ภายหลังจากที่ประชุมคณะ รัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 8 ก.พ. เห็นชอบให้สิทธิข้าราชการชาย ช่วยดูแลภรรยาโดยชอบตามกฎหมายที่คลอดบุตร ติดต่อกันครั้งละ 15 วัน ซึ่งเท่าที่ มติชนออนไลน์ ได้ทำการสำรวจกระแสตอบรับ ก็พบว่า ทุก เสียงล้วนเห็นด้วยกับมติดังกล่าวเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผู้หญิง เนื่องจากมองว่า สามีจะได้มาคอยดูแลช่วยเหลือพวกเธอ ที่ต้องเจ็บปวดจากการคลอดอย่างหมดเรี่ยวแรง หรือก่อนคลอดที่อาจต้องอยู่เพียงลำพังผู้เดียว กรณีที่แยกครอบครัวออกมาเดี่ยวๆ ขณะที่ ฝ่ายผู้ชายข้าราชการก็ยินดี และต่างดีใจที่พวกเขาจะได้ใช้สิทธิตรงนี้ไปดูแลภรรยาและลูกที่จะเกิดมาลืมตา ดูโลกนี้ได้อย่างเต็มที่ โดยที่ไม่ต้องคอยมานั่งนับวันลากิจ หรือพะวงกับการทำงานที่ยั่งคั่งค้าง หรือหน้าที่ที่ยังต้องรับผิดชอบ ส่วน ด้านบุคคลทั่วไป ที่เป็นลูกจ้าง ห้างร้าน บริษัท องค์กร หรือหน่วยงานต่างๆ ก็อยากจะเรียกร้องให้ทางรัฐบาล เปิดโอกาสให้กับพวกเขาบ้าง ในการใช้สิทธิลาหยุดแบบข้าราชการโดยที่ไม่ต้องโดนหักเงินเดือน หรือใช้สิทธิลาพักร้อน
เริ่มที่เสียงจากฝ่ายหญิง ที่ผ่านการอยู่บ้านเพียงลำพัง ขณะตั้งท้องก่อนไปโรงพยาบาลเพื่อคลอดบุตร นางณัฐฐานุช อมาตย์ธนเสฐ อายุ 28 ปี คอลัมน์นิสต์เว็บไซต์ Women Plus ในเครือบริษัท GM คุณแม่ที่มีลูกสาวกำลังน่ารักอายุ 2 ขวบ กล่าวว่า เป็นเรื่องดีถ้าจะให้สามี มาช่วยภรรยาในช่วงใกล้คลอดหรือหลังคลอด เพราะช่วงเวลานั้นเป็นช่วง ที่ผู้หญิงต้องการกำลังใจและคนอยู่ข้างๆ ยิ่งโดยเฉพาะผู้หญิงที่แยกครอบครัวออกมาอยู่กับสามีเพียงลำพัง ถ้าต้องอยู่บ้านคนเดียวขณะที่สามีไปทำงานอาจจะรู้สึกว้าเหว่ หยิบจับอะไรคนเดียวก็ไม่สะดวก หรือเวลาเจ็บท้องจะได้มีคนพาไปส่งโรงพยาบาลได้ทันท่วงที ไม่ต้องลำบากเจ็บปวดตัวคนเดียว ซึ่งตรงนี้ก็อยากให้นอกจากเปิดโอกาสให้ข้าราชการชายแล้ว อยากจะให้เปิดโอกาสให้กับพนักงาน ลูกจ้าง บริษัทเอกชน หรือคนอื่นๆด้วย ที่ต้องทำงานและไม่สามารถใช้สิทธิประกันสังคมได้ ผู้ชายจะได้มีเวลามาดูแลผู้หญิงได้มากขึ้น
เช่นเดียวกับนางวันเพ็ญ สันตะจิตต์ อายุ 52 ปี ข้าราชการครู โรงเรียนวัดนิมมานนรดี ย่านบางแค ซึ่งก็เคยต้องอนอยู่ที่โรงพยาบาลคนเดียว รอสามีซึ่งเป็นอาจารย์สอนอาชีวะเลิกงานมาช่วยดูแลเมื่อครั้งคลอดลูกคนแรก โดยเธอขานรับมตินั้นทันที "เห็น ด้วย เพราะตอนท้องใกล้คลอด ถ้าอยู่คนเดียวผู้หญิงจะรู้สึกโดดเดี่ยว ต้องการกำลังใจอย่างมาก และยิ่งหลังคลอด ผู้หญิงก็ยังเจ็บจากบาดแผลคลอดลูก เดินเหินอะไรก็ลำบาก หยิบจับทำอะไรก็ไม่สะดวก ถ้ามีสามีมาคอยช่วยๆ กันก็จะดี ให้เขาได้มาดูแลเรา อย่างน้อยจะได้มารับรู้ว่า ผู้หญิงเมื่อเป็นแม่คนลำบากยังไง เหนื่อยยากแค่ไหน หลังคลอดเรามีอะไรต้องทำบ้าง ผู้ชายจะได้รู้ไว้" เสียงสะท้อนของคุณครู(เคยสาว) กับประสบการณ์การคลอดบุตร
มาฟังความเห็นของคุณครูผู้ชาย ที่ก็ต้องลางานไปเฝ้าภรรยาที่คลอดลูก เมื่อ 20 กว่าปีก่อนบ้าง นายสมบัติ วงศ์บุญมี อายุ 56 ปี ข้าราชการครูโรงเรียนแห่งหนึ่ง บอกด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า "ดี มากๆ เลย จะได้มีเวลามาดูแลภรรยาได้เต็มที่ เพราะแต่ก่อนนั้น ตอนภรรยาคลอดลูกคนแรก เวลาผมจะลาก็ต้องใช้สิทธิ์ลากิจ ซึ่งก็ได้แค่วันสองวัน ที่เหลือก็ต้องฝากญาติๆ ดูแลให้ การได้สิทธิ์ตรงนี้ ทำให้ภรรยามีกำลังใจขึ้นเยอะ ก็มองว่า ดีที่รัฐบาลเห็นความสำคัญของตรงนี้ ทำให้สามี เห็นใจและเข้าใจความเหน็ดเหนื่อยของภรรยามากขึ้น สมัยก่อนที่ภรรยาผมคลอดลูก ผมก็ได้แต่ใช้สิทธิลากิจ วัน หรือสองวัน ไปช่วยดูแลเท่านั้น"
คุณครูหนุ่ม ที่เพิ่งผ่านการเป็นคูณพ่อมือใหม่ไปไม่นาน อย่างนายเทวินทร์ พุ่มหมี อายุ 36 ปี ข้าราชการครูโรงเรียนประถมแห่งหนึ่ง ก็บอกว่า "ถ้าเป็นมติออกมาแบบนี้ และสามารถลาหยุดได้จริงๆ ก็จะดีมาก เพราะทุก วันนี้ สังคมไทยเรากลายเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น สามีแยกครอบครัวมาอยู่กับภรรยาตามลำพัง ไม่ได้อยู่กับญาติพี่อน้อง ปู่ย่าตายาย พอท้อง และรอคลอดเป็นช่วงที่ผู้หญิงต้องการการดูแลอย่างมาก เราเป็นสามีก็ควรที่จะมาช่วยเขาดูแล หยิบจับ อำนวยความสะดวก เตรียมข้าวของต่างๆ เพื่อเวลาเจ็บท้อง ต้องไปคลอดที่โรงพยาบาลได้ทันท่วงที อีกอย่าง ขณะคลอด เราก็สามารถอยู่ดูแล และเห็นภรรยาและลูกที่กำลังจะเกิดมาอย่างใกล้ชิด
