ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์

สธ.ปลุกบอยคอดสินค้า 3 พันชนิดคร่าชีวิต มหันตภัยแร่ใยหิน สั่งคุม 43 แหล่งเสี่ยง!

by twoseadj @April,21 2011 13.07 ( IP : 202...130 ) | Tags : ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์
photo  , 360x373 pixel , 42,657 bytes.
  • คนไทยกำลังเผชิญกับสินค้าอันตรายโดยไม่รู้ตัว
  • กว่า 3 พันชนิดผลิตจากแร่ใยหินที่มีอานุภาพทะลุทะลวง 'ปอด' ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคมะเร็งปอดได้ง่าย
  • รัฐบาล-ผู้ผลิตสินค้าเอกชนบางรายเริ่มตื่นตัว
  • กระทรวงสาธารณสุขสั่งคุม 43 โซนอันตราย พร้อมเสนอให้ประชาชนบอยคอยสินค้าก่อสารฯ

กระแสการตื่นตัวที่จะให้รัฐบาลยกเลิก และห้ามใช้แร่ใยหินกำลังร้อนแรง เพราะมีทั้งฝ่ายเห็นด้วย และฝ่ายไม่เห็นด้วย ทำให้รัฐบาลยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้เดินหน้านำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 12 เมษายนที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีข้อยุติ โดยรัฐบาลโยนเรื่องกลับไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำกลับไปทบทวนใหม่อีกครั้ง

อย่างไรก็ดี ได้มีหลักฐานจากแวดวงนักวิชาการ และแพทย์ในหลายประเทศทั่วโลกยืนยันตรงกันว่า แร่ใยหินเป็นแร่ชาติธรรมชาติที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพผู้ใกล้ชิดคลุกคลีกับแร่ใยหินโดยตรง ถึงขั้นที่สามารถคร่าชีวิตได้ ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นแล้วในต่างประเทศจำนวนมากกว่า 90,000 ราย ขณะที่ประเทศไทยมีรายงานผู้เสียชีวิตจากแร่ใยหินแล้ว 1 ราย

เหตุผลสำคัญที่รัฐบาลเห็นว่าควรจะเลิกใช้แร่ใยหิน เพราะเริ่มตระหนักถึงความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะการดูแลรักษาสุขภาพประชาชน ซึ่งหากไม่มีการดูแลในช่วงนี้ และยังปล่อยให้มีการใช้แร่ใยหินที่เป็นสารก่อให้เกิดโรคมะเร็ง ในอนาคตรัฐบาลจะต้องใช้งบประมาณมหาศาลในการรักษาผู้ป่วย ซึ่งยังไม่สามารถประเมินได้ในขณะนี้

ดร.นพ.สมเกียรติ ศิริรัตนพฤกษ์ ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผย“ผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์”ว่า แม้ว่าปัจจุบันนี้จะไม่มีรายงานเข้ามายังกรมควบคุมโรคติดต่อว่า มีผู้ป่วยหรือเสียชีวิตจากการสัมผัส หรือสูดดมแร่ใยหินเข้าไปในร่างกายเข้ามายังกรมควบคุมโรคติดต่อ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ในประเทศไทยจะไม่มีผู้ที่เจ็บป่วยจากแร่ใยหิน ทั้งนี้ เนื่องจากไทยยังไม่มีเครื่องมือที่ทันสมัยในการตรวจวัดปริมาณฝุ่นละอองอย่างละเอียดที่เข้าสู่ร่างกายจนถึงขั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้

คุมเข้มรพ.ทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม กรมควบคุมโรคติดต่อได้คุมเข้มและเฝ้าระวังโรคที่อาจจะเกิดขึ้นจากแร่ใยหิน โดยให้โรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศเฝ้าระวังโรคที่อาจจะเกิดขึ้นจากแร่ใยหิน โดยโฟกัสไปที่โรงพยาบาลในเขตที่มีโรงงานผลิตกระเบื้องมุงหลัง ท่อน้ำ เบรค คลัชท์ เป็นหลัก เพราะมีโอกาสที่ผู้ที่สัมผัสและใกล้ชิดกับแร่ใยหิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พนักงานที่ทำงานในโรงงานดังกล่าว

ขณะเดียวกัน ยังเน้นการจัดอบรม สัมมนาให้กับแพทย์ พยาบาล รวมถึงเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลเพื่อให้มีความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์โรคที่อาจจะเกิดขึ้นจากแร่ใยหิน อาทิ โรคปอด โรงมะเร็งปอด และโรคทางเดินหายใจด้วย ที่สำคัญยังกำชับให้โรงพยาบาลรายงานกลับมายังกรมควบคุมโรคติดต่อทันที หากพบว่ามีผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคปอดอักเสบ หรือมะเร็งปอดที่เกิดจากแร่ใยหิน เพื่อหาทางป้องกันและควบคุมให้ทันท่วงที

ผ่ายุทธศาสตร์กำจัดแร่ใยหิน

มาลี พงษ์โสภณ นักวิชาการสาธารณสุข ชำนาญการพิเศษ สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรมควบคุมโรคติดต่อได้กำหนด ยุทธศาสตร์เพื่อให้ประเทศไทยเลิกใช้แร่ใยหินในการผลิตสินค้าอย่างเด็ดขาด โดยจะผลักดันให้แบนแร่ใยหิน ไม่ให้มีการนำมาใช้ในการผลิตอีก ถือเป็นมาตรการเร่งด่วน

โดยมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2553 ต้องการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการต่อ ซึ่งยุทธศาสตร์ “การทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน” ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 4 ด้าน ได้แก่

  1. การยกเลิกการใช้และป้องกันอันตรายโดยมาตรการทางกฎหมาย ให้คณะกรรมการอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จัดตั้งคณะอนุกรรมการ “พัฒนากฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับแร่ใยหิน” โดยมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นแกนกลางในการประสานงาน ร่วมกับกระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพัฒนาสังคมฯ สถาบันการศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ในการพัฒนามาตรการบังคับใช้ที่มุ่งไปสู่การยกเลิกการใช้แร่ใยหินทุกประเภท โดยมีกำหนดระยะเวลาในการพัฒนาข้อกฎหมายต่าง ๆ

  2. การส่งเสริม สนับสนุนการใช้สารทดแทนที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ รวมทั้งการบริหารจัดการเพื่อควบคุม ลด และเลิกการใช้แร่ใยหิน โดยให้มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีในเรื่องการจัดซื้อวัสดุก่อสร้างและการจัดจ้างงานก่อสร้างอาคารของรัฐหรือองค์กรในกำกับของรัฐ และให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค นำมาตรการยกย่องชมเชยมาใช้เพื่อสนับสนุนสถานประกอบกิจการที่ให้ความร่วมมือในการใช้สารทดแทนเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งให้สำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติร่วมกับสถาบันการศึกษา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันดำเนินการ และสร้างความร่วมมือกับอุตสาหกรรมชั้นนำในประเทศไทยที่เกี่ยวข้อง เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับองค์ความรู้ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทดแทนแร่ใยหิน

  3. การเผยแพร่ความรู้ และประชาสัมพันธ์ให้กับสาธารณชนทราบ รวมทั้งพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสำนักนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกับภาคประชาสังคมจัดตั้งศูนย์ข้อมูล การจัดเวทีสาธารณะ การจัดทำแผนเฝ้าระวังปัญหาและติดตามการดำเนินงาน การบูรณาการเนื้อหา การเรียนการสอนประเด็นอันตรายจากการใช้แร่ใยหิน และสนับสนุนการเผยแพร่เพื่อประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง และ4. ผลกระทบต่อสุขภาพ เนื่องจากแร่ใยหินในประเทศไทย อาจจะทำให้เกิดโรคแอสเบสโตสิส และโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับแร่ใยหิน

ทั้งนี้ การเกิดโรคแอสเบสโตสิสนั้นใช้เวลายาวนาน คือ 15-35 ปี ขึ้นอยู่กับปริมาณแร่ใยหินที่เข้าสู่ปอด และระยะเวลาที่สัมผัส ดังนั้น ข้อมูลที่ใช้ในการศึกษาทางระบาดวิทยาส่วนใหญ่ ได้มาจากการคาดคะเนจากข้อมูลที่มีอยู่ เช่น จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าว ความเข้มข้นของแร่ใยหินที่เข้าสู่ปอด จากการทบทวน พบว่า การสัมผัสแร่ใยหินที่ความเข้มข้น 2 เส้นใย / ลูกบาศก์เซ็นติเมตร ตลอดอายุการทำงาน จะทำให้ผู้ป่วย ด้วยโรคแอสเบสโตสิส ประมาณ 0.5%

“การจัดการจะต้องทำเป็นกระบวนการ เพราะเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการแบนแร่ใยหิน กระทรวงพาณิชย์ที่จะมีบทบาทสำคัญในการห้ามขายสินค้า รวมถึงกรมโยธิการและผังเมืองที่จะต้องกำหนดหลักเกณฑ์ ข้อกฎหมายในการรื้อถอนอาคาร ซึ่งจะต้องกำหนดปริมาณการฝุ้งของฝุ่งละอองที่ได้มาตรฐาน เพื่อให้มีความปลอดภัยขณะรื้อถอนกระเบื้องมุงหลังคา นอกจากนี้ จะต้องสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจถึงความจำเป็นที่จะต้องเลิกใช้แร่ใยหิน รวมถึงเฝ้าระวังโรค และสนับสนุนการใช้สารทดแทน”มาลี กล่าวว่า

43 พื้นที่เสี่ยงเกิดโรคมะเร็ง

มาลี กล่าวย้ำว่า การเฝ้าระวังโรคนั้น กรมควบคุมโรคติดต่อสั่งให้โรงพยาบาลทั่วประเทศจับตาพื้นที่อันตรายเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นเขตที่ตั้งของโรงงานผลิตสินค้าที่ใช้แร่ใยหินผลิตรวม 43 แห่ง (เป็นโรงงานที่ขึ้นทะเบียบกับกระทรวงอุตสาหกรรมอย่างถูกต้องตามกฎหมาย) ทั่วประเทศ ในเขตกรุงเทพฯปริมณฑล ชลบุรีสมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม ปทุมธานี อยุธยา ลำปาง สระบุรี เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา

อย่างไรก็ตาม มาลี ยอมรับว่า การเฝ้าระวังโรค มีข้อจำกัดหลายเรื่อง เช่น ขาดแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการวิเคราะห์หาสาเหตุของโรคที่เกิดจากแร่ใยหิน รวมถึงการอ่านฟิล์มเอ็กซ์เรย์ที่ยังไม่สามารถอ่านได้อย่างแม่นยำ รวมถึงในไทยมีเครื่องมือที่สามารถอ่านค่าได้อย่างแม่นยำเพียง 2-3 เครื่องเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอต่อการใช้งาน ทั้งนี้ ทางกรมควบคุมโรคติดต่ออยู่ระหว่างการฝึกอบรมและให้ความรู้เกี่ยวกับโรคดังกล่าวแก่แพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

“ในแต่ละปีมีผู้ป่วยอย่างน้อย 90,000 คนทั่วโลก ที่เสียชีวิตจากมะเร็ง เยื่อหุ้มปอด หรือโรคปอดอักเสบจากแร่ใยหินที่เกิดจากการทำงาน ขณะที่ประเทศไทยมีรายงานการเสียชีวิตจากแร่ใยหินรายเดียว แต่ถ้าไม่ป้องกัน ในอนาคตอาจจะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มได้ จากข้อมูลดังกล่าว ประเทศไทยไม่ควรที่จะเพิกเฉย และควรจะต้องเร่งผลักดันให้เลิกใช้แร่ในหินโดยเร็ว”

ทั้งนี้ กรมโรงงานอุตสหกรรมได้จัดทำหลักเกณฑ์ การควบคุมการใช้แร่ใยหินขึ้น โดยเน้นเรื่องฉลาก และสัญลักษณ์ การจัดเก็บ การนำไปใช้อย่างเหมาะสม เช่น ห้ามฉีดพ่น การควบคุมทางวิศวกรรม การตรวจวัดอากาศ และการตรวจสุขภาพพนักงาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อ ผู้ประกอบการ และลูกจ้าง อย่างไรก็ตาม ปัญหาการสัมผัสแร่ใยหินนั้น ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในสถานประกอบการเท่านั้น การก่อสร้าง หรือรื้อถอนอาคารที่มีแร่ใยหิน เป็นส่วนประกอบอยู่ในวัสดุ เช่น กระเบื้องมุงหลังคา ก็ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพคนงาน ด้วยเช่นกัน

ดังนั้น การติดฉลาก หรือสัญลักษณ์ที่วัสดุดังกล่าวนำ จะเป็นการเตือนให้คนงานทำงาน ด้วยความระมัดระวัง และป้องกันตนเอง จากการสูดหายใจเอาแร่ใยหินเข้าสู่ปอดได้ ปัจจุบันมีการกำหนดเพียงสัญลักษณะติดภาชนะบรรจุแร่ใยหิน หากได้รับการสูดดมฝุ่นและละอองของแร่ใยหินเข้าสู่ร่างกาย จนสะสมในปริมาณที่มากและเป็นเวลานาน 15-30 ปี ก็จะทำให้เป็นโรคเกี่ยวกับปอด อาทิ มะเร็งปอด มะเร็งเยื่อหุ้มปอดและเยื่อบุช่องท้อง (Mesothelioma)

อุตสาหกรรมที่มีการใช้แร่ใยหิน เป็นวัตถุดิบ ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ซีเมนต์ ได้แก่ กระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องทนความร้อน และท่อระบายน้ำ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ได้แก่ กระเบื้องปูพื้นไวนิล พลาสติกขึ้นรูปต่างๆ และกล่องพลาสติกบรรจุแบตเตอรี่ กระดาษแร่ใยหิน และผลิตภัณฑ์เส้นใยอัดแน่น ผ้าเบรค คลัทช์ สิ่งทอที่ทำด้วยแร่ใยหิน เช่น ชุดป้องกันไฟ ฉนวนกันความร้อน เช่น ท่อน้ำร้อน หม้อไอน้ำ และฉนวนหุ้มคานเหล็ก ในอาคารสูง เพื่อป้องกันการขยายตัวของเหล็ก ในกรณีเกิดเพลิงไหม้ ผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น สารยึดในยางมะตอย วัตถุดิบในการทำหินเจียร และประเก็น

ผลิตภัณฑ์ที่คนไทยได้ใช้กันอยู่ คือ กระเบื้องมุงหลังคาแบบลอนลูกฟูก ท่อระบายน้ำ กระเบื้องปูพื้น ฝ้าเพดาน ฝาผนัง ฉนวนกันความร้อน ผ้าเบรก ผ้าคลัตช์รถยนต์ ท่อน้ำร้อน หม้อไอน้ำ พลาสติกขึ้นรูปต่าง ๆ ฯลฯ

มาลี กล่าวว่า แม้ว่าประเทศไทยจะตื่นตัวเรื่องการห้ามใช้แร่ใยหินมานาน และมีพรบ.บังคับให้โรงงานผู้ผลิตสินค้าที่มีส่วนผสมของแร่ใยหินต้องตรวจสุขภาพพนักงาน โดยกำหนดให้ตรวจโรคที่มีความเสี่ยงที่เกิดจากการทำงาน แต่เนื่องจากกฎหมายยังมีช่องว่าง ทำให้โรงงานผู้ผลิตเตรวจสุขภาพพนักงานในลักษณะตรวจสุขภาพประจำปีเท่านั้น โดยไม่ได้ตรวจโรคเฉพาะเจาะจงที่อาจจะเกิดจากแร่ใยหิน เช่น โรคปอด หรือโรคมะเร็ง เป็นต้น โดยทางกระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างผลักดันให้มีกฎกระทรวงมาบังคับใช้ เพื่อให้ผู้ผลิตตรวจสุขภาพพนักงานแบบเฉพาะโรคโดยตรง เช่น ต้องตรวจโรคมะเร็ง เป็นต้น

ต่างประเทศสั่งเลิกใช้

โดยประเทศที่พัฒนาแล้วได้สั่งห้ามใช้แร่ใยหิน ได้แก่ อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย ออสเตรียเดนมาร์ค ฝัร่งเศส เยอรมันกรีซ ฮังการี ไอร์แลนด์ อิตาลี ญี่ปุ่น ลักซ์แซมเบอร์ก โปแลนด์ โปรตุเกส ซาอุดิ อาราเบีย เซาท์ อัฟริกา สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ และอังกฤษ เป็นต้น

สุดท้ายแล้ว รัฐบาลจะเลือกสั่งยกเลิกหรืออนุญาตให้ใช้แร่ใยหินต่อไป ขึ้นอยู่กับว่า รัฐบาลจะเลือกสุขภาพที่ดี และชีวิตของประชาชน หรือ เศรษฐกิจ รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพราะหากไทยสั่งเลิกนำเข้าแร่ใยหิน อาจจะมีปัญหากับประเทศคู่ค้าได้ เพราะปัจจุบันไทยนำเข้าแร่ใยหินปีละ 100,000 ตัน จากกว่า 30 ประเทศทั่วโลก โดยตลาดหลักอยู่ที่รัสเซียและแคนาดา

ผ่าทางตันวิกฤติแร่ใยหิน รัฐ+สอท.หนุนเลิกใช้

ความพยายามจะรณรงค์เลิกใช้แร่ใย่หิน ที่หลายองค์กรออกมาแสดงพลังในรูปแบบต่างๆ อาทิ การจัดเวทีเสวนาความคิดเห็น ที่ผ่านมากว่า 5 ปี และยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนจากรัฐบาล

การคืบหน้าการรณรงค์เลิกใช้แร่ใยหินในเดือนเมษายนที่ผ่านมา นับว่ามีความคืบหน้าในเรื่องมากที่สุด โดยหลังจากกระทรวงอุตสาหกรรมได้นำข้อเสนอเรื่องมาตรการ "สังคมไทยไร้แร่ใยหินไครโซไทล์" ห้ามนำเข้าวัตถุดิบแร่ใยหินไครโซไทล์ ในปี พ.ศ.2554 และห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินไครโซไทล์ ในปี พ.ศ.2554ที่เป็นข้อเสนอของมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาต เข้า ครม.

ล่าสุดมาตรการควบคุมทางกฏหมาย การขายผลิตภัณฑ์ที่มีองค์ประกอบจากแร่ใยหิน ขณะนี้ยังไม่มีมติที่จะห้ามใช้ แร่ใยหิน ในการผลิตสินค้าต่างๆ ตามข้อเสนอดังกล่าว

ทว่าการพิจารณาของครม.มีทั้งมติ เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ทั้งนี้แนวทางห้ามนำเข้าแร่ใยหินและการส่งออกเป็นข้อเสนอที่ ครม.ไม่เห็นชอบ ส่วนที่มีความเห็นชอบ ตามมาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน ตามที่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เสนอ คือ ห้ามนำเข้าแร่ใยหินและผลิตภัณฑ์เฉพาะกรณีและห้ามผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ที่ใช้วัตถุดิบอื่น หรือใช้ผลิตภัณฑ์อื่นทดแทนได้ โดยมีช่วงระยะเวลาให้ผู้ประกอบการปรับตัวเพื่อหาวัตถุดิบทดแทนและเทคโนโลยีทดแทนที่เหมาะสม

ที่สำคัญกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้ ส.อ.ท.สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งมีบทบาทโดยตรงกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับ แร่ใยหิน ศึกษาแนวทางรับฟังความคิดเห็นต่อการจัดทำเกณฑ์การคัดเลือก และแนวทางลด เลิกใช้สารเคมีและวัตถุอาจเป็นอันตรายต่อภาคอุตสาหกรรม ซึ่งแนวทางการศึกษาครั้งนี้ “แร่ใยหิน” ติดเป็น1 ในสารเคมี 6 ประเภท ที่ ส.อ.ท.ได้เสนอให้ลดหรือยกเลิกการใช้สารเคมี และวัตถุอาจเป็นอันตรายด้วยเช่นกัน

เปิดปูมรัฐ + องค์กรอิสระ หนุนปลอดแร่ใยหิน

การนำร่อง เพื่อให้ครม.อนุมัติ เลิกนำเข้า-ใช้แร่ใยหิน และยกเลิกนำเข้าและใช้แร่ใยหินเป็นส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ พร้อมประกาศเป็นวัตถุอันตรายชนะที่ 4 อย่างเร่งด่วนภายในปี 2554 ในปี 2554 นี้ เป็นสิ่งที่มีความต่อเนื่อง หลังจากที่นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เผยว่า มติวงประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ซึ่งมีนายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้เห็นชอบ "มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน"

