สวทช. หนุนบริษัทคอมแพ็คฯ สร้างนวัตกรรม “ผ้าเบรกไร้ใยหิน” รณรงค์เลิกใช้ผ้าเบรกแร่ใยหิน เพราะมีสารก่อมะเร็ง นำร่องแห่งแรก ติดตั้งรถสองแถวในพัทยากว่า 700 คัน มูลค่ากว่า 4 ล้านบาท พร้อมขยายสู่พื้นที่ท่องเที่ยวทั่วประเทศ หวังลดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ร่วมกับบริษัท คอมแพ็ค อินเตอร์เนชั่นแนล (1994) จำกัด จัดงาน "กรีน พัทยา บาย คอมแพ็ค" (Green Pattaya by Compact) โปรโมทนวัตกรรม เพื่อสิ่งแวดล้อม “ผ้าเบรกไร้ใยหิน” ณ ลานกิจกรรมหน้าห้างเซ็นทรัลเฟสติวัล พัทยา บีช เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 54 ที่ผ่านมา
ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รมว.วท. กล่าวว่า นวัตกรรม “ผ้าเบรกไร้ใยหิน” เป็นเทคโนโลยีที่ บริษัท คอมแพ็ค อินเตอร์เนชั่นแนล (1994) จำกัด ได้รับการสนับสนุนจากโครงการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมไทย (ไอแท็ป : ITAP) สวทช. ให้สามารถพัฒนาออกแบบ และปรับปรุงสูตรการผลิต จนสามารถผลิตจริงในโรงงาน โดยคุณภาพของผลิตภัณฑ์อยู่ในระดับเทียบเท่าสูตรผ้าเบรกของผู้ผลิตชิ้นส่วน ที่ส่งโรงงานประกอบรถยนต์โดยตรง หรือ โออีเอ็ม (Original Equipment Manufacturer : OEM) ซึ่งปัจจุบัน บ.คอมแพ็คฯ ได้เพิ่มยอดขาย ในฐานะผู้ผลิตผ้าเบรกให้กับบริษัทรถยนต์ชั้นนำ
ดร.วีระชัย กล่าวว่า ทางโครงการได้ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่น เข้ามาถ่ายทอดเทคโนโลยีวัตถุดิบไร้ใยหิน (NON Asbestos Organic : NAO) ให้กับบริษัท นำไปใช้พัฒนาการออกแบบ พร้อมกับพัฒนาปรับปรุงสูตรการผลิต จนได้คุณสมบัติตามความต้องการ และสามารถนำสูตรดังกล่าวมาผลิตจริงในโรงงานได้ อันเป็นประโยชน์กับสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นกระแสที่กำลังได้รับการกล่าวถึงอย่างมาก ในสังคมไทยและสังคมโลก
นายอิทธิพล คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเมืองพัทยา กล่าวว่า หาก ทุกคนยังใช้ผ้าเบรกที่มีแร่ใยหินนั้น จะทำให้มีละอองฝุ่นสีดำ เกิดการปนเปื้อนในอากาศ เมื่อสูดดมเข้าร่างกายจะเป็นผลร้าย ก่อให้เกิดโรคมะเร็งตามมา
ทั้งนี้ การใช้นวัตกรรม “ผ้าเบรกไร้ใยหิน” นั้นจะทำให้ลดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม และเป็นผลดีต่อสุขภาพ นายอิทธิพลจึงได้ประชุมร่วมกันกับรถสองแถว ในเมืองพัทยา เพื่อใช้ผ้าเบรกไร้ใยหิน ลดฝุ่นละออง ที่เกิดจากผ้าเบรกใยหิน นับเป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้กับเมืองพัทยา อีกทั้ง อาจจะขยายจากรถสองแถว ไปยังรถของพี่น้องประชาชน รถทัวร์ รถบัส ที่บริการรับนักท่องเที่ยวต่อไป
“หากปฏิบัติได้ทั้งเมืองพัทยาถือเป็นเรื่องดี และเป็นจุดขายของเมืองพัทยาในด้านของการรักษาสิ่งแวดล้อม แม้อาจจะเป็นเรื่องเล็กๆ มีรถไม่กี่ร้อยคัน แต่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้น เป็นตัวอย่างในการปฏิบัติตามสำหรับคนในประเทศอีกด้วย” นายอิทธิพล กล่าว
ขณะนี้ได้เริ่มต้นนำผ้าเบรกไร้ใยหิน มาใช้กับรถสาธารณะในเมืองพัทยากว่า 300 คัน จากทั้งหมดกว่า 700 และจะดำเนินการให้ครอบคลุมทั้งหมดต่อไป
อย่างไรก็ดี ดร.วีระชัย บอกว่า การจัดกิจกรรมสนับสนุนผ้าเบรกไร้ใยหิน เพื่อใช้กับรถรับจ้างสาธารณะในเมืองพัทยา ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองท่องเที่ยวชั้นนำของประเทศไทยที่ได้รับการกล่าวถึงไป ทั่วโลก จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ในการลดผลกระทบด้านมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม โดยจะส่งผลดีต่อธุรกิจ ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นแนวทางนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป
ที่สำคัญโครงการดังกล่าว จะต่อยอดไปยังสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร แต่อาจจะทำได้บางส่วน เนื่องจากรถสาธารณะมีเป็นจำนวนมาก รมว.วท.จึงอยากให้ทุกคนร่วมแรงร่วมใจกันสร้างจิตสำนึกที่ดีต่อสังคม
ทางด้าน นายเกษม อิสระพิทักษ์กุล รองกรรมการผู้จัดการ บ.คอมแพ็คฯ กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ผ้าเบรกไร้ใยหินนี้ มีประสิทธิภาพ สร้างความปลอดภัยต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม โดยวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อต้องการตอบสนองความต้องการของลูกค้า ทั้งยังมุ่งหวังจะสร้างสมดุลทางสังคมและสิ่งแวดล้อม อีกทั้ง บริษัท สามารถผลิตผ้าเบรกไร้ใยหิน จนได้รับรางวัล "ไอแท็ป อะวอร์ด" (ITAP Award) ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมยอดเยี่ยม (Best Green Product Development) จาก สวทช.
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)