กมธ.สธ.เรียกกองทุนประกัน สังคม - สิทธิรักษาฟรีเข้าชี้แจง กรณีความเหลื่อมล้ำเรื่องสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาล ด้านรองเลขาธิการ สปสช.รับบัตรรักษาฟรีต้องมีการพัฒนา ปรับปรุงโดยเฉพาะคุณภาพการบริการ ที่เกิดจากการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์
นพ.ประสิทธิ์ ชัยวิรัตนะ สส.ชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร กล่าวภายหลังการเรียกชี้แจงระหว่างสำนักงานประกันสังคม (สปส.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เกี่ยวกับปัญหาความเหลื่อมล้ำในเรื่องสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลระหว่าง กองทุนประกันสังคม และโครงการรักษาฟรีรัฐสภา ว่า ที่ ผ่านมา พบว่า กองทุนประกันสังคม มีสิทธิประโยชน์น้อยกว่ากองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั้งๆ ที่ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบทุกเดือน ดังนั้น กรรมาธิการสาธารณสุข (กมธ.สธ.) จึงเรียกทั้งสองฝ่ายมาหารือกัน โดยเห็นควรให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้มากกว่า หรือเทียบเท่าบัตรรักษาฟรี เบื้องต้น สปส.จะมีการประชุมหารือเกี่ยวกับการเพิ่มสิทธิประโยชน์ในวันที่ 2 มีนาคมนี้
“ประเด็นสำคัญของการหารือครั้งนี้ คือ ปัญหาสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลของกองทุนประกันสังคมไม่เทียบเท่าบัตร รักษาฟรี ทำให้เกิดกระแสสังคมต้องการลาออกจากการเป็นผู้ประกันตนสูงขึ้น และเพื่อป้องกันปัญหาลุกลาม สปส.ควรมีการปรับปรุงให้ตรงจุด ซึ่งควรดำเนินการมานานแล้ว ตรงนี้มาจากการขาดการบริหารจัดการที่ดีจนทำให้การปรับสิทธิประโยชน์ให้กับ ผู้ประกันตนล่าช้า ทั้งๆ ที่การดำเนินการปรับสิทธิประโยชน์ สปส.สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องแก้กฎหมาย แค่แก้ไขระเบียบก็สามารถประกาศใช้ได้ทันที” นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
ส่วนกรณีที่ กมธ.สธ.มีความเห็นอย่างไรหากจะเปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนสามารถเลือกสิทธิ ประโยชน์การรักษาพยาบาลว่าจะอยู่ในกองทุนประกันสังคม หรือกองทุนอื่นหรือไม่นั้น ยังระบุไม่ได้แน่ชัด เพราะยังติดเรื่องกฎหมาย เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ลูกจ้างแรงงานทุกคนต้องอยู่ในระบบประกันสังคมโดย อัตโนมัติ ทางที่ดีที่สุด สปส.ควรปรับปรุงการบริหารจัดการในเรื่องการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้จะดีกว่า
ด้าน นพ.วีรวัฒน์ พันธ์ครุฑ รองเลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า โดยหลักการแล้วคนทุกคนควรมีสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพเท่าเทียม หรือใกล้เคียงกัน แต่ปัจจุบันต้องตั้งคำถามว่า จริงหรือไม่ ยกตัวอย่าง ปัจจุบันในระบบบัตรรักษาฟรีกำหนดให้สามารถจ่ายยาต้านไวรัสเอชไอวีได้ในโรง พยาบาลชุมชน บางกรณีส่งตรงถึงบ้านผู้ป่วย แต่ในระบบประกันสังคมจะให้ยาเฉพาะในโรงพยาบาลประจำจังหวัด ขณะที่ในกรณีผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดตามสิทธิบัตรรักษาฟรี สามารถรับยาได้ แต่ในอีกระบบอนุญาตเพียงการเปลี่ยนถ่ายไขกระดูกเท่านั้น ทั้ง นี้ ไม่ได้หมายความว่า บัตรรักษาฟรี ดีหมด ยอมรับว่า ยังต้องมีการปรับปรุงพัฒนาเช่นกัน ทั้งคุณภาพการบริการ จากการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญด้วย เนื่องจากเป็นนโยบายภาพรวม
นพ. บัญญัติ เจตนจันทร์ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ประธาน กมธ.สธ.กล่าวว่า ก่อนหน้านี้บัตรรักษาฟรีด้อยกว่ากองทุนประกันสังคมมาก แต่ยิ่งนานวันยิ่งเห็นชัดว่า บัตรรักษาฟรีมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สิทธิประโยชน์หลายอย่างมากกว่าอย่างชัดเจน เช่น กรณีคนหูตึงตั้งแต่กำเนิด สามารถใช้เครื่องช่วยการได้ยินจากสิทธิหลักประกันสุขภาพฯได้ ขณะที่ สปส.ไม่อนุญาต เนื่องจากเห็นว่าอาการหูตึงเกิดขึ้นก่อนเข้าทำงาน ตรงนี้ไม่เป็นธรรม ซึ่งโดยส่วนตัวเห็นว่า ควรมีการหาแนวทางในการรวม 3 กองทุนทั้งบัตรรักษาฟรี ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการเข้าด้วยกัน เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ในมาตรา 10 ที่ระบุว่า ระบบหลักประกันสุขภาพฯ ควรขยายสิทธิด้านการบริการสาธารณสุขไปยังระบบอื่นๆ แต่ปัจจุบันไม่ได้ดำเนินการดังกล่าว เนื่องจากเหตุผลความไม่พร้อม
“เมื่อความเป็นจริงยังไม่ สามารถรวม 3 กองทุนได้ ทางที่ดีที่สุดเห็นว่า กรณีสิทธิรักษาพยาบาลของกองทุนประกันสังคมควรให้บัตรรักษาฟรีดูแล โดย สปส.อาจใช้วิธีซื้อบริการ หรือจ่ายค่าหัวให้ สปสช.ไปดำเนินการเรื่องสิทธิประโยชน์ด้านนี้แทน แต่ สปส.จะต้องมีสิทธิที่มากกว่าให้แก่ผู้ประกันตน เนื่องจากเป็นระบบเดียวที่ผู้ประกันตนยังจ่ายเงิน โดยอาจเพิ่มในหมวดการบริการ เช่น ได้พักในห้องพิเศษฟรี หรือ ได้รับยานอกบัญชียาหลักเพิ่มจากปัจจุบัน เป็นต้น” นพ.บัญญัติ กล่าว
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)