บทความ

สิทธิผู้ป่วยหรือ...ศักดิ์ศรีองค์กร

by คุณนาย @March,14 2008 15.08 ( IP : 222...250 ) | Tags : บทความ
photo  , 330x200 pixel , 13,730 bytes.

ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่ยังไม่นิ่งและยังไม่รู้ว่าเราจะมีรัฐบาลที่มาจากพรรคการเมืองไหน  และใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี  เปลี่ยนบรรยากาศความวุ่นวายทางการเมือง  มาติดตามเรื่องราวความทุกข์ของผู้ป่วยจากเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์    ที่มีคุณปรียานันน์    ล้อเสริมวัฒนา  เป็นประธานเครือข่าย    เรื่องนี้ก็สืบเนื่องมาจากในวันที่ 6 ธันวาคม  2550    ศาลจังหวัดทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช พิพากษาจำคุกแพทย์หญิงท่านหนึ่ง  เป็นเวลา 3ปี  ไม่รอลงอาญา    สร้างความตกใจให้กับผู้ที่ได้ยินข่าวเป็นอย่างมาก    โดยเฉพาะกลุ่มแพทย์ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเกิดความตระหนกตกใจจนอาจกระทบต่อการรักษาพยาบาลได้
หลายๆ คนสนใจข่าวนี้แต่ก็น่าแปลกใจที่หลังจากนั้นก็แทบไม่มีข่าวให้ติดตามข้อมูลอีกเลย    จนเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.50  ดิฉันได้มีโอกาสเดินทางไปกรุงเทพฯ  และได้รับแจกแถลงการณ์ของเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์กรณีนี้    จึงขอโอกาสนำเสนอข้อมูลในส่วนของผู้ป่วยเพื่อให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบข้อมูลอีกด้านที่อาจจะไม่ได้ถูกตีแผ่หรือนำเสนอต่อสาธารณมากนัก  โดยมีรายละเอียดดังนี้ แถลงการณ์เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์               กรณีศาลจังหวัดทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช พิพากษาจำคุกแพทย์หญิงสุทธิพร ไกรมาก เป็นเวลา 3 ปีโดยไม่รอลงอาญา เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2550 ที่ผ่านมา แม้คดีจะยังไม่ถึงที่สุด แต่ก็ทำให้หลายคนในวงการแพทย์ออกอาการไม่พอใจที่แพทย์ด้วยกันต้องรับโทษทั้งที่ยังไม่รู้ข้อเท็จจริง พร้อมขู่ยุติการทำผ่าตัดที่รพ.ชุมชนและจะมีการส่งต่อผู้ป่วยกันมากขึ้น ต่างวิพากษ์วิจารณ์และโยนความผิดทั้งหมดให้กับผู้เสียหายและเครือข่ายฯ หน่วยงานที่รู้รายละเอียดดีอย่างแพทย์สภาและสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ก็ออกมาโต้ตอบและบิดเบือนข้อเท็จจริง อาศัยเหตุการณ์นี้เล่นละครตบตาวงการแพทย์และสังคม เรียกร้องความชอบธรรมให้กับตนเองและให้แพทย์ไม่ต้องถูกฟ้องเป็นคดีอาญา ทั้งที่รู้ดีว่าเหตุการณ์ที่บานปลายจนพญ.สุทธิพรฯต้องได้รับโทษนั้นแพทย์สภาและสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นต้นเหตุใหญ่ เครือข่ายฯ เห็นใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพญ.สุทธิพรฯ แต่อยากให้ท่านทั้งหลายได้ใช้สติ และดูข้อเท็จจริงก่อน แล้วค่อยวิจารณ์หรือตัดสินว่าใครถูกใครผิด หรือใครเป็นต้นเหตุ
ดังที่เครือข่ายฯ จะชี้แจงดังต่อไปนี้
1. พญ.สุทธิพรฯ ไม่ได้เข้าไปอยู่ในคุกแม้แต่นาทีเดียว กุญแจมือก็ไม่ถูกใส่ เพราะศาลท่านให้เกียรติแพทย์ อีกทั้งนส.ศิริมาศลูกสาวนางสมควร แก้วคงจันทร์ (ผู้ตาย) ได้ขอร้องศาลผ่านเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ว่า ขอไม่ให้ใส่กุญแจมือ และไม่ให้เอาพญ.สุทธิพรไปคุมขังในระหว่างรอประกันตัว เนื่องจากเธอเห็นว่าในคดีอื่นที่พิพากษาก่อนหน้าคดีของเธอบัลลังก์เดียวกันนั้น ถ้าเป็นชาวบ้านธรรมดาเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำศาลได้เอากุญแจมือไปใส่ไว้กับตัวจำเลยก่อนมีคำพิพากษา และเธอไม่เคยคิดที่จะเอาหมอติดคุก เธอเพียงแต่ต้องการให้ใครสักคนตอบว่าแม่เธอเป็นอะไรตาย แต่ก็ไม่คิดว่าเหตุการณ์จะบานปลายมาจนเป็นแบบนี้
2. 5 มิถุนายน 2545 เมื่อแม่ของศิริมาศเสียชีวิตหลังการผ่าตัดไส้ติ่ง ไม่มีใครอธิบายว่าแม่ตายเพราะอะไร แพทย์ผู้อยู่ในเหตุการณ์ก็บอกว่าหัวใจล้มเหลว ไปถามรพ.มหาราชก็ตอบว่าเพราะสมองบวม ทางรพ.ไม่เคยมีน้ำใจไปร่วมงานศพ เธอนำศพแม่เข้ากรุงเทพผ่าพิสูจน์ที่สถาบันนิติเวช ผลก็ออกมาแบบคลุมเครือ
3. สสจ.จังหวัดนครศรีธรรมราชสอบสวนแล้วบอกว่าหมอไม่ผิด แต่จะจ่ายเงินให้ แต่หมอไม่รับว่าเป็นความผิดพลาด  ศิริมาศ บอกว่าถ้าจะให้รับเงินต้องอธิบายก่อนว่าแม่ตายเพราะอะไร ถ้าหมอไม่ผิดเธอก็เหมือนไปขู่กรรโชกทรัพย์มันไม่ถูกต้อง คนในสสจ.บอกว่าถ้าเป็นอย่างนั้นก็ให้ไปฟ้องเอาเอง
4. ศิริมาศจึงไปแจ้งความ (จุดเริ่มต้นคดีอาญา) เมื่อไปแจ้งความ ศิริมาศรู้ว่ามีการใช้อิทธิพลท้องถิ่น ทำให้ตำรวจไม่รับแจ้งความ ไม่ยอมทำสำนวนส่งอัยการ
5. เธอร้องเรียนแพทย์สภาก็บอกสั้น ๆ ว่า ”คดีไม่มีมูล” ร้องรัฐมนตรีฯ สธ.ยุคนาสุดารัตน์ฯ ก็ไม่มีใครบอกว่าแม่เป็นอะไรตาย ศิริมาศร้องเรียนต่อ 16 หน่วยงาน หน่วยงานสอบสวนแล้วพบว่าตำรวจมีความผิดจนถูกย้าย และอัยการสูงสุดมีคำสั่งให้ฟ้องคดีนี้ แต่ก็ไม่ได้ฟ้องในทันที
6. ปี 2545 ศิริมาศเข้ารวมตัวกับเครือข่ายฯ เครือข่ายฯ จึงช่วยเธอยื่นฟ้องสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดของรพ.ร่อนพิบูลย์ เป็นคดีแพ่ง ตามพรบ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ ปี 2539 จนกระทั่งปลายปี 2548 ศาลชั้นต้นตัดสินให้ ศิริมาศ ชนะคดีแพ่งที่ฟ้องกระทรวง ว่าคดีไม่หมดอายุความ และรพ.ประมาทเลินเล่อ สธ.ต้องชดใช้ค่าเสียหาย 6 แสนบาท
ระหว่างนั้นทางอัยการจังหวัดทุ่งสงได้ยื่นฟ้องในคดีอาญาทันที ทั้งที่ก่อนหน้านั้นเธอก็หมดหวังไปแล้วกับคดีอาญา ศิริมาศเหนื่อยมาหลายปี หนังสือก็ไม่ได้เรียนทั้งที่เธอเอนทร้านซ์ติดคณะชีวะเคมี เธออยากเรียนหนังสือ จึงขอร้องสำนักงานปลัดกระทรวงฯ ว่าอย่าอุทธรณ์เลย เธอพอใจและได้คำตอบแล้วว่าแม่เป็นอะไรตาย และเงินจำนวน 6 แสนบาทนั้นแม้จะไม่มากหากเทียบกับชีวิตแม่ แต่ก็คงพอทำให้เธอกับน้อง ๆ ได้เรียนหนังสือ เพราะหลังจากแม่ตายก็บ้านแตก พี่น้อง 5 คนแตกแยกกันไปคนละทิศละทาง เธอกับน้อง ๆ ไม่มีใครส่งเสียให้ได้เรียน ความเป็นอยู่ลำบาก แต่ทางสำนักงานปลัดกระทรวงฯ กับทางแพทย์สภากลับร่วมกันตั้งทีมทนายสู้กับคนไข้ ทำทุกวิถีทางที่จะเอาชนะคนไข้ แม้จะไม่ถูกต้องก็ทำ และยื่นอุทธรณ์ในประเด็นอายุความ จนทำให้ศิริมาศต้องได้รับความพ่ายแพ้เนื่องจากคดีหมดอายุความ เมื่อ 12กรกฎาคม 2550 ทั้งที่เจตนารมณ์ของ พรบ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่นั้น เขามีไว้ช่วยแพทย์เวลาถูกร้องเรียน ไม่ต้องให้แพทย์ถูกฟ้อง และมีไว้เพื่อเยียวยาผู้เสียหาย แต่สำนักงานปลัดกระทรวง กลับไม่ยอมทำตามเจตนารมณ์ ของกฎหมาย ปล่อยให้คนผู้เสียหายที่มีความทุกข์และต้องการความช่วยเหลืออย่างมาก ไปฟ้องกันเอาเอง แล้วก็จัดตั้งทีมกฎหมายสู้แบบเอาเป็นเอาตาย เหตุการณ์เปลี่ยนไปน้องศิริมาศต้องต่อสู้กับหน่วยงานที่ควรให้ความเป็นธรรมกับเธอ และแพทย์ของรพ.ร่อนพิบูลย์ก็ถูกนำไปเป็นเครื่องมือในการเอาชนะผู้เสียหายของหน่วยงาน
7. ในคดีอาญา ชมรมแพทย์ชนบทได้ประสานกับเครือข่ายฯ ว่าจะหาทางออกอย่างไรดี เครือข่ายฯ อาสาคุยกับน้องให้ศิริมาศบอกว่ามาพูดตอนนี้มันสายไปแล้ว อัยการสั่งฟ้องไปแล้ว ทำไมก่อนหน้านี้ไม่มาคุย และคดีอาญานั้นยอมความกันไม่ได้ ถือเป็นอาญาแผ่นดิน แต่ก็มีทางออก โดยให้แพทย์ขอโทษอย่างเป็นทางการ และทำบุญให้แม่เธอ และเธอจะไปแถลงต่อศาลเองว่าไม่ติดใจเอาความ และให้หมอไปรับสารภาพกับศาลท่านพร้อม ๆ กัน โทษหนักจะได้เป็นเบา อย่างมากศาลก็รอลงอาญา ครั้งแรกทางรพ.ตอบตกลง แต่แพทย์สภาและสำนักงานปลัดกระทรวงฯ ไม่ให้หมอขอโทษและให้สู้คดี โดยบอกหมอว่ามีทางชนะ โดยจัดทีมนักกฎหมาย ทีมแพทย์ที่จบกฎหมายช่วยเหลือกันอย่างเต็มที่ มีกรรมการแพทย์สภาคอยประกบพยานฝ่ายของศิริมาศในศาลอย่างน่าเกลียดอีกด้วย                   เวลาคนไข้ถูกหน่วยงานรังแก ยัดเยียดความอยุติธรรมให้ เครือข่ายฯ สังเกตว่า ไม่เคยเห็นวงการแพทย์ส่วนใหญ่จะเห็นใจ และออกมาเรียกร้องเพื่อคนไข้ทั้ง ๆ ที่รู้ดีกันอยู่ว่าแพทย์ทำผิดและหน่วยงานไม่มีความเป็นธรรม แต่ก็ปล่อยให้คนไข้ถูกกระทำ วงการแพทย์ไม่ควรเห็นแก่พวกพ้องอย่างน่าเกลียด และออกมาตอบโต้เหมือนจับคนไข้เป็นตัวประกัน จะไม่รักษา จะลาออก การเอาชีวิตคนไข้มาต่อรองในทางที่ผิดนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำอย่างยิ่ง สังคมแพทย์ควรมีความเห็นอกเห็นใจผู้เสียหาย และหาทางช่วยเหลือกันอย่างมีมนุษยธรรม เพราะที่ใดไม่มีความเป็นธรรม สันติย่อมไม่เกิด แพทย์อยากให้คนไข้เข้าใจแพทย์ เห็นใจในความเหนื่อยยากของแพทย์ แพทย์ก็ต้องเห็นใจคนไข้ด้วยถึงจะมีความสงบสุขด้วยกันทุกฝ่าย

                  ทุกวันนี้ทั้งแพทย์ คนไข้ และหมอ คือเหยื่อของระบบ เหยื่อของหน่วยงาน ที่ผู้บริหารเหลิงและลุแก่อำนาจ ไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา มัวแต่ห่วงภาพพจน์และศักดิ์ศรีของตนเอง จนลืมความมีมนุษยธรรม ทำให้เหตุการณ์เล็ก ๆ บานปลายมาจนถึงกับทำให้แพทย์หญิงสุทธิพรต้องโทษถูกจำคุก 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา อย่างวันนี้ โดย  จุฑา  สังขชาติ         โครงการบริโภคเพื่อชีวิต สงขลา

แสดงความคิดเห็น

กรุณาป้อน Username / Password ที่ท่านได้ลงทะเบียนไว้กับเว็บไซท์แห่งนี้ หรือ สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซท์
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง