เวทีเสวนา “ท้องถิ่นห่วงใย ใส่ใจผู้บริโภค”
รายงานโดย วัฒนชัย มะโนมะยา
:: บันทึกความร่วมมือเพื่อพัฒนาระบบงานคุ้มครองผู้บริโภค
กระทั่งนำไปสู่การผนึกกำลังของคนในท้องถิ่น ภาคประชาสังคม หน่วยงานองค์กร และเครือข่ายภาคี ที่เล็งเห็นถึงสาระสำคัญของการคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกัน
การลงนามบันทึกความร่วมมือในครั้งนี้ นำไปสู่ความร่วมมือที่ 1 คือการจัดการรูปแบบเครือข่ายและวิธีการทำงาน โดยมีโครงสร้างที่เรียกว่า “คณะทำงานเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดสงขลา”ซึ่งแต่งตั้งโดยผู้ว่าราชการจังหวัด (นายสนธิ เตชานนท์)
และความร่วมมือที่ 2 คือการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภค
เป้าหมายของการพัฒนาระบบเครือข่ายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคใต้ ระยะปีแรกนั้นครอบคลุมในจังหวัดสงขลา สตูล และสุราษฎร์ธานี
สำหรับเวทีเสวนาและบันทึกความร่วมมือในครั้งนี้อยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดสงขลา นับเป็นก้าวขยับที่สำคัญดังที่ได้กล่าวไว้ตอนต้น มองในมุมกลับคือการเริ่มจากจุดเล็กๆทีละก้าว หนักแน่นมั่นคง เกิดเป็นพลังดังพี่ดังน้อง รวมกันเป็นพันธมิตร คลุมครอบรอบด้านในทุกภาคส่วน ประกอบด้วย... สำนักงานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำจังหวัดสงขลา เทศบาลนครหาดใหญ่ เทศบาลตำบลปริก ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลท่าข้าม องค์การบริหารส่วนตำบลควนรู เครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุข สมาคมเกษตรอินทรีย์วิถีไท และ สถาบันวิจัยระบบสุขภาพภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
อาจกล่าวได้ว่าเวทีการเสวนา “ท้องถิ่นห่วงใย ใส่ใจผู้บริโภค”ในวันนี้ คือการเริ่มต้นอย่างเป็นทางการของ “คณะทำงานเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดสงขลา” และหัวข้อในการเสวนาก็คือการเริ่มต้น “การดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภค”อย่างเป็นรูปธรรมนั่นเอง.
:: การดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภค
การเสวนา “ท้องถิ่นห่วงใย ใส่ใจผู้บริโภค”ในภาคเช้ามีการเสวนาเรื่อง “การบูรณาการระบบงานคุ้มครองผู้บริโภค ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น”โดย ผศ.ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสุขภาพภาคใต้ ภก.บรรจง ฉายบุ หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา นายคีรีศักดิ์ ร่างเล็ก หัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมและพัฒนาท้องถิ่น รักษาการในตำแหน่งท้องถิ่นจังหวัดสงขลา และนายนิธิ พันธุ์มณี ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลท่าข้าม
ดำเนินการเสวนาโดย นายสุริยา ยีขุน นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลปริก
และในภาคบ่ายมีการเสวนาเรื่อง “ร่วมต่อเติมเสริมประสาน ระบบงานคุ้มครองผู้บริโภค”โดยคุณมณี ศิริพร สำนักงานอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำจังหวัดสงขลา นายบรรจง ฉายบุ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา นายภาณุ พิทักษ์เผ่า เครือข่ายผู้บริโภคสงขลา นายนิมตร แสงเกตุ ประธานสมาคม อสม.จังหวัดสงขลา นายธีรศักดิ์ สุภาไชยสิทธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ อัยการพรพิชัย ไชยมาตร สำนักงานอัยการจังหวัดสงขลา และคุณวรรณชัย สุวรรณกาญจน์ กรรมการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม
ดำเนินรายการเสวนาโดยนายบัญชร วิเชียรศรี หรือดีเจโอเลี้ยง เสียงหล่อ สถานีวิทยุมอ.FM 88.0 MHz
การเสวนาในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมรับฟังประมาณ 150 คน ซึ่งเป็นบุคลากรหน่วยงานองค์กร เครือข่ายภาคีจากจังหวัดสงขลา สตูลและสุราษฎร์ธานี โดยในภาคเช้ามีการถ่ายทอดสดออกรายการสภากาแฟ ทางสถานีวิทยุมอ.FM 88.0 MHz และถ่ายทอดออกอากาศทางวิทยุชุมตำบลท่าข้าม FM 101.0 MHzตลอดรายการเสวนา
:: สถานการณ์การคุ้มครองผู้บริโภค
ผศ.ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสุขภาพภาคใต้ กล่าวเกริ่นนำถึงการพัฒนาระบบเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคให้มีความเข้าใจร่วมกันโดยเบื้องต้นในแง่ที่ว่าเราทุกคนล้วนเป็นผู้บริโภค แม้แต่ผู้ประกอบการเอง เพราะต้องใช้ทั้งสินค้าอุปโภค บริโภค และบริการเหมือนๆกัน ต่างแต่ว่าเมื่อผู้ประกอบการถูกเอารัดเอาเปรียบในฐานะผู้บริโภค ผู้บริโภคก็จะถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบการหรือผู้ให้บริการนั้นๆอีกทอดหนึ่ง เป็นลูกโซ่ต่อกัน
เมื่อเรามองเห็นทั้งระบบว่าปัญหาคืออะไร จึงเกิดกระบวนการปกป้องคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในทุกภาคส่วน เป็นหลักการนำไปสู่การออกกฎหมายรัฐธรรมนูญว่าด้วยเรื่องสิทธิความเป็นธรรม ประเด็นก็คือ เกิดการคุ้มครองผู้บริโภคอันเกิดจากความเสียหาย อันตราย ไม่เป็นธรรม จากการซื้อสินค้า และบริการ
“ไม่ว่าสิ่งที่เราเห็นกันทั่วไปใกล้ตัว ยกตัวอย่างเช่นซื้อสินค้าจากตลาดสด(คลองแงะ) ถูกกว่าห้างสรรพสินค้า(แม็คโคร) ถูก แต่ของปลอม หมดอายุ สินค้าบรรจุอยู่ในกระป๋อง ผลิตภัณฑ์บอกชนิดสินค้าอีกอย่างหนึ่ง(เป่าฮื้อ) เปิดออกมาเป็นอีกอย่าง(เม็ดถั่ว) หรือบริการจากโรงพยาบาล ซึ่งได้รับการปฏิบัติไม่เสมอภาค ไม่ต้องพูดถึงว่าการได้รับยาแตกต่างกันระหว่างคนจนกับคนรวย ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหาย อันตราย และไม่เป็นธรรม”
เป็นที่ทราบกันว่าการคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวข้อง 3 ฝ่ายหลักๆ คือผู้ประกอบการหรือผู้ให้บริการ ผู้บริโภคคือเราทุกคนในที่นี้ และรัฐในฐานะผู้ใช้กฎหมายบังคับกำกับดูแล และในปัจจุบันสื่อมวลชนได้เข้ามามีอิทธิพลและบทบาทในเรื่องราวเหล่านี้อีกทาง
“เช่นกรณีของการทุบประจานรถยนต์ ยี่ห้อหนึ่ง(ซีอาร์วี) ซึ่งผู้(บริโภค)ที่เสียหายร้องเรียนว่า(ผู้ประกอบการ)ไม่รับผิดชอบ ขณะที่กระบวนการของรัฐไม่สามารถยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือได้เท่าที่ควร สื่อซึ่งทำหน้าที่กระจายข่าวเรื่องราวเหล่านี้ก็เสมือนเป็นผู้ช่วยทำหน้าที่เรียกร้อง ทำให้ผู้ประกอบการต้องหันมาตระหนัก ระวังป้องกันและใส่ใจดูแลผู้บริโภคมากขึ้น
หรือกรณีสื่อท้องถิ่นวิทยุชุมชนของเราเองที่มีบทบาทหน้าที่ในส่วนนี้อยู่ เช่นรายการ “แลบ้านแลเมือง”ทางสถานีวิทยุมอ.FM 88.0 MHz ซึ่งรับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ต่างๆ รวมทั้งในกรณีเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเป็นการซักถามผู้ประกอบการกลางอากาศ เป็นการได้รับรู้ออกไปในวงกว้างและรวดเร็วอีกทาง เป็นต้น (อ่านรายละเอียดเรื่อง แลบ้านแลเมือง หน้า... )
อย่างไรก็ตามสื่อก็มีหน้าที่บทบาทในบางเรื่องบางกรณี และในแง่ของการทำหน้าที่เป็นปากเสียงให้เท่านั้น
แต่จากการสำรวจสถานการณ์ผู้บริโภค พบว่ากว่า 70-80 เปอร์เซ็นต์เพิกเฉยต่อการเรียกร้องสิทธิของตนเอง ด้วยเหตุผลหลายๆประการเช่นความสะดวก การเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสาร และการไม่รู้ถึงสิทธิอันพึงมีพึงได้ ฯลฯ
เมื่อมองกลับไปอีกด้านหนึ่งในภาคปฏิบัติ อาทิเช่น ขณะที่รัฐกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ทำงานด้านนี้อยู่เพียง 2-3 คน ต้องรับภาระหน้าที่และทำงานหนักเกินกำลัง ดูแลไม่ทั่วถึง เป็นข้อจำกัดในการแก้ไขปัญหาอย่างที่ควรจะเป็น จึงเกิดความคิดว่าจะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองอย่างครอบคลุมทั่วถึงเป็นระบบ คำตอบหนึ่งที่ได้คือ เริ่มจากแนวทางเบื้องต้นก็คือ
หนึ่ง ลุกขึ้นมาเรียกร้องปกป้องสิทธิของตัวเอง
สอง ขยายการคุ้มครองผู้บริโภค โดยอาศัยการผลักดันพรบ.การคุ้มครองผู้บริโภคออกมา เพื่อสอดรับกับแนวทางเดียวกับการกระจายอำนาจของท้องถิ่น การศึกษา หรือสาธารณสุข ซึ่งในขณะนี้สคบ. สสจ. ก็กำลังถ่ายโอนให้เทศบาลหรือท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทดูแลคุ้มครองผู้บริโภคในชุมชน และขยับขยายออกเป็นเครือข่ายได้มากมายเป็นที่น่าพอใจ
“ต่อไปในอนาคตเมื่อพบเรื่องการเอารัดเอาเปรียบก็จะมีอาสาสมัคร และการประสานกันเป็นเครือข่าย คนในชุมชนมีเรื่องร้องเรียน เพียงเดินไปอบต. เทศบาลใกล้บ้าน วันนี้ท้องถิ่น เทศบาล อบต.มาพูดคุยพร้อมขยับขับเคลื่อน แม้บางอย่างจะยังไม่เรียบร้อยสมบูรณ์ แต่ก็เปรียบเสมือการกินข้าวทีละคำ การปฏิรูปการเมืองใหม่ก็ต้องทำทีละขั้น”
ผศ.ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ กล่าวว่า ในวันนี้เราจะได้มาร่วมกันบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างงานประจำของหน่วยงานองค์กร ภาครัฐ และการขยับขับเคลื่อนงานเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคของชุมชน ภาคประชาสังคม
การบูรณาการระบบงานคุ้มครองผู้บริโภค ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
การเสวนาเรื่อง “การบูรณาการระบบงานคุ้มครองผู้บริโภค ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น”ในภาคเช้า โดย ผศ.ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสุขภาพภาคใต้ ภก.บรรจง ฉายบุ หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา และนายคีรีศักดิ์ ร่างเล็ก หัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมและพัฒนาท้องถิ่น รักษาการในตำแหน่งท้องถิ่นจังหวัดสงขลา ดำเนินการเสวนาโดย นายสุริยา ยีขุน นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลปริก
:: การพัฒนาระบบเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค
ในโลกทุนนิยมเสรี ก่อเกิดวัฒนธรรมบริโภคนิยมยุคใหม่ที่หลากหลาย พร้อมๆกับระบบการค้าเสรี สถานการณ์ผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิ์ก็ทวีความรุนแรงและสลับซับซ้อนมากขึ้น ครอบคลุมไปทั่วทุกพื้นที่ไม่เว้นแม้แต่ท้องที่ชุมชนเมืองและชนบท แม้จะมีหน่วยงานหลายภาคส่วน เช่นองค์กรของรัฐ เอกชน ภาคประชาชน ท้องถิ่น หรือกระทั่งสื่อสารมวลชน ได้เร่งรัดทำหน้าที่แก้ไขปัญหาเหล่านี้ แต่ลักษณะการทำงานแบบรวมศูนย์หรือไม่ก็ต่างคนต่างทำที่ผ่านมา ทำให้ขาดพลังในการคุ้มครองผู้บริโภค ไม่อาจตอบสนองกับผู้บริโภคได้เท่าที่ควรจะเป็น
อาจกล่าวได้ว่าหน่วยงาน องค์กร ในพื้นที่ ชุมชน เครือข่าย ภาคี หรือกระทั่งบุคคล ได้ทำหน้าที่ และมีภาระบทบาทในส่วนของการบริโภคอยู่แล้วส่วนหนึ่ง บางแห่งอาจจะทำตามบทบาทหน้าที่ บางแห่งทำถึงระดับ “นวัตกรรม” และงานเชิงรุกอย่างไม่หยุดยั้ง ขณะที่บางแห่งบางที่ยังคิดไม่ออกบอกไม่ถูกด้วยซ้ำไปว่า “ปัญหาคือมีงบประมาณแต่ไม่รู้จะทำอะไรดี” ขณะที่บางแห่งบางคนมีแนวคิดแต่ขาดงบประมาณหรือกำลังคน ที่สำคัญก็คือก่อนหน้านี้ในแต่ละภาคส่วนก็ได้ทำงานขับเคลื่อนการคุ้มครองผู้บริโภคของตนอยู่ตามลำพัง
เพื่อให้เกิดการพัฒนาระบบคุ้มครองผู้บริโภคที่บูรณาการพลังจากภาคีทุกภาคส่วนของจังหวัดสงขลา โดยสำนักงานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำจังหวัดสงขลา ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนภาคีผู้บริโภคและเครือข่ายฯ...ซึ่งได้ทำงานประสานความร่วมมือกันมาในระยะเวลาหนึ่ง... จึงมีข้อตกลงบันทึกการลงนามความร่วมมือฯดังรายละเอียดข้างต้น โดยมีภารกิจหลักคือ
หนึ่ง ร่วมกันผลักดัน และขับเคลื่อนกระบวนการมีส่วนในการพัฒนาระบบคุ้มครองผู้บริโภคในจังหวัดสงขลา และ
สอง เพื่อเป็นกลไกในการเชื่อมประสานภาคีที่เกี่ยวข้อง ทั้งในและนอกพื้นที่ ในส่วนของการจัดรูปแบบเครือข่ายและวิธีการทำงานนั้น นำไปสู่ความร่วมมือในการดำเนินงานคุ้มครองที่เป็นรูปธรรมร่วมกันคือ
หนึ่ง พัฒนาระบบข้อมูลต่างๆให้เป็นระบบที่เชื่อมประสานหรือ ลิงค์ต่อกันได้ รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสาธารณะในความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานไปพร้อมๆกัน
สอง ร่วมกันเสริมสร้างศักยภาพในการให้ความรู้และพิทักษ์สิทธิ์ เช่นการจัดเวทีสัมมนา จัดประชุม อบรม หรือสร้างปฏิบัติการเพื่อการเรียนรู้ขึ้นในพื้นที่ต่างๆ
สาม สร้างหรือขยายเครือข่ายการมีส่วนร่วม เช่นอาสาสมัครผู้บริโภคในชุมชน หรือการพัฒนาให้เกิดสภาผู้บริโภคขึ้นมา
สี่ พัฒนาระบบประสานงานการรับเรื่องร้องเรียน เพื่อให้ความเป็นธรรมและชดเชยค่าเสียหายให้แก่ผู้บริโภค เช่น การจัดตั้งศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภคในระดับท้องถิ่น เป็นต้น
:: เวทีเสวนา ท้องถิ่นห่วงใย ใส่ใจผู้บริโภค
การที่ตัวแทนบุคคลองค์กรหรือหน่วยงานในภาคส่วนต่างๆได้มาร่วมเวทีเสวนา ย่อมนำไปสู่การบูรณาการทางด้านความคิด เชื่อมโยงไปสู่ทิศทางและเป้าหมายร่วม เกิดเป็นรูปธรรมของการก้าวเดินที่มีพลังเข้มแข็งแก่กันและกัน
กล่าวได้ว่าการเสวนา “ท้องถิ่นห่วงใย ใส่ใจผู้บริโภค”เกิดจากการตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของผู้บริโภคเอง ที่จะต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องการปกป้องคุ้มครองสิทธิของตน โดยมีองค์กรท้องถิ่นและชุมชนเข้ามาร่วมสนับสนุนดูแลในเรื่องเหล่านี้ร่วมกัน
บนเวทีที่แต่ละคนใช้เวลาเสวนาอาจจะไม่มากมาย แต่สามารถสะท้อนให้เห็นการดำเนินงานที่ผ่านมาของแต่ละภาคส่วน บอกเล่าถึงเรื่องราว แนวคิด วิธีการทำงาน และวิสัยทัศน์ต่างๆ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อ “กระบวนการพัฒนาระบบเครือข่ายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค”ในท้องถิ่นและชุมชนร่วมกันในหลายๆประการ
พูดง่ายๆก็คือได้เห็นว่าที่ผ่านมาท้องถิ่นได้ทำอะไรมาบ้าง จะทำอะไรต่อไป และมีแนวทางการทำงานร่วมกันอย่างไร
:: การจัดการระบบฐานข้อมูลสุขภาพ
นายสุริยา ยีขุน นายกเทศมนตรีตำบลปริก ผู้ดำเนินการเสวนากล่าวว่า ในชีวิตประจำวันเราไม่อาจหลีกหนีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคไปได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน ยา เครื่องสำอาง เครื่องไม้ใช้สอยต่างๆ ของทุกคน ซึ่งท้องถิ่นจะต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะเป็นทั้งบทบาทหน้าที่โดยตรงที่ทางเทศบาลเองจะต้องให้ความสำคัญกับพี่น้องประชาชนทุกๆเรื่องตั้งแต่เกิดจนตายนั่นเอง
“ทั้งนี้การทำงานในด้านการคุ้มครองผู้บริโภค จะต้องประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและท้องถิ่น เช่นอย.(สำนักงานอาหารและยา) สสจ. สคบ.รวมทั้งภาคส่วนต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยต้องเป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ทางวิชาการ สื่อท้องถิ่น วิทยุชุมชนร่วมด้วยช่วยกัน เช่น เอฟเอ็มแปดแปด วิทยุชุมชน ท่าข้าม เวบไซต์สงขลาเน็ต เป็นต้น”
และให้ความเห็นว่าในส่วนนี้เองเรื่อง “การจัดการระบบฐานข้อมูลสุขภาพชุมชน” นับเป็นสิ่งสำคัญอีกอย่างเพื่อให้การดำเนินงานในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่แท้จริง (อ่านรายละเอียด การจัดการระบบฐานข้อมูลสุขภาพชุมชนเทศบาลตำบลปริก หน้า...)
:: สิทธิพื้นฐาน และมาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภค
จากนั้น ผศ.ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ ชี้แจงถึงสถานการณ์การคุ้มครองผู้บริโภคในจังหวัดสงขลาว่าจากผลการสำรวจพบว่าปัญหาเดิมคือเรื่องอาหารการกิน และการไม่รู้จักช่องทองหรือสิทธิในการร้องเรียน เช่นผู้ป่วยที่ได้รับยาไม่มีคุณภาพจากโรงพยาบาล คลินิก ร้านยา และตลาดเช่นยาชุดยาเร่ ถัวเฉลี่ยสูงประมาณ 2ครั้ง/คน/ปี มีโอกาสได้รับอาหารไม่สด ไม่มีคุณภาพ จากทางเท้า อาหารพร้อมปรุง พืชผักจากตลาด อาหารสดจากทะเล น้ำดื่ม สูงถึง 4.4ครั้ง (อ่านรายละเอียด ข้อมูลเชิงสถิติ หน้า...) และที่สำคัญ 70-80 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเจอปัญหาแล้วเมินเฉย ประเด็นก็คือ ซื้อของจากห้างมา ปรากฏว่าหมดอายุ คุณภาพไม่ดี ไม่ร้องเรียน ทิ้ง เพราะเห็นว่าแค่ค่ามอเตอร์ไซค์ก็ไม่คุ้มแล้ว เป็นต้น
ในทางกลับกันเมื่อการคุ้มครองไม่ดีปรากฏมากขึ้น และไม่ได้รับการแก้ไข หากการร้องเรียนอย่างเอาจริงเอาจัง จะทำให้ผู้ประกอบการ ระมัดระวังมากขึ้น นั่นคือ “โอกาส”ของผู้บริโภค
และการขยับขับเคลื่อนลงไปสู่ท้องถิ่น ให้มีศูนย์ร้องเรียนในชุมชนซึ่งผู้บริโภคเองจะต้องเป็นคนช่วยกันผลักดันคือ “ช่องทาง”
สำหรับสถานการณ์อื่นๆ ผศ.ดร.พงค์เทพกล่าวว่าสำหรับการบริการในพื้นที่เมืองอาจไม่มีปัญหาเรื่องนี้เพราะมีบริการสุขภาพเชิงปริมาณเยอะ แต่ในเชิงระบบแล้ว พบว่ายังมีการลงทุนสูง ผลที่ได้ต่ำ หรือบริการสุขภาพยังไม่ครบถ้วน อย่างไรก็ตามก็มีความพยายามผลักดันในเรื่องเหล่านี้อยู่ เช่นโรงพยาบาลประกันสุขภาพ นำไปสู่มาตรฐานการปฏิรูประบบสุขภาพที่ครอบคลุมในทุกพื้นที่
อย่างน้อยเพื่อสิทธิขั้นพื้นฐานที่พึงจะต้องมี เช่นสิทธิในเรื่องอาหารและยา การได้รับความปลอดภัย และบริการ (อ่านรายละเอียดสิทธิพื้นฐาน หน้า..)
“อิสระในการบริโภค เช่นร้านค้าในชุมชน ผู้บริโภคจะซื้อยาที่มี อย. เรามีสิทธิ์เลือก หรืออย่างเช่นในต่างประเทศ ผลิตภัณฑ์ใดในท้องตลาดจะมีบริษัทเดียวยี่ห้อเดียวไม่ได้ เพราะจะเป็นการผูกขาด เราจึงเห็นการตั้งบริษัทลูกขึ้นมารองรับ หรืออย่างกรณียารักษาโรคเอดส์ ผลิตออกมาแล้ว ตั้งราคาสูงมาก เพื่อแสวงหาผลกำไรแต่ไม่ได้คำนึงถึงสิทธิของการได้รับการรักษาเยียวยา เป็นต้น นี่คือมาตรฐานหรือสิ่งที่ทุกฝ่ายจะต้องคำนึงถึงและช่วยกันผลักดัน”
นอกจากนี้ยังมีสิทธิที่จะได้รับการชดเชยความเสียหาย การให้ข้อมูลที่ถูกต้อง การเร่งรณรงค์ให้ความรู้ รวมถึงการได้อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี
:: ผู้บริโภคคือศูนย์กลาง การบูรณาการ และข้อคิดสะกิดใจ
ภก.บรรจง ฉายบุ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ณ วันนี้เป็นที่รับรู้ว่าเรื่องบริโภคนั้นไม่ใช่เรื่องสุขภาพอย่างเดียว แต่หมายถึงการคุ้มครองดูแลเรื่องผลิตภัณฑ์ตลอดจนการบริการพื้นฐานให้มีความปลอดภัย เป็นธรรม เช่นราคาสมประโยชน์
“ซื้อของชนิดเดียวกันราคาสองพัน กับราคาห้าพันบาทควรจะบอกได้ว่ามีคุณค่าคุณภาพแตกต่างกันอย่างไร สำคัญที่ช่องทางการเข้าถึง ภาครัฐต้องเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ทำงานในเชิงรุก ส่วนภาคประชาชนอย่านิ่งเฉย เห็นปัญหาใดก็สะท้อนออกมา”
อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดกรณีพิพาทขึ้น ภก.บรรจง บอกว่า บางครั้งต้องทำใจว่าไม่ใช่ร้องเรียนแล้วจะได้ผลเสมอไป เพราะจะต้องให้ความเป็นธรรมทั้งผู้บริการและผู้ประกอบการด้วย ในปัจจุบันการร้องเรียนก่อนจะได้เปรียบตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค การรักษาสิทธิ์ของผู้บริโภคส่วนหนึ่งคือการตรวจสอบข้อมูลเอกสารหลักฐานให้ครบถ้วน เพื่อนำไปสู่กระบวนการให้การคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคตามขั้นตอนที่ถูกต้องและเป็นธรรมต่อไป
โดยกล่าวถึงแนวทางการบูรณาการในส่วนของการคุ้มครองผู้บริโภคว่า
“เจ้าหน้าที่ทำงานด้านนี้ในหน่วยงานมีเพียงยี่สิบคนต่อประชากรล้านกว่าคนในจังหวัดสงขลา ดังนั้นต้องมีเครือข่าย การกระจายอำนาจ โดยการบูรณาการงานร่วมกันระหว่าง สสจ. อำเภอ ตำบล อนามัย สมาชิกอบต.ท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่กระบวนการที่จะพัฒนาระบบเครือข่ายการคุ้มครองผู้บริโภค โดยมีผู้บริโภคซึ่งเป็นคนในพื้นที่และชุมชนเองซึ่งรู้ปัญหาของตนเองอย่างแท้จริงเป็นศูนย์กลาง”
:: นักคุ้มครองผู้บริโภค
คุณคีรีศักดิ์ ร่างเล็ก หัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมและพัฒนาท้องถิ่น รักษาการในตำแหน่งท้องถิ่นจังหวัดสงขลา กล่าวว่าอิทธิพลของโฆษณา (ลัทธิบริโภคใหม่) ที่มีการปลูกฝัง สิ่งยั่วยุ เช่นโฆษณายาลดอ้วนภายใน 5 วัน 10 วัน ประเด็นก็คือผู้ผลิตมีอำนาจ เงิน ใช้สื่อ นำไปสู่การสร้างแบรนด์ (เคเอฟซี ฟาสต์ฟู๊ด) เป็นค่านิยมอะไรต่างๆซึ่งส่งผลต่อภาวะสุขภาพและคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนผู้บริโภคในวงกว้าง
รวมทั้งในระดับพื้นที่ โดยภาระความรับผิดชอบแล้วย่อมเป็นหน้าที่ของรัฐต้องเข้ามาดูแล แต่เนื่องจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง เช่น อย.จะอยู่ไกล สังกัดส่วนกลาง การให้ข้อมูลข่าวสารและการอำนวยความสะดวกต่างๆไม่เต็มที่
“มาถึงวันนี้น่ายินดีที่ อปท. (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับพี่น้อง ซึ่งรับทราบปัญหาเป็นอย่างดี และเป็นผู้ทำโครงสร้างพื้นฐานที่มีความจำเป็น ระยะหลังให้ความสำคัญคุณภาพชีวิต การศึกษา ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากขึ้น ส่วนหนึ่งคือเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบเหมือนเมื่อก่อน”
ปัจจุบัน อปท.ส่วนหนึ่งได้รับการถ่ายโอนอำนาจและภารกิจมาจากส่วนกลางแล้ว พร้อมด้วยงบประมาณส่วนหนึ่งที่จะได้มีส่วนร่วมทำงานช่วยเหลือได้อย่างเต็มที่ เพราะมีพื้นฐานที่ดีโดยระบบโครงสร้างการทำงาน เพียงแต่จะสร้างกลไกการดำเนินงานอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพประสิทธิผลที่จะนำไปสู่ภารกิจและอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน และจัดทำแผนโครงการบรรจุในหน่วยงาน เช่นตั้งคณะกรรมการ วิเคราะห์ ปัญหาที่พี่น้องถูกเอารัดเอาเปรียบ นำไปสู่แผน งบประมาณของหน่วยงาน
หรือสามารถตั้งหน่วยงานต่างๆที่จำเป็นขึ้นมาเอง
และในส่วนที่ทำได้ทันที เช่นให้ความรู้ การเลือกซื้อ ใช้บริการ โดยอาศัยสื่อ ประชาสัมพันธ์ วิทยุ บอร์ด เครื่องมือวัสดุจากหน่วยงาน ตลอดจนการประชุมสัมมนาวิชาการ จัดเวทีเสวนา กิจกรรมสอดแทรก ประสานกับเครือข่าย เป้าหมายคือให้พี่น้องได้รับการคุ้มครองมากขึ้น
โดยการผลักดันให้ผู้ที่มีบทบาทหน้าที่รับผิดชอบ และโครงสร้างในส่วนนี้ขึ้นมาเป็น “นักคุ้มครองผู้บริโภค”
:: นวัตกรรมผู้บริโภค การสร้างทางเลือกและคุ้มครองตนเอง
นายนิธิ พันธุ์มณี ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลท่าข้าม สะท้อนบางแง่มุมของผู้บริโภคของบ้านเราว่าถ้าเป็นเรื่องเล็กๆ เช่นปากกาหนึ่งด้าม ก็จะถือเป็นเรื่องกระจุ๊กกระจิ๊ก หยุมหยิมไม่ได้รับการใส่ใจ ถ้าเป็นเรื่องใหญ่หน่อยเช่นเรื่องรถเรื่องบ้านก็มักจะ “โทษเวรโทษกรรม” ซึ่งในปัจจุบันผู้บริโภคเริ่มมีความตระหนัก และการอำนวยความสะดวกหรือช่องทางในการร้องเรียนมากขึ้น แต่ในส่วนของท่าข้ามสำหรับเรื่องนี้ตนมักพูดให้คนในชุมชนฟังว่าก่อนที่จะให้คนอื่นมาคุ้มครองเรา เราต้องคุ้มครองตัวเองก่อน โดยมีแนวคิดว่า “อะไรที่ท่าข้ามทำได้ พยายามไม่ซื้อ” เช่น สามปีที่แล้วมีการสำรวจว่าพี่น้องชาวท่าข้าม มีการซื้อปุ๋ยเคมีปีละห้าล้านบาท นอกจากรายได้ที่ต้องสูญเสียไปแล้ว ต้องพบกับปัญหาปุ๋ยปลอม ปุ๋ยไม่ได้คุณภาพ จึงได้ร่วมกันทำโรงปุ๋ยชุมชนขึ้น ปัจจุบันมีผู้มาดูงานปีละกว่าสามหมื่นคน ปุ๋ยเหล่านี้นอกจากพี่น้องในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการผลิต และซื้อในราคาถูกแล้ว เนื่องจากพื้นที่ท่าข้ามนับเป็นพื้นที่เกษตร และมีการปลูกข้าวพื้นเมืองซึ่งมีกว่าสามร้อยไร่ จึงมั่นใจได้ว่ามีคุณค่าปลอดสารพิษไม่เหมือนกับข้าวขาวในปัจจุบัน ซึ่งหากเราสังเกตว่าแม้เก็บไว้นานแค่ไหนก็ไม่มีมอดส่วนหนึ่งเพราะผ่านการอบด้วยสารเคมีอันตราย
นอกจากนั้นที่นี่ยังมีการสนับสนุนให้ปลูกผักสวนครัว เลี้ยงปลาเลี้ยงไก่เลี้ยงวัว มีการรวมกลุ่มกันทำสบู่ น้ำยาล้างจาน น้ำยาเอนกประสงค์ต่างๆใช้เอง มีกองทุนส่งเสริมอาชีพและกลุ่มกลุ่มออมทรัพย์ที่เข้มแข็ง มีวงเงินหลายสิบล้านบาท ชุมชนพึ่งพิงกันเองไม่ต้องกู้เงินหรือเสียดอกเบี้ยแพง
ในส่วนของการพูดคุยเสวนามีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในชุมชน และร่วมกับองค์กรภายนอกสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ความเป็นอยู่ อาหารการกิน นับตั้งแต่เรื่องสุนัขกัดกัน ไปจนถึงเรื่องนวัตกรรมท้องถิ่น
“เช่นเรื่องการประกอบอาหารสร้างความเดือดร้อนรำคาญ เมื่อพบสาเหตุจากไม่ชอบหน้ากัน และพูดคุยกันไม่รู้เรื่อง ก็จะต้องไปสู่กระบวนการของกฎหมาย ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่จำเป็นจะต้องทำ เพื่อให้การอยู่ร่วมของชุมชนและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย”
ปลัดนิธิกล่าวว่าโดยรูปแบบการบริหารจัดการของท่าข้ามจะเป็นลักษณะโมเดลจำลองของกระทรวงทบวงกรม แบ่งเป็นรัฐมนตรีรับผิดชอบเป็นส่วนๆ เช่นเกษตร คมนาคม ศึกษาธิการ มีการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม ตั้งทีมงาน ร่างนโยบาย ตลอดจนมีการสร้างจิตสำนึกให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เข้ามีบทบาทหน้าที่ในการทำงานในชุมชน ในฐานะอาสาสมัครและการทำโครงการต่างๆขึ้นมา
ที่สำคัญมีวิทยุชุมชนที่ทรงพลังของชุมชน สะท้อนปัญหาและประสานเครือข่ายออกอากาศไปสู่สาธารณะ
“ในส่วนของช่องทางของการพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภค ให้ชาวบ้านสะท้อนท้องถิ่นรับทราบ ลองเปิดเวที หยั่งเชิงดู ชาวบ้านเดือดร้อนอะไรบ้าง โดยให้คณะกรรมการรับเรื่อง ไกล่เกลี่ย เสนอผล พิจารณาตัดสิน โดยมีอาสาสมัคร ช่วยกันวิเคราะห์ สร้างเวทีชุมชน ผลักดันโครงการ มีเยาวชนนำร่อง ทีมอสม.ลงไปให้ความรู้”
โดยทั้งหมดนี้คือ “นวัตกรรม”ที่คนในท้องถิ่นร่วมกันค้นคิด บริหารจัดการเอง มีฝ่ายวิชาการเช่นสวรส.เข้ามาพูดคุยให้ความรู้วิชาการ เรื่องสุขภาวะชุมชนและนำไปสู่ความสุขอย่างไร นับเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคในเชิงรุก โดยมีสัญญาประชาคมว่าหลังปี 2552 จะตั้งศูนย์พิทักษ์สิทธิ์อย่างเป็นทางการขึ้นมา
:: E=MC2 พี่น้องบริโภคร่วมใจ
ผศ.ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ กล่าวว่าจากเวทีเสวนาได้มองเห็นการทำงานผู้บริโภคในภาคส่วนท้องถิ่นมีความชัดลึกขึ้น นั่นคือการลงไปสู่รากฐานของปัญหา โดยท้องที่เป็นฝ่ายลงมือจัดการแก้ไขดำเนินการ (เหมือนกับแนวทางการทำงานภาคประชาชนของ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย) กล้าลุกออกมาแสดงท่าที เรียกร้อง กดดัน และรวมพลังกันต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม
รากฐานของการแก้ไขปัญหาการคุ้มครองผู้บริโภคก็จะได้รับการปรับปรุงแก้ไข เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคเอง
ในระดับโครงสร้างระดับภาครัฐ การเข้าถึงหรือร้องเรียนจะติดปัญหาในเรื่องระเบียบขั้นตอน และวิธีปฏิบัติซึ่งทำให้เกิดความล่าช้า เมื่อผู้บริโภคไม่อำนาจต่อรองใดๆ ก็จะขาดการเร่งรัดหรือใส่ใจ เป็นการลดทอนอำนาจของผู้บริโภค ในทางกลับกัน ในระดับท้องถิ่น เช่น ผู้บริโภคมีสิทธิ์ที่จะเลือกหรือไม่เลือกผู้บริหารได้ ผ่านการเลือกตั้ง กล่าวคือการมีความสมดุลอำนาจต่างกัน
ในส่วนของภาคบริการต่างๆในสังคม เช่น มีการเอารัดเอาเปรียบหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมจากธนาคาร เบิกเงินแล้วได้ไม่ครบจำนวน การจะไปฟ้องร้องเอาผิดกับธนาคาร หรือห้างใหญ่ๆ มักสู้ไม่ได้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตัวบทกฎหมายหรือการจ้างทนายต่างๆ วิธีการคือการรวมพลังเป็นพันธมิตรกัน
เป็นสูตรคล้ายๆกับ E=MC2
E=Energy พลัง(อำนาจการต่อรอง) M=Mass มวลชน(ผู้บริโภค) C=Community ชุมชน(ท้องถิ่น) ยกกำลัง 2
การเปลี่ยนแปลงหรือวิธีการนำไปสู่แนวทางเหล่านี้ จำต้องทำพร้อมกัน 3 แนวทาง คือการทำให้สังคมทั้งผู้บริโภคและผู้ให้บริการหรือประกอบการได้ตระหนักร่วมกัน เริ่มจากผู้บริโภคเองต้องตระหนักถึงสิทธิของตนเอง “การทิ้งปากกาด้ามหนึ่งเพียงเพราะเห็นว่าราคาห้าบาท เท่ากับเป็นการลดทอนอำนาจของผู้บริโภค” ขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็ต้องตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคและสังคม ภาครัฐก็ต้องปรับเปลี่ยนพัฒนาระบบโครงสร้างการให้บริการหรือร้องเรียนเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงรวดเร็วและเป็นธรรม
วันนี้ท้องถิ่นได้ตระหนักและเกิดการรวมพลังขึ้นเป็นเครือข่าย เพื่อทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เกิดเป็นองค์กรบริการสาธารณะ มีการวางแผน เกิดการมีส่วนร่วม มีกิจกรรมชุมชน มีคณะกรรมการและนำไปสู่แผนสุขภาพตำบลเป็นลำดับขั้น เป็นการสร้างกระบวนให้ชุมชนเข้มแข็ง มีอำนาจในการต่อรอง ถักทอเชื่อมร้อยกันสร้างสิ่งดีๆให้เกิดขึ้นในชุมชน
ที่สำคัญคือวันนี้เราร่วมใจประสานกันเป็นเสมือนพี่น้องรักใคร่กัน เป็นพันธมิตร
:: ร่วมพัฒนาการ ประสานเครือข่าย ขยายแนวร่วมผู้บริโภค
หลังการเสวนาบนเวทีได้เปิดให้ผู้เข้าร่วมรับฟังอภิปรายซักถาม โดยคุณกัญญา ทะเติ้งหวัง ตัวแทนเครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภค จากจังหวัดสตูล ในฐานะผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์ และทำงานประสานเครือข่ายกล่าวว่า
“ก่อนหน้านี้ทำงานกับท้องถิ่นยาก ไม่รู้จะไปเชื่อมต่อประสานงานกับองค์กรหน่วยงานอย่างไร ผู้บริโภคก็มีความรู้น้อย ไม่รู้จักแม้กระทั่งว่าสคบ.หรือ สธ.คืออะไร วันนี้ได้ความชัดเจนแล้วว่ามีการทำเรื่องเหล่านี้เป็นเหมือนประชาคม มีการผลักดันและบัญญัติผลักเป็นนโยบายของท้องถิ่น โดยเฉพาะจังหวัดสงขลานับว่ามีต้นทุนในการรวมกลุ่มสูง ในภาควิชาการ เช่นสวรส. และภาคส่วนท้องถิ่นต่างๆ การเสวนาในวันนี้น่าจะเป็นแนวทางและแบบอย่างในการทำงานของเครือข่ายผู้บริโภคของจังหวัดสตูลต่อไป”
นายแพทย์รุ่งโรจน์ กั่วพานิช รองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครหาดใหญ่ กล่าวว่า เห็นด้วยกับการที่ผู้บริโภครู้จักคุ้มครองตัวเองก่อน เริ่มจากเรื่องใกล้ตัว เช่นเด็กชอบกินขนมกรอบแกรบเพราะพ่อแม่ผู้ปกครองซื้อให้ และปัญหาเด็กไม่ชอบของที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายเช่นผักผลไม้เป็นต้น
และในบางเรื่องที่ท้องถิ่นบางที่ทำไม่ได้นั้น ท้องที่ รัฐ ทำอย่างไรให้ท้องถิ่น อสม. เข้ามามีบทบาทดูแลเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคได้ ช่วยอุดช่องโหว่ในการทำงานให้แก่กัน
ภก.สมชาย ละอองพันธุ์ เภสัชกรจากโรงพยาบาลระโนด ผู้กล่าวรายงาน กล่าวสรุปว่าในการเสวนา “ท้องถิ่นห่วงใย
ที่มา www.southhpp.org
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)