กิจกรรม

ภาคใต้ตื่นตัว ขับเคลื่อนสังคมไทยไร้แร่ใยหิน

by twoseadj @March,10 2011 16.20 ( IP : 119...223 ) | Tags : กิจกรรม

"ข้อมูลทางวิชาการระบุเด่นชัดว่า แร่ใยหินไครโซไทส์ ก่อให้เกิดโรคมะเร็งในปอด"

เครือข่ายผู้บริโภคภาคใต้ จัดประชุมเพื่อขับเคลื่อนมติสมัชชาชาติ ประเด็น การทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน อันเป็นหนึ่งในประเด็นในงานสมัชชาชาติ ปี 2554 เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2554  ณ ห้องกังดาร โรงแรมเอเชี่ยน หาดใหญ่ จ.สงขลา
สร้างความเข้าใจและร่วมหาแนวทางการแก้ปัญหาเรื่อง แร่ใยหิน มีเครือข่ายผู้บริโภค หน่วยงานรัฐในพื้นที่ อนุ สคบ.จังหวัด สงขลา และสตูล สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสตูล นักวิชาการ กลไกลระดับจังหวัด และกลไกภาคเข้าร่วมกันอย่างคึกคัก

"สังคมไทยกับแร่ใยหิน เปรียบเสมือนการเดินข้ามถนนไป รู้ว่ามันอาจโดนรถชนได้ เราจะเลือกเดินข้ามไปหรือใช้สะพานลอย "

นพ.ศราวุธ ลูเชียน กีเตอร์ หน่วยโรคระบบทางเดินหายใจ คณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ ได้กล่าวถึงข้อมูลว่า ตนเองเป็นแพทย์ที่ดูแลรักษาคนไข้ที่เป็นโรคมะเร็งที่พบว่า มีจำนวนอุบัติการณ์การเป็นมะเร็งสูงมากขึ้น เช่นเดียวกับการเพิ่มขึ้นของสารก่อมะเร็งที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ทางข้อมูลวิชาการมีการเปิดเผยรายงานมาอย่างชัดเจน ประเด็น แร่ใยหิน ต่อการก่อให้เกิดมะเร็งปอด โดยการก่อให้เกิดมะเร็งนั้น เริ่มจากการสูดดมฝุ่นผงของแร่ใยหินที่แพร่กระจายในอากาศ จะเข้าไปทำให้เกิดการตกค้างในทางเดินหายใจ กลไกของร่างกายจะมีเซ็ลล์แมคโครฟาจ ไปจับกิน และจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อเซลล์ปกติในทางเดินหายใจ ร่างกายจะปรับตัวด้วยการมีการสะสมของแคลเซี่ยม เกิดการแข็งตัวเป็นพังผืดรูปร่างคล้ายตีนกา(crow feet) หรือเป็นผลึกคล้ายสะเก็ดดาว สุดท้ายจะทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุปอดอักเสบ มะเร็งปอด การรักษามะเร็งปอด เยื่อบุปอดอักเสบ ต้องใช้ทุนทรัพย์เป็นจำนวนมาก เช่น ค่ายาตก 1 แสนบาทต่อเดือนไม่น้อยเลย และส่วนใหญ่ก็เป็นเงินภาษีของพวกเราทุกคน ยิ่งถ้าหากคนคนนั้น มีการสูบบุหรี่ร่วมด้วยแล้ว ยิ่งจะทวีโอกาสเป็นมะเร็งมากยิ่งขึ้น เมื่อข้อมูลแสดงอย่างเด่นชัดเช่นนี้แล้ว สังคมไทยก็ควรจะเลือกว่า เราจะเลือกเสี่ยงต่อไปหรือไม่

"ประเทศไทยมีการนำเข้าแร่ใยหินเป็นอันดับสองของโลก ปีละไม่น้อยกว่า 1.5 แสนล้านตัน จากประเทศรัสเซียและแคนาดา อันเป็นแหล่งนำเข้าสำคัญของไทย "

รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปนานนท์ ในฐานะนักวิชาการที่ติดตามเรื่อง แร่ใยหินมาตลอดและในนามประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค(มพบ.) ได้พูดคุย ให้ผู้เข้าร่วมประชุมทราบว่าถึงที่มาของแร่ใยหินว่า"แร่ใยหินเป็นวัสดุจากธรรมชาติ มีคุณสมบัติเสริมความแข็งแรง และทนความร้อน" โดยร้อยละ 90 จะผสมในวัสดุก่อสร้าง เช่น ฝ้าเพดาน กระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องแผ่น ท่อน้ำ และร้อยละ 8 จะผสมในอุปกรณ์พวกผ้าเบรค และคลัชต์ รถยนต์ ร้อยละ 2 พบมีทำเป็นวัสดุกันความร้อนในไดเป่าผม เป็นต้น  มีการใช้มานานแล้ว พบว่า ปริมาณการนำเข้ามาในประเทศประมาณ 1.5 แสนล้านตันต่อปี จากประเทศรัสเซีย ยูเครน และแคนาดา  ซึ่งอย่างในประเทศแคนนาดาเองจะไม่มีการใช้ในประเทศตนเอง เนื่องจากมีกฎหมายห้ามจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแร่ใยหินภายในประเทศ

    โดยขณะนี้ ภายหลังการรับรองมติสมัชชาชาติ ว่าด้วยการรับรองยุทธศาสตร์เพื่อการทำให้สังคมไทยปราศจากแร่ใยหิน ทางแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ(คคส.)จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ได้ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือ ว่าด้วยการยุติการใช้แร่ใยหิน

"มติสมัชชาชาติ ปี 53 เครือข่ายภาคีที่เกี่ยวข้อง รับรองให้ผลักดันยุทธศาสตร์เพื่อการทำให้สังคมไทยปราศจากแร่ใยหิน"

คุณจารึก ไชยรักษ์ จากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติหรือ สช.ได้กล่าวให้ผู้เข้าร่วมประชุมทราบถึงยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนให้สังคมไทยปราศจากแร่ใยหิน ว่าประกอบด้วย

1.ยุทธศาสตร์ ด้านการยกเลิกการใช้และป้องกันอันตรายโดยมาตรการทางกฎหมาย

2.ยุทธศาสตร์ การส่งเสริม สนับสนุนการใช้สารทดแทนที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ รวมทั้งการบริหารจัดการเพื่อควบคุม ลด และ เลิกใช้แร่ใยหิน

3.ยุทธศาสตร์ การเผยแพร่ความรู้ และประชาสัมพันธ์ให้กับสาธารณชนทราบ รวมทั้งพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสาร

4.ยุทธศาสตร์ การพัฒนาระบบเฝ้าระวังและติดตามกลุ่มเสี่ยงทางด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมรวมทั้งการวินิจฉัยโรค

สิ่งที่ สช.ต้องการเห็นคือ "การเห็นมติที่ได้รับการรับรองถูกนำไปสูการปฏิบัติอย่างชัดเจน เพราะมติคือ สิ่งที่ได้ผ่านการกลั่นกรองและแสดงฉันทามติร่วม และมติเรื่อง การผลักดันให้สังคมไทยปราศจากแร่ใยหิน ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน"

"สำหรับแนวทางของ สคบ.ต่อแร่ใยหิน คือ การออกบังคับให้ผู้ผลิต/ผู้ประกอบการ แสดงฉลากสินค้าที่มีการผสมของแร่ใยหิน "

คุณชื่นสุข เมธากุลวัฒน์ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านฉลาก สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) ได้กล่าวถึงแนวทางที่ สคบ.ดำเนินการควบคุมแร่ใยหิน คือ การออกประกาศให้ผู้ประกอบการที่ผลิตหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีการผสมแร่ใยหิน  ต้องแสดงฉลากให้ผู้บริโภครับรู้ถึงอันตรายของแร่ใยหิน

    ส่วนการควบคุมการนำเข้า หรือผลิตนั้น อยู่ในความควบคุมของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งจะต้องผลักดันให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายแห่งชาติ ประกาศให้แร่ใยหินเป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 อันจะส่งผลให้จะไม่มีการนำเข้า เพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการออกประกาศดังกล่าว

คุณสมศักดิ์ ผู้แทนบริษัทกระเบื้องโอฬาร จำกัด ได้กล่าวโต้แย้งข้อมูลทางวิชาการของโทษของแร่ใยหิน ด้วยวิธีการเปิดวิดีโอแสดงการสัมนาวิชาการของบริษัท มีการนำเสนอข้อมูลการบรรยายของ ดร.........ซึ่งกล่าวอ้างว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจจากต่างประเทศ ข้อมูลที่ถูกนำเสนอจากวิทยากรในการประชุมสัมมนา กล่าวอ้างว่า "หากร่างกายของเราสูดดมแร่ใยหินเข้าไป ร่างกายของคนเราจะมีเซลล์ชื่อ แมคโคฟาจมาจับแร่ใยหินและย่อยจนไม่ทำอันตรายต่อร่างกาย ส่วนแร่ใยหินที่มีขนาดยาวจะถูกขับออกจากร่างกาย"

    ในช่วงท้ายของวิดีโอมีการนำเสนอภาพการบรรยายของ นายแพทย์สมชัย กิตติบวร อดีตบรรณาธิการวารสารของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข มีการอ้างข้อมูลว่า จากการที่มีประสบการณ์รักษาคนไข้มะเร็งปอด ทั้งด้วยการผ่าพิสูจน์เนื้อเยื่อและการสอบ ซักประวัติ สรุปว่า ไม่มีข้อมูลความสัมพันธ์การต่อการเกิดมะเร็งปอดเนื่องจากแร่ใยหิน

ข้อเสนอจากเวทีสัมมนา

1.เครือข่ายสื่อมวลชนได้กล่าวถึงบทบาทของสื่อต่อการเป็นตัวกลางนำความรู้เพื่อการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงอันตรายของแร่ใยหิน พร้อมทั้งเล่าสถานการณ์ความเข้าใจของผู้บริโภคทั่วไป

2.ตัวแทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เห็นว่า ในบทบาทของท้องถิ่นในการกำจัดหรือดูแลในส่วนของการรื้อถอนอาคารและวัสดุก่อสร้างที่ยังมีการผสมของแร่ใยหิน คงต้องร่วมกันขับเคลื่อนเช่น การออกเทศบัญญัติ ข้อบัญญัติ เพื่อการควบคุม

รายงานโดย เภสัชกรสมชาย ละอองพันธุ์ ผู้ประสานงานวิชาการ

Relate topics

แสดงความคิดเห็น

กรุณาป้อน Username / Password ที่ท่านได้ลงทะเบียนไว้กับเว็บไซท์แห่งนี้ หรือ สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซท์
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง