Centre of Excellence in Lightwave and Speed Communications คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลถึงข้อกำหนดในการทดสอบคุณภาพของบริการ (Quality of Service) แบ่งเป็น อัตราส่วนจำนวนครั้งที่ไม่สามารถเชื่อมต่อเข้าสู่เครื่องปลายทางได้ (โทร.ไม่ติด) พิจารณาทั้งกรณีโทร.ภายในโครงข่ายเดียวกัน และกรณีโทร.ข้ามโครงข่าย อัตราส่วนจำนวนครั้งที่สูญเสียการติดต่อหลังจากติดต่อปลายทางได้ (สายหลุด) พิจารณาจากกรณีโทร.ภายในโครงข่ายเดียวกัน ระยะเวลาในการรอสายจนมีการตอบรับจากปลายทาง และผู้รับสายไม่สามารถโทร.กลับได้ เนื่องจากขึ้นเบอร์ผิด หรือไม่แสดง

"โครงการนี้เกิดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้กลไกตลาดสามารถทำงานได้ ในลักษณะพยายามให้ข้อมูลที่สะท้อนถึงคุณภาพการให้บริการโทรคมนาคม ที่ผู้บริโภคควรจะได้รับ เมื่อข้อมูลถึงมือผู้บริโภคแล้วจะช่วยให้สามารถเลือกเครือข่ายโทรศัพท์ที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค"

นายเชาวน์ดิศ กล่าวอีกว่า ทีมทดสอบแบ่งออกเป็น 2 ชุด ชุดแรก ใช้เป็นเครื่องโทร.ออก โดยใช้โทรศัพท์มือถือแบบเดียวกัน ใส่ซิมของแต่ละค่าย ทั้งเอไอเอส ดีแทค ทรูมูฟ และฮัทช์ กับชุดที่สอง ทดสอบคุณภาพสัญญาณในการรับสายจำนวน 16 เครื่อง โดยติดตั้งในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริเวณที่มีคุณภาพของสัญญาณโทรศัพท์ของทุกบริษัทที่ทดสอบดีเสมอกัน

ในการทดสอบ จะใช้เครื่องในชุดแรกของแต่ละค่าย โทรไปยังเครื่องปลายทางทั้ง 4 ค่าย ในระยะนาน 90 วินาทีขึ้นไป และวางสายแล้วรอ 30 วินาทีก่อนจะโทรอีกครั้ง มีการแบ่งทดสอบในช่วงเวลาเช้าและเย็น 8.00น.-11.00น. และ 16.00น.- 21.00 น. ครอบคลุมเวลารายงานค่าคุณภาพบริการของผู้ให้บริการต่อ สำนักงาน กทช. 20.00 - 21.00 น. ทดสอบทุกวันเป็นระยะเวลา 20 วัน โดยวิ่งสำรวจครอบคลุมซ้ำจุดเดิมมากกว่าหนึ่งครั้ง รวมแล้วมีการทดสอบเป็นจำนวน 31,500 ครั้ง ใน20 วัน แบ่งเป็น 10 วันแรกช่วง 15-24 มกราคม 2554 และ 10 วันหลังช่วง 26 กุมภาพันธ์- 7 มีนาคม 2554

ผลการสำรวจจากการวิเคราะห์ตามหลักสถิติเปรียบเทียบกับอัตราส่วนจำนวนครั้งที่โทร.ไม่ติด ตามมาตรฐานในราชกิจจานุเบกษา ที่กำหนดไว้ว่าการโทร.ภายในเครือข่ายเดียวกันห้ามเกิน 10% ส่วนโทร.ข้ามเครือข่ายห้ามเกิน 15% พบว่า การโทร.ออกจากฮัทช์ไปหาค่ายทรูมูฟ และโทร.จากทรูมูฟไปฮัทช์ มีอัตราการโทรไม่ติดค่อนข้างมาก แต่ยังอยู่ในมาตรฐาน

"เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ที่กำหนดอัตรามาตรฐานที่สามารถโทรฯข้ามโครงข่ายไม่ติดของมาเลเซียอยู่ที่ 10% แต่ของไทยอยู่ที่ 15% ซึ่งยังหย่อนกว่ามาเลเซีย"

กระตุ้นผู้ใช้ร่วมทดสอบสปีดเทส

ขณะเดียวกันได้มีการเปิดตัวแอปพลิเคชันทดสอบความเร็วอินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือสำหรับผู้บริโภค โดยทางสบท ร่วมกับ ฟรีวิลล์ เอฟเอ็กซ์ ในการพัฒนาเพื่อเป็นเก็บข้อมูลของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือ ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟนในระบบปฏิบัติการ ไอโอเอส แบล็กเบอรี แอนดรอยด์ และฟีเจอร์โฟนที่รองรับระบบจาวา โดบทางสบท ได้ใช้งบประมาณ 650,000 บาท เพื่อให้ครอบคลุมทุกระบบปฏิบัติการในปัจจุบัน

นายสงกรานต์ จารุสิริสวัสดิ์ ผู้ชำนาญการ บริษัท ฟรีวิลล์ เอฟเอ็กซ์ ให้ข้อมูลถึงการเก็บข้อมูลในเบื้องต้นจากการเข้าไปประชาสัมพันธ์ตามเว็บไซต์เครือข่ายสังคมและเว็บบอร์ดต่างๆ พบว่า มีการเข้าไปดาวน์โหลดใช้งานถึง 1,500 ครั้ง 11 ยี่ห้อ 85 รุ่น มีการกดทดสอบไปกว่า 10,00 ครั้งจาก 41 จังหวัด จากสถิติการทดสอบที่แบ่งเป็นไอโอเอส 79.29% แอนดรอยด์ 9.11% แบล็กเบอร์รี 5.36% ซิมเบียน 5.18% และวินโดวส์โมบาย 1.06% แบ่งเป็นสถิติผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่ายไว-ไฟ 32.99% ขณะที่ผู้ใช้งานโอเปอเรเตอร์ประกอบไปด้วย ดีแทค 21.06% เอไอเอส 11.88% ทรูมูฟ 15.70% ทีโอที 13.73% และอื่นๆ 4.66% โดยเทคโนโลยีที่ใช้ทดสอบผ่านไว-ไฟ 32.99% 2G 18.82% 3G 17.09% และอื่นๆ 1.08% ขณะที่จังหวัดที่มีการดาวน์โหลดมากที่สุด คือ กรุงเทพฯ คิดเป็น 65.58% นนทบุรี 5.56% และเชียงใหม่ 4.24%

สำหรับความเร็วที่ทดสอบเฉลี่ยเบื้องต้นแต่ละค่ายได้แก่ เอไอเอส บนระบบ 2G อัตราดาวน์โหลด/อัปโหลด 111.54 kbps/63.95 kbps และ 3G ความเร็ว 577.26 kbps/183.94 kbps ส่วน ดีแทค 2G 121.25 kbps/60.69kbps ทรูมูฟ 2G 106.83kbps/59.57kbps และ 3G 1162.22kbps/269.98kbps ทีโอที 3G 1026.65kbps/522.83kbps สุดท้ายคือผ่านการให้บริการไว-ไฟ 1560.01kbps/920.33kbps

Relate topics

แสดงความคิดเห็น

กรุณาป้อน Username / Password ที่ท่านได้ลงทะเบียนไว้กับเว็บไซท์แห่งนี้ หรือ สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซท์
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง