นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เมื่อเร็วๆนี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามหนังสือเสนอร่างพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณา โดยร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการเครื่องสำอาง และรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยราชการและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เห็นชอบกับการปรับปรุงกฎหมายดังกล่าว
เนื่องจากประเทศไทยได้ใช้พระราชบัญญัติเครื่องสำอางเป็นแม่บทในการกำกับ ดูแลเครื่องสำอางที่ผลิตหรือนำเข้ามาจำหน่าย ตั้งแต่พ.ศ. 2535 มาจนถึงปัจจุบันรวมแล้ว 17 ปี บทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ และกลไกการผลิตได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากทั้งเทคโนโลยีและการแข่งขันทาง การค้า จึงต้องมีการปรับปรุงแก้ไขให้ทันสมัย และสอดรับการเขตการค้าเสรีอาเซียน เพื่อใช้ในการกำกับดูแลเครื่องสำอางในอาเซียนเป็นมาตรฐานเดียวกันตามบท บัญญัติเครื่องสำอางแห่งอาเซียน (ASEAN Cosmetic Directive) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2551 เป็นต้นมา
นายแพทย์สุพรรณกล่าวต่อว่า ร่างพระราชบัญญัติเครื่องสำอางฉบับใหม่นี้ นอกจากจะสามารถคุ้มครองความปลอดภัยผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ขณะเดียวกันก็สนับสนุนอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทย ให้มีศักยภาพในระดับสากล สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ขณะนี้มีผู้ประกอบธุรกิจเครื่องสำอางจำนวนมาก ยื่นขอจดทะเบียนที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาประมาณ 40,000 เรื่อง
สำหรับในร่างกฎหมายเครื่องสำอางฉบับใหม่ ได้ปรับปรุงสาระสำคัญเช่น
1.ปรับนิยามเครื่องสำอางให้มีความชัดเจนครอบคลุมตามหลักสากลและเพิ่มเติม นิยามศัพท์ ได้แก่ สารสำคัญ ผู้รับจดแจ้ง ผู้ประกอบธุรกิจ ข้อความ โฆษณา สื่อโฆษณา หน่วยงานของรัฐ ด่านอาหารและยา
2.เพิ่มมาตรการกำกับดูแลเครื่องสำอาง โดยกำหนดให้ผู้ประสงค์จะผลิตเพื่อขาย หรือนำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอางทุกประเภท ต้องแจ้งรายละเอียดของเครื่องสำอางต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนผลิต/นำเข้า ปรับจากเดิมที่เครื่องสำอางบางประเภทเท่านั้นที่ต้องขึ้นทะเบียนตำรับและบาง ประเภทต้องจดแจ้ง
3.เพิ่มมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยผู้บริโภค โดยปรับเพิ่มข้อกำหนดเกี่ยวกับภาชนะบรรจุหลักเกณฑ์วิธีการผลิต วิธีการนำเข้าหรือวิธีการเก็บรักษา วิธีการรายงานอาการที่ไม่พึงประสงค์ ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ซึ่งผู้ผลิตหรือนำเข้า เพื่อขาย ต้องจัดให้มีไว้เพื่อการตรวจสอบ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภค
4.ปรับปรุงบทบัญญัติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการคุ้มครองผู้บริโภคด้านการโฆษณา กำหนดให้การโฆษณาเครื่องสำอาง จะต้องไม่ใช้ข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค 5.ปรับปรุงกฎหมายให้เอื้อหรือส่งเสริมการส่งออก และเพิ่มโอกาสให้องค์กร ผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับดูแลมากขึ้น โดยมีทั้งหมด 10 หมวด 85 มาตรา มีบทลงโทษเช่น กรณีขายเครื่องสำอางโดยไม่มีฉลากภาษาไทย ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท เป็นต้น
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)