ด้านดร.ประวิตร โหรา อายุ 48 ปี อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสิทร์ มองว่า การให้สิทธิข้าราชการชาย ใช้เวลาครั้งละ 15 วันในการดูลภรรยาคลอดบุตร เป็นเรื่องที่ดี ด้วยผู้หญิง หลังคลอดใหม่ๆ เขาจะยังสุขภาพร่างกายอ่อนแอ ไม่แข็งแรง การที่สามีมาดูลภรรยาเป็นกำลังใจที่ดี จะได้ช่วยฟูมฟัก ทนุถนอมซึ่งกันและกัน ซึงการใช้ชีวิตคู่ที่ดีนั้น เราต้องดูแลซึ่งกันและกัน และผมมองว่า สมัยนี้ค่านิยมของผู้ชายในการเป็นแฟมิลี่แมนขึ้นอยู่กับต้นแบบอย่าง ดารา นักร้อง หรือแม้กระทั่งบุคคลมีชื่อเสียงต่างๆ ด้วย ที่จะกระตุ้นต่อมสำนึก เพราะฉะนั้นสิ่งที่รัฐบาลเปิดช่องนี้เป็นเรื่องที่จะช่วยสานสัมพันธ์คนใน ครอบครัวได้อย่างดี เพราะหน้าที่หลักสำคัญคือ ผู้ชายควรที่จะดูแลเทคแคร์ผู้หญิง
ส่วนอาจารย์อีกหนึ่งท่าน นายภัทรพล สุวรรณโฉม อายุ 39 ปี รองคณบดี คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่เห็นด้วย เพราะผู้ชายต้องคอยให้กำลังใจภรรยา การได้สิทธิหยุด 15 วัน เราจะได้มาช่วยฝ่ายหญิงทำนู่นนี่ เพราะผู้หญิงอาจหยิบจับไม่สะดวก เนื่องจากหลังคลอดใหม่ๆ ยังอยู่ในระยะพักฟื้น อีกด้านหนึ่งก็เป็นการเสริม สร้างความสัมพันธ์ให้แนบแน่นผูกพันกันขึ้นระหว่างสามีและภรรยา ผู้ชายเราจะได้รู้สึกบ้างว่า ผู้หญิงเขาต้องการอะไร ทำอะไร ลำบากแค่ไหน
มาถึงว่าที่คุณพ่อ อีกหนึ่งคน จ.อ.ชาติชาย ดีดิษฐ์ พลประจำปืน กองพันต่อสู้อากาศยาน ที่ 12 กรม สอ.1 อายุ 32 ปี ซึ่งกำลังพาภรรยาที่ท้องแก่ใกล้คอลดมาตรวจเช็คสุขภาพ ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งย่านสมุทรปราการ ที่เพิ่งทราบข่าว ก็ออกอาการดีใจ ยิ้มรับมติดังกล่าว เขายิ้มตาหยี พร้อมกล่าว "ดี ๆครับไปถามคนอื่นก็ต้องบอกว่าดี อย่างทหารนี่ เขาก็มีวันหยุดลาพักร้อนให้ประจำปีอยู่แล้ว และพอยิ่งทางราชการมีมติให้สามารถลาได้เพิ่มอีกเมื่อภรรยาคลอดบุตรจะยิ่งดี ใหญ่เราจะได้ช่วยดูแลเขาและลูก ซึ่งถ้ามติสามารถบังคับใช้ได้ทันที ผมก็จะใช้สิทธิ์นี้ลาหยุดเพื่อดูแลภรรยาที่ใกล้คลอดในเดือนสองเดือนนี้เต็ม ที่ครับ"
