เครือข่ายเกษตรกรอีสาน แฉ พิษ FTA ทำ “กระเทียม-ลำไย-โคเนื้อ-โคนม” ใกล้สูญพันธุ์ หลังสินค้านอกทะลักเข้าประเทศ ไร้การตรวจสอบ เศร้า “แคบหมู” ของฝากชื่อดังเชียงใหม่ ยังต้องอิมพอร์ตจากนิวซีแลนด์ “สถาบันวิจัยสังคม” อัดรัฐบาลไม่จริงใจเมินคำเตือนภาคปประชาชน หวั่นปัญหาลามเรื่อง “อาหาร-วัฒนธรรม-พันธุ์พืช-ยา” แนะวางกรอบป้องกันและเยียวยาให้ชัดเจน
วันนี้ (19 ธ.ค.) ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม กล่าวถึงการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 หัวข้อ “ร่วมฝ่าวิกฤตความไม่เป็นธรรม นำสังคมสู่สุขภาวะ” ที่จัดระหว่างวันที่ 15-17 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพฯ เห็นชอบให้บรรจุวาระ “การป้องกันผลกระทบต่อสุขภาวะจากการค้าเสรีระหว่างประเทศ” เป็นวาระเร่งด่วน ซึ่งการกำหนดวาระประชุมนี้ได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2553 ข้อ 7.1 วรรค (4) โดยขอให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ร่วมพิจารณาร่างมติ และขณะนี้ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติได้รับเรื่องเพื่อนำไปพิจารณาแล้ว ว่าตนเป็นนึ่งในผู้ที่เข้าร่วมประชุม ซึ่งมีความเห็นว่า หากการค้าทวิภาคี หรือการค้าฝ่ายเดียวเกิดขึ้นก็ไม่ต่างกับการถูกบีบบังคับ ซึ่งภาคประชาชนกังวลกับการเจรจาการค้าเสรี เพราะผลกระทบไม่ใช่เพียงเรื่องสุขภาพแต่รวมถึงความมั่นคงทางอาหาร ศิลปวัฒนธรรม ความหลากหลายทางชีวภาพ พันธุ์พืช สิทธิบัตรต่างๆ การเข้าถึงยา การทำการเกษตร สุขภาพสิ่งแวดล้อม จึงต้องมีการศึกษาผลกระทบให้รอบด้านก่อนนำไปสู่การวางกรอบเพื่อเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนทั้งประเทศ จึงต้องดำเนินการโดยมีกระบวนการป้องกันและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบตามเกณฑ์มาตรฐานที่คณะกรรมการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติตั้งไว้ โดยเฉพาะผลกระทบด้านสุขภาวะและด้านสังคม นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหาทางปฏิรูปกองทุนเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างถูกต้องด้วย
“รัฐบาลต้องทำการค้าเสรีอย่างโปร่งใส ตามขั้นตอน คำนึงถึงผลกระทบไม่น้อยไปกว่าผลประโยชน์ทางธุรกิจ และประชาชนต้องมีส่วนในการรับรู้ และวันนี้เป็นการรวมกลุ่มของสมาชิกภาคีสุขภาพจำนวนมาก หากภาคีสุขภาพยอมนิ่งดูดายคงมีปัญหาเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เป็นเรื่องที่เศร้าใจเพราะที่ผ่านมามีการเปิดรับฟังปัญหาของการเจรจาการค้าเสรีจากภาคประชาชนแล้วแต่รัฐบาลกลับไม่นำไปใช้หรือไปพิจารณา แสดงให้เห็นว่า หน่วยงานที่ดำเนินการไม่มีความจริงใจในการใช้ ข้อมูลของภาคประชาชน กลับไปหาข้อสรุปใหม่ เป็นสิ่งที่ภาคประชาชนรับไม่ได้ เพราะเราต้องการความชัดเจนว่ามีการดำเนินการอะไร ต้องไม่ไปแอบทำแบบ หลบๆซ่อนๆ” ผอ.สถาบันวิจัยสังคม กล่าว
นายอุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน กล่าวว่า เป้าหมายหลักของการเจรจาการค้าเสรี คือ การขยายสินค้าที่มีทั้งคนได้ประโยชน์และผู้ที่ได้รับผลกระทบ หากดูจากการเจรจาการค้าเสรีที่ผ่านมา อาทิ การเจรจาการค้าเสรีกับประเทศจีนในเรื่องสินค้าเกษตรอย่างกระเทียมที่มีการนำเข้าจากจีน ทำให้เกษตรกรที่ปลูกกระเทียมพื้นที่หลักในภาคเหนือของไทยต้องล้มละลายและต้องไปประกอบอาชีพใหม่จำนวนมาก และรัฐบาลบอกว่าจะเยียวยาไร่ละ 2,000 บาท เพราะยอมรับว่ากระเทียมไทยสู้จีนไม่ได้ และมีราคาเดียวกับกระเทียมไทย คือ กิโลกรัมละ 60 บาท แสดงให้เห็นว่า เกษตรกรของไทยถูกทำให้ออกจากระบบการเจรจาการค้าเสรีอย่างชัดเจน นอกจากนี้จีนยังมีการเข้ามาค้าขายเอง อาทิ การตั้งโรงงานขนาดใหญ่เพื่อรับซื้อลำไย ทำให้เกิดการกีดกันพ่อค้าคนกลางของไทย จึงต้องตกอยู่ในสภาพที่ต้องไปรับสินค้ามาขายส่งให้กับคนจีนเท่านั้น ทำให้เห็นโครงสร้างการค้าที่เปลี่ยนไปและผลประโยชน์ก็ตกอยู่กับทุนต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจ เพราะลำไยที่คนไทยรับประทานก็เป็นลำไยที่มาจากจีน
