“สารี-นิมิตร์-สุภัทรา” 3 เอ็นจีโอฟ้องประกันสังคมต่อศาลแรงงานให้คืนเงินสมทบด้านสุขภาพ 1% ที่ สปส.เรียกเก็บตั้งแต่บัตรทองมีมติหยุดจ่ายสมทบ 30 บาท ในปี 49 รวมเป็นเงิน 24,300 บาท คืนให้ผู้ประกันตนทั้ง 3 คน ชี้ การเก็บเงินสมทบของ สปส.ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ แม้ผู้ตรวจการแผ่นดินมีหนังสือถึง สปส.ให้หยุดเก็บเงินสมทบ แต่ สปส.ก็ไม่ปฏิบัติ จึงไม่มีหนทางอื่นนอกจากยื่นฟ้องให้คืนเงินพร้อมดอกเบี้ย และหยุดเก็บเงิน สมทบสุขภาพผู้ประกันตนต่อไป แต่เอาไปสมทบบำนาญชราภาพแทน
วันนี้ (28 เม.ย.) ที่ศาลแรงงานกลาง นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และนางสาวสุภัทรา นะคะผิว ผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ได้เป็นโจทก์ที่ 1-3 ยื่นฟ้องสำนักงานประกันสังคม (สปส.) และคณะกรรมการประกันสังคม เพื่อเรียกเงินสมทบในการประกันตนคืนจำนวน 24,300 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้นแก่โจทก์ทั้งสาม โดยคำฟ้องระบุว่า โจทก์ทั้งสามเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ซึ่งนายจ้างของโจทก์ทั้งสาม ได้หักเงินเดือนในอัตรา 5% ของเงินเดือนแต่ไม่เกิน 750 บาท ส่งเข้าสมทบกองทุนประกันสังคมเป็นประจำตั้งแต่เริ่มทำงานถึงปัจจุบัน
ต่อมาได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ได้บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกัน ในการรับบริการทางสาธารณสุข ที่เหมาะสม และได้มาตรฐาน และผู้ยากไร้ มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย บุคคลย่อมมีสิทธิ ได้รับบริการสาธารณสุขจากรัฐ ซึ่งต้องเป็นไปอย่างทั่วถึง และมีประสิทธิภาพ บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกัน และขจัดโรคติดต่อ อันตราย จากรัฐอย่างเหมาะสม โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และทันต่อเหตุการณ์ ”
ซึ่งในปี พ.ศ.2545 รัฐบาลได้ริเริ่มนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือโครงการบัตรทอง ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 โดยมีวัตถุประสงค์ ที่จะทำให้ประชาชนทุกคนมีหลักประกันสุขภาพ ที่สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม และเป็นธรรม อันเป็นระบบหลักประกันสุขภาพ ที่ใช้เงินภาษีอากรมาเป็นค่าใช้จ่ายทั้งหมด มิใช่ระบบประกันสุขภาพ ทำให้เกิดปัญหาความไม่เป็นธรรม และความไม่เสมอภาค กล่าวคือ ผู้ประกันตนเพียงกลุ่มเดียว ทั้งที่ต้องเสียภาษีเหมือนเช่นประชาชนทั่วไปแล้ว ยังจะต้องถูกหักค่าจ้างเป็นเงินสมทบ เพื่อเป็นเบี้ยประกันการรักษาพยาบาลและการคลอดบุตรของระบบประกันสังคมอีกต่อหนึ่ง
ต่อมาเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2549 นายมงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในขณะนั้น ใน ฐานะประธานคณะกรรมการได้ลงนามในประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง การยกเลิกค่าบริการทางการแพทย์ มีผลให้ยกเลิกการเรียกเก็บค่าบริการทางการแพทย์ที่ผู้รับบริการต้องจ่าย ในอัตรา 30 บาท ในแต่ละครั้งที่เข้ารับบริการ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2549 เป็นต้นมา ดัง นั้นการที่จำเลยเรียกเก็บเงินสมทบในส่วนนี้ จากโจทก์ทั้งสามจึงขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกเก็บเงินสมทบในส่วนประโยชน์ ค่ารักษาพยาบาลอัตรา 0.88 % และ ค่าคลอดบุตรอัตรา 0.12% จากผู้ประกันตน อีกต่อไป นับแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2549 เป็นต้นมา
โจทก์ทั้งสามได้พยายามเรียกร้องโดยได้ทำจดหมายถึงจำเลย และผู้บังคับบัญชาของจำเลยนับตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2554 และ วันที่ 4 เมษายน 2554 ให้จำเลยหยุดเก็บเงินสมทบส่วนสุขภาพและให้นำเงินสมทบส่วนนี้ เพิ่มสิทธิประโยชน์อื่นๆ หรือสิทธิประโยชน์ด้านชราภาพ และได้รณรงค์ต่อสาธารณะอย่างต่อเนื่อง แต่จำเลยก็เพิกเฉยไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ หรือแม้แต่หน่วยงานองค์การอิสระตามรัฐธรรมนูญ อาทิเช่น สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาได้ทำจดหมายให้สำนักงานประกันสังคมหยุด เก็บเงินสมทบด้านสุขภาพ เนื่องจากขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่จำเลยก็ไม่มีการแก้ไขปัญหาหรือดำเนินการแต่อย่างใด
โจทก์จึงเห็นว่า ขั้นตอนการขอเงินคืนและการอุทธรณ์ต่อจำเลยไม่มีความจำเป็น เพราะจำเลยอ้างเหตุที่ต้องมีหน้าที่เก็บเงินตามกฎหมายดังที่จำเลยได้ให้ สัมภาษณ์ต่อสาธารณะว่าหากจำเลยไม่เก็บเงินก็ถือเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ตาม กฎหมาย การที่โจทก์ทั้งสามต้องนำส่งเงินสมทบสิทธิสุขภาพ รวมเป็นอัตรา 1% คิดเป็นเงินจำนวน 150 บาท ต่อเดือน นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2549 ถึงวันฟ้องรวมเป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 54 เดือน เป็นเงินจำนวน 8,100 บาท ต่อโจทก์แต่ละคน รวมเป็นเงินจำนวน 24,300 บาท จึงเป็นการจัดเก็บเงินสมทบที่ไม่เป็นธรรม ต่อโจทก์ทั้งสาม และการจัดเก็บเงินสมทบจำนวนดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 จึงมิชอบด้วยกฎหมาย
โจทก์ทั้งสามไม่มีทางใดจะบังคับเอาจากจำเลยได้ จึงต้องนำคดีมาฟ้องต่อศาล เพื่อขอบารมีของศาลเป็นที่พึ่งและขอให้
ให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ทั้งสาม โดยชำระเงินจำนวน 24,300 บาท (สองหมื่นสี่พันสามร้อยบาทถ้วน) พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้นแก่โจทก์ทั้งสาม
ให้จำเลยงดการเรียกเก็บเงินสมทบเพื่อประโยชน์ทดแทน กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย และกรณีคลอดบุตร โดยนำเงินสมทบในส่วนนี้ไปเพิ่มประโยชน์ทดแทนในส่วนอื่นให้กับโจทก์ทั้งสาม ตั้งแต่ถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)