ตามที่ ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงบรรยายปาฐกถาพิเศษ Oncology หรือการศึกษาและการรักษาด้านเนื้องอกของร่างกาย ที่โรงพยาบาลราชวิถี มีใจความตอนหนึ่งที่กล่าวถึงอันตรายจากควันธูปนั้น เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่งที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงมีความเป็นห่วงประชาชนในเรื่องอันตรายจากควันธูป และ สธ. พร้อมน้อมรับด้วยเกล้า โดยหลังจากนี้ทาง สธ.จะตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด เพื่อหาแนวทางในการรณรงค์ให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับอันตรายจากควันธูป คาดว่าภายใน 1 สัปดาห์ จะได้ข้อสรุปว่าจะดำเนินการอย่างไร
นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียู โรงพยาบาลวิชัยยุทธ กล่าวว่า เกี่ยวกับเรื่องควันธูปที่มีสารก่อมะเร็งนั้น ตนและ น.ส.พนิดา นวสัมฤทธิ์ นักวิจัยห้องปฏิบัติการพิษวิทยาสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ได้เคยร่วมกันทำงานวิจัยเกี่ยวกับอันตรายของควันธูปเมื่อปี 2551 พบว่าควันธูปมีสารก่อมะเร็ง 3 ชนิด ได้แก่ เบนซิน บิวทาไดอีน และเบนโซเอไพรีน มีส่วนประกอบมาจากกาว ขี้เลื่อย น้ำมันหอมและสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมน้ำหอม เป็นต้น โดยสารก่อมะเร็งเกิดจากการเผาไหม้ของกาว และน้ำหอม เป็นสำคัญ โดยธูป 1 ดอก จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 325 กรัม และก๊าซมีเทน 7 กรัม ซึ่งมีศักยภาพเท่ากับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ถึง 23 เท่า
นพ.มนูญกล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีสารพิษอื่นๆ อีก ซึ่งมีส่วนในการก่อให้เกิดมะเร็งชนิดต่างๆ อาทิ มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งในระบบเลือด มะเร็งปอด และมะเร็งในกระเพาะปัสสาวะ อีกทั้ง ทีมวิจัยยังได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจหาสารก่อมะเร็ง บริเวณวัด 3 แห่ง ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ ซึ่งเป็นวัดดังและมีผู้คนนิยมไปกราบไหว้มาก โดยได้สำรวจคนงานที่ปฏิบัติงานในวัดจำนวน 40 คน เปรียบเทียบกับคนงานในหน่วยงานที่ไม่มีการจุดธูปจำนวน 25 คน โดยการตรวจเลือดและปัสสาวะ พบว่าคนงานที่ทำงานในวัดทั้งหมด มีสารก่อมะเร็งสูงกว่าคนที่ไม่ทำงานในวัดถึง 4 เท่า นอกจากนั้น ยังพบสารเบโซเอไพรีน ซึ่งเป็นสารที่มีศักยภาพในการก่อมะเร็งสูงสุด โดยพบว่าในวัดมีสารดังกล่าวสูงกว่าสถานที่ที่ไม่จุดธูปถึง 63 เท่า แสดงให้เห็นว่าควันธูปในวัดส่งผลอันตรายต่อประชาชน โดยเฉพาะกับพระสงฆ์ คนงานที่ทำงานในวัด ทั้งนี้ ผลการวิจัยดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Chemico biological/ interactions ของประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2551
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)