ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๘๑ (๓) ได้บัญญัติให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายขึ้น เพื่อเป็นองค์กรที่ดำเนินการเป็นอิสระเพื่อปรับปรุงและพัฒนากฎหมายของประเทศ รวมทั้งการปรับปรุงกฎหมายให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยพระราชบัญญัติคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย พ.ศ.๒๕๕๓ กำหนดให้มีคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายจำนวน ๑๑ คน ประกอบด้วยกรรมการที่ปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลาจำนวน ๖ คน ได้แก่ ประธานกรรมการรองประธานกรรมการ และกรรมการจำนวน ๔ คน และกรรมการที่ปฏิบัติหน้าที่ไม่เต็มเวลาจำนวน ๕ คน โดยผู้ที่ได้รับเลือกและเสนอชื่อเป็นกรรมการปฏิรูปกฎหมาย พระมหากษัตริย์จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง และมีระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง ๔ ปี และอาจได้รับเลือกอีกวาระหนึ่งได้แต่ต้องไม่เกินสองวาระติดกัน
สำหรับการคัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการปฏิรูปกฎหมายตามพระราชบัญญัตินี้ คณะกรรมการสรรหากรรมการปฏิรูปกฎหมายตามพระราชบัญญัตินี้ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ผู้แทนคณาจารย์ประจำซึ่งสอนในสาขาวิชานิติศาสตร์ในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและเอกชน และผู้แทนองค์กรเอกชน จำนวน ๑๒ คน ทำหน้าที่พิจารณาคัดเลือกบุคคลผู้มีความรู้หรือมีความเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ที่เป็นประจักษ์และเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปกฎหมาย รวมทั้งไม่มีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ เป็นกรรมการปฏิรูปกฎหมายจำนวน ๑๑ คน เสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป
คณะกรรมการสรรหาฯ ได้วางกรอบแนวทางในการดำเนินงานโดยตระหนักถึงความสำคัญของการสรรหาและคัดเลือกกรรมการปฏิรูปกฎหมายซึ่งถือได้ว่าเป็นคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายชุดแรกของประเทศไทยที่มีการแต่งตั้งตามกฎหมายและมีภารกิจที่สำคัญอย่างยิ่งในการปฏิรูปกฎหมายทั้งระบบของประเทศซึ่งเป็นที่คาดหวังและถูกจับตามองของคนในสังคมอย่างมาก เพื่อวิเคราะห์และพิจารณาคุณสมบัติ ความรู้ ประสบการณ์ รวมทั้งวิสัยทัศน์และแนวทางการปฏิรูปกฎหมายของผู้สมัคร ทั้งนี้ ได้ดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้โดยเปิดโอกาสให้สาธารณชนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อต่าง ๆ และตรวจสอบอย่างเป็นทางการผ่านกลไกหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักบริหารการทะเบียน กระทรวงมหาดไทย สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงาน ป.ป.ส. ศาลล้มละลายกลาง กรมราชทัณฑ์ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยมีผู้มาสมัครทั้งสิ้นจำนวน ๒๓๔ คน เป็นเพศชาย ๑๙๔ คน เพศหญิง ๓๙ คน สมัครกรรมการประเภทเต็มเวลา ๑๐๓ คน และกรรมการประเภทไม่เต็มเวลา ๑๓๑ คน
คณะกรรมการสรรหาฯ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายชุดนี้ว่าจะส่งผลให้กฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย การวินิจฉัยกฎหมาย การพัฒนาบุคลากร การศึกษากฎหมายของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้ประเทศสามารถพัฒนาในทุก ๆ ด้านต่อไป การปฏิรูปกฎหมายนั้นเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการทั้งเชิงโครงสร้าง และการปฏิบัติ มีความสลับซับซ้อนหลากหลายมิติ เกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วนและทุกคน จึงต้องใช้เวลาและให้โอกาสกับคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายในการจัดทำระบบและโครงสร้างพื้นฐานในการรองรับการปฏิบัติงานตามภารกิจและอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามเจตนารมณ์ที่วางไว้ โดยคณะกรรมการสรรหาฯ ได้พิจารณาตามแนวทางดังกล่าว อภิปรายอย่างกว้างขวาง และเน้นให้เกิดความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ มีความหลากหลายและความสมดุลย์ ปรากฏผลการคัดเลือกบุคคลเป็นกรรมการครบจำนวนแล้ว สรุปได้ดังนี้
๑. กรรมการประเภทเต็มเวลา จำนวน ๖ คน
ศาสตราจารย์ ดร.คณิต ณ นคร ด้านกระบวนการยุติธรรม การบังคับใช้กฎหมาย
นางสุนี ไชยรส ด้านมีการส่วนร่วมของประชาชน และการร่างกฎหมาย
นายสมชาย หอมลออ ด้านสิทธิมนุษยชนและการประสานงานกับต่างประเทศ
ศาสตราจารย์ ดร. เสาวนีย์ อัศวโรจน์ ด้านวิชาการ การวิจัย และการวินิจฉัยกฎหมาย
นายสุขุมพงศ์ โง่นคำ ด้านนิติบัญญัติ การเมือง การปกครอง การปรับปรุงและพัฒนากฎหมาย
นายไพโรจน์ พลเพชร ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ด้านคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสุขภาพ
๒. กรรมการประเภทไม่เต็มเวลา จำนวน ๕ คน
รองศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ ด้านกฎหมายมหาชน รัฐธรรมนูญ และปรัชญากฎหมาย
รองศาสตราจารย์ ดร. กำชัย จงจักรพันธ์ ด้านกฎหมายธุรกิจ การลงทุน การค้าระหว่างประเทศ
รองศาสตราจารย์วิระดา สมสวัสดิ์ ด้านความเสมอภาค เด็ก สตรี คนชรา และผู้ด้อยโอกาส
นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธ์ ด้านสื่อสารมวลชน และ การสื่อสารสาธารณะ
นายชัยสิทธิ์ สุขสมบูรณ์ ด้านแรงงาน สวัสดิการสังคม
โดยขั้นตอนต่อไป ผู้ที่ได้รับเลือกทั้งหมดจะได้มีการประชุมร่วมกันเพื่อคัดเลือกประธานกรรมการคนหนึ่งและรองประธานกรรมการคนหนึ่งซึ่งจะต้องคัดเลือกจากกรรมการประเภทเต็มเวลาเท่านั้น และคณะกรรมการสรรหาฯ จะได้แจ้งรายชื่อดังกล่าวเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป
สำหรับความคาดหวังของสังคมในการดำเนินงานของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายนั้น จะเป็นองค์กรที่เป็นกลไกสำคัญของประเทศในการปฏิรูปกฎหมาย โดยพิจารณาภาพรวมของกฎหมายอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่เป็นเพียงการพิจารณากฎหมายเป็นรายฉบับหรือยกร่างกฎหมายตามที่หน่วยงานของรัฐเสนอมา
นอกจากนี้จะมีการขับเคลื่อนทางวิชาการ ให้ความรู้กับภาคสังคม โดยใช้องค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษา วิจัย เพื่อเสนอแนะกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ประการสำคัญ จะเป็นองค์กรที่เป็นที่ปรึกษาและสามารถให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายตามรัฐธรรมนูญได้ และดำเนินการการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการมีกฎหมายและการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
การปฏิรูปกฎหมายเป็นเรื่องใหญ่ ต้องดำเนินการทั้งเชิงโครงสร้าง และการปฏิบัติ มีความสลับซับซ้อนหลากหลายมิติ เกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วนและทุกคน จึงอาจต้องใช้เวลาและให้โอกาสกับคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายในการจัดทำระบบและโครงสร้างพื้นฐานในการรองรับการปฏิบัติงานตามภารกิจและอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามเจตนารมณ์ที่วางไว้
สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย