ใกล้ปีใหม่แล้วฉลาดซื้อ เตือน !!! ระวังสารพิษปนเปื้อนในกระเช้าผลไม้ ส้มและสาลี่นำโด่งด้วยสารเคมีปนเปื้อนมากถึงร้อยละ 60 นิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับที่ 118 เดือนธันวาคม 2553 และโครงการพัฒนากลไกการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภค ได้ซื้อผลไม้สดที่จำหน่ายในประเทศ ได้แก่ ส้ม ส้มจีน แอ๊ปเปิ้ล สาลี่ ลูกพลับ มาทดสอบเพื่อหาการปนเปื้อนของสารเคมีทางการเกษตร 4 ประเภทประกอบด้วย ยากันรา-คาร์เบนดาซิม ยาฆ่าแมลงกลุ่มไพรีทอยด์ (สารเลียนแบบโครงสร้างโมเลกุลจากสาร Pyrethrins ที่สกัดได้จากดอกไม้พวกดอกเบญจมาศ) กลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต (สารอินทรีย์ที่มีฟอสฟอรัสเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ) และกลุ่มคาร์บาเมต (สารอินทรีย์ที่มีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ) ในพื้นที่ดำเนินงานทั้ง 8 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ สมุทรสงคราม ขอนแก่น มหาสารคาม เชียงใหม่ พะเยา สงขลา และสตูล โดยเก็บตัวอย่างทั้งสิ้น 4 ครั้ง ครั้งละ 2-3 ชนิด แบ่งเป็น 2 ครั้งในปี 52 คือเดือนกันยายนและเดือนพฤศจิกายน 2552 และอีก 2 ครั้งในปี 53 คือเดือนมกราคมและเดือนมีนาคม 2553 มีผลการทดสอบการปนเปื้อนของสารเคมีตกค้างทางการเกษตรในผลไม้แต่ละชนิดดังนี้
ส้ม ผลการทดสอบพบว่า ส้มมีความเสี่ยงในภาพรวมต่อการพบสารเคมีตกค้างอยู่ในระดับค่อนข้างสูง (ประมาณร้อยละ 60) และมีความเสี่ยงค่อนข้างสูงที่จะได้รับอันตรายจากสารเคมีแต่ละชนิดที่ตกค้างโดยเฉพาะ โพรฟิโนฟอสในกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต จึงขอแนะนำให้หลีกเลี่ยงการบริโภคติดต่อกันเป็นประจำในปริมาณมาก (เกินครึ่งกิโลกรัมต่อวัน)
ส้มจีน มีความเสี่ยงต่อการพบสารเคมีทางการเกษตรตกค้างอยู่ในระดับน้อยถึงปานกลาง (ร้อยละ 35 – 50) และมีความเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจากการได้รับสารเคมีตกค้างเข้าสู่ร่างกายอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างปลอดภัย (ปริมาณที่พบส่วนใหญ่อยู่ในระดับต่ำกว่า 0.1 มก./กก.) แต่ไม่ควรบริโภคติดต่อกันเป็นประจำ
แอ็ปเปิ้ล มีความเสี่ยงต่อการพบสารเคมีตกค้างอยู่ในระดับน้อยถึงเกือบปานกลาง และมีความเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจากสารเคมีในระดับต่ำยกเว้นสารเคมีกลุ่มไพรีทอยด์บางชนิด คำแนะนำในการบริโภค ควรปอกเปลือกและล้างทำความสะอาดก่อนการบริโภคเพื่อลดความเสี่ยงจากสารเคมีตกค้างให้อยู่ในระดับต่ำที่สุด
ลูกพลับ มีความเสี่ยงสูงต่อการพบยากันรา-คาร์เบนดาซิม และมีความเสี่ยงปานกลางต่อการพบยาฆ่าแมลงกลุ่มไพรีทอยด์ตกค้าง สำหรับความเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจากสารเคมีเมื่อบริโภคอยู่ในระดับต่ำถึงค่อนข้างต่ำ คำแนะนำในการบริโภค ควรปอกเปลือกและล้างทำความสะอาดก่อนการบริโภค
สาลี่ มีความเสี่ยงต่อการพบสารพิษตกค้างสูง และมีความเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจากสารพิษตกค้างอยู่ในระดับเดียวกับส้ม โดยเฉพาะในกลุ่มไพรีทอยด์ คำแนะนำในการบริโภคให้ปอกเปลือกและล้างทำความสะอาดทุกครั้งก่อนการบริโภคและหลีกเลี่ยงการบริโภคติดต่อกันเป็นประจำในปริมาณมาก
แม้กระเช้าผลไม้จะเป็นของขวัญของฝากที่ได้ชื่อว่าเป็นของดีต่อสุขภาพ แต่กระบวนการผลิตปัจจุบันอาจมีการแอบแฝงเข้ามาของสารเคมีกลุ่มยาฆ่าแมลงที่เหลือตกค้างอยู่ไม่น้อยเช่นกัน ดังนั้นก่อนรับประทานก็ต้องเลือกให้ดี และล้างให้สะอาด ถ้า ปีใหม่นี้จะได้แฮปปี้กันทั้งผู้ให้และผู้รับ
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)