รวมถึงการควบคุมผ่านฉลากผลิตภันฑ์ โดยคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ออกประกาศให้แร่ใยหิน เป็นสินค้าที่ควบคุมฉลากโดยกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องระบุ ข้อความคำเตือนว่า "ระวังอันตราย ผลิตภัณฑ์มีแร่ใยหิน เป็นส่วนประกอบ การได้รับสารนี้เข้าสู่ร่างกาย อาจก่อให้เกิดมะเร็ง และโรคปอด "และแสดงตราสัญลักษณ์พร้อมข้อความตามข้อกำหนด ข้อความที่เป็นคำเตือนต้องใช้ตัวอักษรขนาดไม่ต่ำกว่า 5 มม.ด้วยตัวอักษรที่มีสีต่างจากสีผิวผลิตภัณฑ์แสดงไว้ในลักษณะคงทนถาวร ที่ผลิตภัณฑ์และภาชนะบรรจุหีบห่อ บรรจุภัณฑ์ ที่มีส่วนประกอบของแรใยหิน

ทั้งนี้ ภาครัฐมีการผลักดันให้เอกชนยกเลิกการนำเข้าและใช้แร่ใยหินภายในปี 2555 ซึ่งแนวทางนี้มีเอกชนบางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย โดยพยายามชี้ให้เห็นว่า แร่ใยหิน ไม่ได้อันตรายอย่างที่มีการเตือนภัยกัน

การรณรงค์ของภาครัฐที่สื่อสารกับภาคเอกชน และหน่วยงานของภาครัฐเองที่เกี่ยว ตามมาตรการทำให้ “สังคมไทยไร้แร่ใยหิน” โดยมื่อวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้จัดประชุมหารือเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มผู้ประกอบการที่ผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้แร่ใยหินและสารทดแทน โดยมีข้อสรุปว่า

  1. มีผลิตภัณฑ์บางชนิดที่สามารถยกเลิกการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ได้เนื่องจากมีสารทดแทน หรือมีผลิตภัณฑ์ทดแทน
  2. ผลิตภัณฑ์บางชนิดยังมีความจำเป็นต้องใช่แร่ใยหินไครโซไทล์ เนื่องจากยังไม่มีสารทดแทนหรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทดแทนที่เหมาะสม
  3. มีผลิตภัณฑ์บางประเภทที่จำเป็นต้องใช้และมีการนำเข้ามาในราชอาณาจักร

ส่วนการสื่อสารกับหน่วยงานของภาครัฐเองที่เกี่ยวข้องเพื่อประชุมพิจารณาแนวทางการบริหารจัดการ ความเป็นอันตรายของแร่ใยหินไครโซไทล์ ในประเด็นต่างๆ เมื่อวันที่ 24 มกราคม และวันที่ 11 กุมภาพันธ์ กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยว ข้อง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาด ไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี

กลุ่มสินค้าเสี่ยง

ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง กับแร่ใยหินมีทั้งการผลิตและใช้เป็นส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ คือ อุตสาหกรรมก่อสร้าง ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรมSME ที่ทำท่อใยหิน และกลุ่มอุตสาหกรรมเคมี

ส่วนผลิตภัณฑ์ข้อมูลจากวารนสารในเชิงวิชาการ กว่างถึง ผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้แร่ใยหินชนิด "ไครโซไทล์" เป็นองค์ประกอบในผลิตภัณฑ์ คือ เบรกคลัตซ์ กระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องยาง ไม้ฝา เครื่องอบผมและไดร์เป่าผม กล่องพลาสติก บรรจุแบตเตอรี่

ภาคเอกชนเสียงแตก

ในปี 53 มีภาคเอกชนที่มีออกมาเคลื่อนไหวอย่างชัดเจนต่อภัยร้ายของ “แร่ใยหินในอุตสาหกรรมก่อสร้าง” นำร่องโดยผู้ผลิตสินค้าจากเยื่อกระดาษรายใหญ่อยู่คือ กลุ่มเอส ซี จี ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ชูความปลอดภัยปลอดแร่ใยหินเป็นจุดเด่น โดยมีการสื่อสารผ่านภาพยนตร์โฆษณา “ ฝ้า ผนัง ตราช้าง สมาร์ทบอร์ด ” ว่า “เห็นอนาคตก่อนสร้างบ้าน” ตอกย้ำความที่มั่นใจที่ “ ปราศจากใยหิน” ทุกผลิตภัณฑ์รายแรกและรายเดียวของประเทศไทย รวมถึงกลุ่มมหพันธ์ ผู้ผลิตกระเบื้องห้าห่วง ประกาศเลิกใช้แร่ใยหินในกระบวนการผลิตเมื่อปี 2553