นายอุบล กล่าวต่อว่า ในส่วนของเกษตรกรที่เลี้ยงโคเนื้อและโคนม แม้รัฐบาลให้เงินกู้ดอกเบี้ยตำก็ไม่สามารถเยี่ยวยาได้ เพราะจะทำให้เกษตรกรหลุดไปจากอาชีพนี้ ในที่สุดประเทศไทยอาจยากที่จะมีการเลี้ยงวัวนม เพราะสู้ต่างประเทศไม่ได้ โดยเฉพาะออสเตรเลีย และ นิวซีแลนด์ ซึ่งประเทศเหล่านี้ใช้วิธีอุดหนุนการผลิต แต่ไทยใช้วิธีตั้งกำแพงภาษีป้องกันการผลิตภายใน จึงไม่สามารถสู้กับต่างประเทศ ที่ใช้วิธีการส่งออกราคาถูก อีกทั้งในส่วนของ “เครื่องใน” ที่ต่างประเทศไม่นิยมรับประทาน กระทั่ง “แคบหมู” ซึ่งเป็นอาหารที่นิยมของทางภาคเหนือ โดยเฉพาะ จ.เชียงใหม่ คนที่ไปเที่ยวจะซื้อเป็นของฝาก ซึ่งคนไทยยังไม่รู้ว่า เรานำเข้าจากนิวซีแลนด์ ส่วนเครื่องในหมูนำเข้าจากเกาหลีใต้ เครื่องในวัวจากเดนมาร์ก
“ผมมีความเป็นห่วงเพราะมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยในการบริโภคเป็น เนื่องจากระบบตรวจสอบความปลอดภัยของไทยยังไม่มีประสิทธิภาพ และยังมีความหละหลวมไม่เข้มงวด ตรงข้ามกับประเทศอื่น เพราะเวลาเรานำสินค้าส่งออกกลับมีการตรวจอย่างรอบครอบ แต่สินค้าในประเทศกับมีสารพิษตกค้างจำนวนมากไม่มีการตรวจสอบ นอกจากนี้ ราคาที่นำเข้ายังส่งผลกระทบต่อระบบภายในประเทศ เพราะส่งผลกับราคาของปศุสัตว์ อาทิ ทำให้ราคาวัวต่ำลง และลักษณะการค้าเสรีแบบนี้จะเกิดขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก และสินค้าที่รัฐบาลบอกเสมอว่าจะได้ประโยชน์จากการค้าเสรี แต่ท้ายที่สุดไม่ได้สวยหรู เพราะเราไม่สามารถนำสินค้าบางอย่างเข้าไปขายที่ประต่างประเทศได้ เช่น ผลไม้ไม่สามารถนำขึ้นเรือส่งไปที่จีนได้ เพราะเขาให้เหตุผลว่ามีสารพิษตกค้าง นอกจากนี้ยังมีระบบมาเฟีย ในจีนที่ไม่ยอมให้นำสินค้าเข้าไปด้วย” นายอุบล กล่าว
นายอุบล กล่าวด้วยว่า ส่วนเรื่องการครอบครองพันธุ์พืชก็เป็นการครอบครองตลาดด้วยการทำสิทธิบัตร เมื่อต่างประเทศได้สิทธิบัตรทางพันธุ์พืชเขาก็ใช้ควบคู่กับการตลาด ที่เสนอพันธุ์พืชเหล่านี้ให้เกษตรกรปลูก ควบคู่ไปกับการรับซื้อด้วยแรงจูงใจ เมื่อเกษตรกรหันมาใช้พันธุ์พืชที่มีสิทธิบัตร ภาย 3-4 ปี ก็ทำให้เกษตรละทิ้งพันธุ์พืชของตัวเอง และพันธุ์พืชเดิมของเกษตรกรก็หายไป ในที่สุดเกษตรกรก็จะพึ่งพิงพันธุ์พืชที่มีสิทธิบัตรเหล่านี้ ซึ่งต่อไปจะเป็นฐานทำลายความหลากหลายทางชีวภาพเพราะการบริโภคถูกชี้นำ อย่างเช่นทุเรียนที่ผู้บริโภครู้จักแค่หมอนทอง กับ ชะนี ทั้งที่ทุเรียนมีมากกว่า 200 สายพันธุ์
“รัฐบาลควรศึกษาผลกระทบที่ผ่านมาที่เกิดจากการทำการค้าเสรี ทั้ง จีน นิวซีแลนด์ ว่า เราได้อะไร-เสียอะไร เพราะผลประโยชน์ไม่เคยตกอยู่กับชาวบ้าน ทั้งที่ควรไปเจรจาเสรีในนามอาเซียนด้วยซ้ำ เพราะอาเซียนไม่ควรอ่อนแอยอมเป็นเบี้ยล่าง เช่น ไทยและเวียดนาม มีสินค้าที่คล้ายกัน คือ ปลาทูน่ากระป๋อง ข้าว ควรไปเจราร่วมกัน แต่ต่างคนต่างเจรจา สุดท้ายก็กลายเป็นการแทงข้างหลังกัน อันนี้คือความอ่อนแอของอาเซียนที่น่าเวทนา” เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน กล่าว
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)