ฟาก พ.จ.อ.ประดิษฐ์ ศรีษะนาราช อายุ 32 ปี ช่างสรรพาวุธ กองพันต่อสู้อากาศยาน ที่ 12 อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี คุณพ่อท.ทหารอดทน ที่ดูแลลูกเล็กๆ 3 คน ได้เป็นอย่างดี ให้ความเห็นว่า ปกติข้าราชการก็ไม่เคยได้สิทธิตรงนี้ มีแต่ให้ลาพักร้อน กับวันหยุดเพื่อให้กลับไปเจอลุกเมีย แค่ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ พอมีมติอย่างนี้มาดีเยี่ยมเลย ก่อนหน้านี้ ก็เคยมีลูกน้องมาถามๆ เหมือนกันว่า ทำไมไม่มีการให้สิทธิไปช่วยเหลือภรรยาในการคลอดลูกบ้าง ทำได้แต่ใช้การลากิจไปเรื่อยๆ พอมาตอนนี้ดีเลย ผู้ชายเราจะได้ดูแลภรรยาให้มากขึ้น แบ่งเบาภาระดูแลลูกที่เกิดใหม่ๆ ได้มากขึ้น
มาฟัง คุณพ่อที่ไม่ได้เป็นข้าราชการกันบ้าง นายประสิทธิ์ วงศ์ประเสริฐ โชเฟอร์แท็กซี่,ลูกจ้างบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง "ถ้า ได้สิทธิอย่างนี้นะ ภรรยาปลื้มเลย เพราะถ้าเราลาหยุดได้ ก็เป็นหนึ่งอีกกำลังใจให้เขา ซึ่งตรงนี้มองว่า สำหรับลูกจ้างธรรมดาๆ ก็น่าจะมีการได้สิทธิตรงนี้ด้วย แต่ไม่รู้ว่า ถ้าลาได้จะโดนหักเงินหรือเปล่า ถ้าไม่หักก็ดีเลย ถ้าไปถามใครก็ว่าดีหมดล่ะผมว่า ลาเป็นเดือนได้ยิ่งดี จะได้ดูภรรยาเต็มที่ ทุกวันนี้ก็ทำงานเพื่อเมียอยู่แล้ว หยุดเพื่อมาดูแลเมียแค่นี้ทำไมจะทำไม่ได้ แต่ตอนนี้เขากำหนดให้แค่ข้าราชการชาย ซึ่งผมก็อยากให้คนธรรมดาหาเช้ากินค่ำทั่วไปได้สิทธินั้นด้วย"
ปิดท้ายที่นายนิแอ สามะอาลี อายุ 37 ปี เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์จังหวัดยะลา คุณพ่อลูก 3เช่นกัน สนับสนุนมติดังกล่าวนี้ และเห็นด้วยถ้าจะมีการนำไปใช้ครอบคลุมในทุกสาขาอาชีพที่ต้องทำงานรับเงิน เดือนจากบริษัท หรือหน่วยงานต่างๆ โดยในฐานะ ที่ตนอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยแล้ว มันดีจริงกับตรงนี้ ซึ่งสอดคล้องกับหลักของศาสนาอิสลาม ที่มีกฎบัญญัติไว้ว่า ผู้ชายต้องคอยดูแล ช่วยเหลือ ทำงานบ้าน เลี้ยงดูภรรยาและลูก เราจะได้รู้ว่า ผู้หญิงเขาทำงานหนักแค่ไหน แฟนผมเป็นพยาบาล ตอนคลอดลูกผมก็ช่วยเขาดูแลทุกอย่าง กระทั่งเขาเริ่มมีเรี่ยวแรงหลังพักฟื้นไปทำงาน ผมก็เป็นคนคอยจัดการทุกอย่างในบ้าน เราก็ช่วยๆ กัน ผู้ชายเราก็รู้ว่า งานทุกอย่างในบ้าน กระทั่งการดูแลลูกมันหนักนะ เป็นหน้าที่ของผู้ชาย ไม่ใช่ผู้หญิง เป็นหน้าที่ของคนที่เป็นสามีที่พึงกระทำอย่างมาก
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)