“คอนวูด” ในเครือปูนซีเมนต์นครหลวง ทำตลาดผลิตภัณฑ์วัสดุทดแทนไม้ปีที่ผ่านมา ชูเรื่องแนวคิดกรีนโปรดักต์ ซึ่งเป็น “ผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีแร่ใยหิน” ที่ส่งผลอันตรายต่อผู้ใช้งาน เพื่อตอบสนองความต้องการของ ลูกค้าทั้งในกลุ่มลูกค้าทั่วไปและลูกค้าโครงการได้อย่างทั่วถึง

ขณะที่ผู้ประกอบการที่ยังนำเข้าและผลิตสินค้าที่ทำจากแร่ใยหินนั้นมี 2 ราย คือ กลุ่มบริษัทกระเบื้องโอฬาร และ บริษัท กระเบื้องหลังคาตราเพชร จำกัด (มหาชน)

ไม่เพียงอุตสาหกรรมก่อสร้างเท่านั้น ที่ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ชูเรื่องความปลอดภัยจากแร่ใยหินมาเป็นจุดขาย เพราะว่าช่วง 6 - 7ปีที่ผ่านมาในอุตสาหกรรมรถยนต์โลก บรรดาผ้าเบรคหลายๆยี่ห้อออกมาทำการตลาดชูเรื่องนี้ด้วย โดยภาครัฐจับมือกับภาคเอกชนตั้ง “ศูนย์วิจัยและทดสอบผ้าเบรก” แห่งแรกของไทย

ล่าสุดสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ร่วมกับบริษัท คอมแพ็ค อินเตอร์เนชั่นแนล (1994) จำกัด จัดกิจกรรมนำร่องใช้ "ผ้าเบรกไร้ใยหิน" ลดฝุ่นมลพิษ เพราะมีสารก่อมะเร็ง รณรงค์กับผู้ขับขี่รถสองแถวกว่า 700 คัน ในเมืองพัทยา

แฉ 5 กลุ่มสินค้าเสี่ยงโรคมะเร็ง แพทย์ นักวิชาการยันแร่ใยหินตัวการ

กลุ่มแพทย์ นักวิชาการควบคุมโรคฯ ยืนยันอันตรายจาก 5 กลุ่มสินค้าที่มีส่วนผสมแร่ใยหิน เป็นตัวการก่อให้เกิดโรคร้ายคร่าชีวิตคนไทย ไม่ว่า โรคปอดอักเสบ โรคความผิดปรกติของเยื้อหุ้มปอด โรคเนื้องอกของเยื้อหุ้มปอด โรคมะเร็งกล่องเสียง รวมทั้งโรคมะเร็งปอด

ด้วยคุณสมบัติอันโดดเด่น"แร่ใยหิน" หรือ "แอสเบสทอส" (Asbestos) คือ ทนกรด ทนความร้อน ทนไฟ เนื่องจากมีเส้นใยที่แข็งแรง และเหนียวแน่น และ ยืดหยุ่นได้ดี ทำให้ผู้ผลิตโปรดักส์ในกลุ่มสินค้าหลายประเภท มักเลือกนำมาเป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ เนื่องจาก มีประสิทธิภาพตอบโจทย์ความแข็งแรง ทนทาน ทนความร้อนได้ดี ให้กับสินค้าได้อย่างเด่นชัด

ทั้งนี้ แร่ใยหิน แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ แอมฟิโบล และเซอร์เพนไทน์ โดยกลุ่มแอมฟิโบล ยังแบ่งย่อยออกได้เป็น 5 ชนิด ได้แก่ ครอซิโดไลท์, อะโมไซท์, ทรีโมไบท์, แอนโธฟิลไลท์ และแอคทิโนไลท์ ส่วนกลุ่มเซอร์เพนไทน์ ก็ได้แก่ ไครโซไทล์ หรือไวท์ แอสเบสทอส

ปัจจุบันอุตสาหกรรมหลักๆ ที่นิยมใช้แร่ใยหินเป็นส่วนประกอบการผลิตสินค้ากว่า 3,000 รายการ จาก 5 กลุ่มสินค้า ประกอบด้วย

  1. อุตสาหกรรมซีเมนต์ อาทิเช่น กระเบื้องมุงหลังคาแบบลอนลูกฟูก ฝ้าเพดาน ฝาผนัง ท่อซีเมนต์ กระเบื้องปูพื้น
  2. อุตสาหกรรมส่วนประกอบรถยนตร์ เช่น ผ้าเบรก ผ้าคลัตช์
  3. อุตสาหกรรมผลิตฉนวนกันความร้อน อาทิเช่น เสื้อผ้าป้องกันไฟหรือความร้อน 4. อุตสาหกรรมกระดาษอัด
  4. อุตสาหกรรมประเภทพลาสติกที่มีแอสเบสทอสเป็นส่วนประกอบ ฯลฯ
  5. อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อาทิเช่น เครื่องเป่าผมและ เครื่องอบผม เครื่องปิ้งขนมปัง

“ หลายกลุ่มอุตสาหกรรม มักเลือกใช้แร่ใยหิน สร้างความแข็งแรง ทนความร้อนได้ดี หรือเป็นเป็นฉนวนกันความร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อผู้บริโภคใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้า อาจมีฝุ่นควันหลุดปลิวออกมาหากสัมผัสโดยตรงและ/หรือเกิดการสะสมเป็นระยะเวลานานพอสมควร ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้ในที่สุด ”อาจารย์ประจำคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นพ.พรชัย สิทธิศรันย์กุล ให้ความเห็น

รายงานล่าสุด ระบุอีกว่า ในปี 2553 ได้มีการดำเนินการตรวจสอบเครี่องเป่าผม โดยเฉพาะตลาดระดับล่าง ซึ่งส่วนใหญ่จะทะลักนำเข้ามาจากประเทศจีน ซึ่งผลิตแร่ใยหินเป็นอันดับต้นๆของโลก จึงมั่นใจว่าเครื่องเป่าผมที่จำหน่ายในประเทศไทยน่าจะมีแร่ใยหินแน่นอน และจะวิเคราะห์ต่อไปด้วยว่าเป็นแร่ใยหินชนิดไหน เป็นชนิดที่ประเทศไทยห้ามใช้แล้วตั้งแต่ปี 2538 และ 2545หรือไม่ เพราะประเทศไทยอนุญาตให้ใช้ได้เพียงชนิดเดียวคือชนิดแร่ใยหินขาว

นอกจากนี้ ยังมีการเก็บตัวอย่างเครื่องเป่าผมและเครื่องอบผมจากร้านเสริมสวยมาตรวจสอบด้วย ว่ามีแร่ใยหินฟุ้งกระจายออกมามากน้อยแค่ไหน เพราะในประเทศสหรัฐอเมริกามีงานวิจัยในปี 2524 พบว่า ฉนวนกันความร้อนที่มีแร่ใยหินจะฟุ้งกระจายถึง 11 เท่า

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโรค (WHO) ระบุว่า ขณะนี้มีผู้คนทั่วโลกที่ทำงานหรือเกี่ยวข้องหรือต้องสัมผัสกับแร่ใยหินประมาณ 125 ล้านคน ฝุ่นละอองเล็กๆ ที่ฟุ้งกระจายเข้าไปสะสมอยู่ในร่างกาย โดยเฉพาะในปอด เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปอด มะเร็งเยื่อหุ้มปอด ปอดอักเสบ ฯลฯ และในแต่ละปีจะมีผู้คนที่เสียชีวิต เพราะโรคจากแร่ใยหินประมาณ 100,000 คน

หากพิจารณาบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากแร่ใยหินโดยตรงกลุ่มแรก นพ.พรชัย บอกว่า คงเป็นกลุ่มพนักงานที่ผลิตอุปกรณ์เหล่านี้ หากอยู่กับการผลิตที่ต้องใช้ส่วนผสมของแร่เอสเบสตอสเป็นระยะเวลานานจะก่อให้เกิดโรคหลายอย่างตามมา เช่น โรคปอดอักเสบ โรคความผิดปรกติของเยื้อหุ้มปอด หรือเป็นเนื้องอกของเยื้อหุ้มปอด โรคมะเร็งกล่องเสียงและโรคมะเร็งปอด ซึ่งในประเทศไทยได้พบผู้ที่ป่วยจากสารแอสเบสตอสแล้ว 1 คน

เขาบอกด้วย สิ่งที่อันตรายที่สุดในขณะนี้ คือ การที่แร่ใยหินถูกทำให้กระจายอยู่ในอากาศจากการก่อสร้าง หากสูดควันหรือฝุ่นที่มีแร่ใยหินเจือปนอยู่จะส่งผลกระทบต่อร่างกายในระยะยาว

ขณะที่ นักวิชาการสาธารณสุข ชำนาญการพิเศษ สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กองควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข มาลี พงษ์โสภณ ระบุว่า ส่วนประกอบของแร่ใยหิน ที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ หากเกิดเป็นฝุ่นฟุ้งกระจายถือว่าเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก เพราะสามารถกระจายอยู่ได้ในทุกที่

ทั้งนี้ ในแต่ละปีมีผู้ป่วยอย่างน้อย 90,000 คนทั่วโลก ที่เสียชีวิตจากมะเร็งเยื่อหุ้มปอด มะเร็งปอด หรือโรคปอดอักเสบจากแร่ใยหินที่เกิดจากการทำงาน และมีผู้ป่วยอีกหลายพันคนที่ป่วยโดยไม่ได้สัมผัสแร่ชนิดนี้โดยตรงจากการทำงาน ประเทศไทยจึงควรประกาศให้หยุดใช้แร่ชนิดนี้ในการผลิตวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง เพราะในสหรัฐอเมริกาได้เลิกใช้สารชนิดนี้มาแล้ว30 ปี

ยุโรป-เอเชีย แบนนำเข้า

หัวหน้าภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดร.วันทนี พันธุ์ประสิทธิ์ ระบุว่า ปัจจุบันในประเทศที่พัฒนาแล้ว ได้ประกาศห้ามนำเข้าและยกเลิกการใช้แร่ใยหินในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ แล้ว อาทิ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น แคนาดา และสหรัฐอเมริกา ฯลฯ สำหรับประเทศไทย ไครโซไทล์ หรือ ไวท์แอสเบสทอส ยังมีการอนุญาตให้นำเข้าได้อยู่ เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการผลิต แต่การนำเข้า ผลิต ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองจะต้องแจ้งและขออนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ ส่วนแร่ใยหินชนิดครอซิโดไลท์ ได้ห้ามนำเข้าเพราะถือว่าเป็นชนิดที่มีอันตรายมาก

ทั้งนี้ ในทุก ๆ ปี ประเทศไทยต้องนำเข้าแร่ใยหิน เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ แต่ปริมาณการนำเข้าแต่ละปีจะไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับความต้องการใช้ ซึ่งสัมพันธ์กับภาวะการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ โดยในปี 2540 ที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจไทยมีการนำเข้าแร่ใยหินสูงถึงเกือบ 2 แสนตัน แต่พอปีต่อมา คือ ปี 2541 อุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจปริมาณการนำเข้าจึงลดลงเหลือ 5-6 หมื่นตันเท่านั้น ส่วนในปีต่อ ๆ มา การนำเข้าก็เพิ่มขึ้นและลดลงสลับกันไป จนถึงปี 2549 ไทยมีการนำเข้าแร่ใยหินเกือบ 1.5 แสนตัน โดยมีประเทศที่สั่งนำเข้าที่สำคัญ ๆ อาทิ แคนาดา รัสเซีย กรีซ ฯลฯ

สำหรับประเทศไทยกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดแผนงานและได้ประกาศเมื่อปี 2550 ว่า ภายใน 5 ปี หรือประมาณปี 2555 จะให้มีการประกาศห้ามนำเข้าแร่ใยหิน แต่จะเป็นไปได้หรือไม่ ยังไม่มีใครบอกได้ เนื่องจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ยังมีความเห็นที่ต่างกันอยู่

"หน่วยงานภาครัฐอาจจะมองกันคนละมุม กรมโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบอาจจะมองในด้านเศรษฐกิจและการส่งเสริมการลงทุน จึงเห็นว่าแร่ใยหินยังจำเป็นในภาคอุตสาหกรรม หากห้ามไม่ให้ใช้ จำเป็นต้องหาวัสดุอื่นมาทดแทนซึ่งมีราคาสูงกว่ามาก ซึ่งจะทำให้ผลิตภัณฑ์มีราคาสูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อคนจน ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขก็จะให้ความสำคัญกับสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชนจึงต้องการห้ามไม่ให้มีการนำเข้า"

ในปัจจุบันได้มีการคิดค้นสารที่จะนำมาใช้ทดแทนแร่ใยหิน เช่น PVA ซึ่งในเมืองนอกที่มีการประกาศห้ามใช้แร่ใยหิน ได้มีการใช้สารตัวนี้ทดแทนอย่างแพร่หลาย สำหรับประเทศไทย มีการผลิตสารตัวนี้เช่นกัน แต่ยังมีน้อยอยู่จึงทำให้มีราคาแพง และหากจะสั่งนำเข้ามาใช้ก็ต้องเสียภาษี ในขณะที่การนำเข้าแร่ใยหินไม่ต้องเสีย จึงทำให้ภาคอุตสาหกรรมยังต้องการใช้แร่ใยหินอยู่

ชงเลิกแร่ใยหิน 1 ใน 6 สารอันตราย

ล่าสุด ทางด้าน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เสนอให้ลดหรือยกเลิกการใช้สารเคมี 6 ประเภท โดย 1 ใน 6 คือ แร่ใยหินขาว หรือ ใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า นอกเหนือจาก 5 สารเคมีที่ก่อให้เกิดอันตราย อาทิ เช่น

  1. C-pentaBDE ใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติก
  2. Trichloroethyleneใช้ในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ สิ่งทอ อิเลคทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์
  3. c-OctaBDE ใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติกและสิ่งทอ
  4. Pentachlorodenzene ใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตสารกันเชื้อรา
  5. PFOS ใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องหนัง อิเลคทรอนิกส์

ด้าน ประธานกิติมศักดิ์กลุ่มอุตสาหกรรมเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เพชรรัตน์ เอกแสงกุล ให้ความเห็นว่า ขณะนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมมอบหมายให้สอท.ศึกษาแนวทางการยกเลิกการใช้สารเคมีบางประเภทที่อาจเป็นอันตราย ซึ่งในต่างประเทศออกระเบียบให้ยกเลิกการใช้สารเหล่านี้ ถ้าไทยไม่ยกเลิกการใช้ อาจส่งผลต่อการส่งออกสินค้าได้

หลังจากนี้ ส.อ.ท.จะให้ผู้ประกอบการส่งความเห็นเพิ่มเติม หากไม่มีรายใดคัดค้าน จะเสนอกรมโรงงานอุตสาหกรรมให้ประกาศเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ซึ่งจะห้ามผลิต ห้ามใช้ ห้ามนำเข้า-ส่งออก และห้ามครอบครองต่อไป

"การยกเลิกใช้สารทั้ง 6 ประเภท อาจส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น เพราะต้องใช้สารอื่นทดแทน แต่ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องปรับตัว เพื่อให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันได้ เพราะหลายประเทศมีแนวโน้มห้ามใช้สารเหล่านี้เพิ่มขึ้น"เพชรรัตน์ กล่าว

Relate topics

แสดงความคิดเห็น

กรุณาป้อน Username / Password ที่ท่านได้ลงทะเบียนไว้กับเว็บไซท์แห่งนี้ หรือ สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซท์
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง